เผยแพร่ |
---|
ปลัด มท. และนายกสมาคมแม่บ้าน มท. แถลงข่าวการแสดงโขนพระราชทาน จ.ตราด ตอน “หนุมานชาญกำแหง” เชิญชวนประชาชนชาวตราด และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมรับชมในวันที่ 24-25 ส.ค. 67 เวลา 1 ทุ่มตรง ณ หอประชุม อบจ.ตราด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
วันนี้ (30 ก.ค. 67) เวลา 17.30 น. ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าศาลากลางจังหวัดตราด อ.เมืองตราด จ.ตราด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดตราด ประจำปี 2567 ตอน “หนุมานชาญกำแหง” แสดงโดยคณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง โดยมี นายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายพีระ เอี่ยมสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ดร.วิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 7 อำเภอ นายสุรศักดิ์ อิงประสาร ประธานบริหารบริษัท เพชรสยามศิลา จำกัด (ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน) ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และสื่อมวลชน ร่วมในงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตนในฐานะเลือดเนื้อเชื้อไขชาวแหลมงอบ จังหวัดตราด รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยในพื้นที่จังหวัดตราดและจังหวัดภาคกลาง ในครั้งนี้ ซึ่งประชาชนชาวจังหวัดตราดได้รับโอกาสที่ดีของชีวิตเสมอมา ด้วยเพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นับเนื่องแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “เสด็จพ่อ ร.5” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงไม่เคยทอดทิ้งคนตราด ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2450 ที่ทรงแล่นเรือมายังเมืองตราดภายหลังกลับจากประพาสยุโรปโดยทันที และทรงมีพระราชดำรัสในการเสด็จประพาสเมืองตราดครั้งนั้นอันเป็นครั้งสุดท้ายในรัชสมัย ความว่า “ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่าเราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตร จึงรีบมาหานั้นเป็นความคิดอันถูกต้องแท้ ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอไปในเบื้องหน้า ดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ว่า เราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีความทุกข์…”
“ในด้านการส่งเสริมสนับสนุนศิลปการแสดงของชาติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้ให้ความสำคัญและพระราชทานกำเนิด “โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง” ที่เป็นโรงมหรสพที่มีที่นั่ง มีฉาก มีเครื่องเสียง เป็นโรงละครที่มีมาตรฐานเทียบเท่านานาประเทศ กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ได้จัดการแสดงโขนเพื่อเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์และศิลปวัฒนธรรมการแสดงชั้นสูงสู่สายตานักท่องเที่ยวต่างประเทศ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปี ทรงสนองพระราชดำริ ด้วยการขยายผลและพระราชทานพระราชเสาวนีย์ให้โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีการจัดแสดงโขนพระราชทานทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีหลวง เพื่อที่จะให้การแสดงโขนเป็นสิ่งที่จะแสดงออกซึ่งภูมิปัญญาของชาติไทย สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาไทย เป็นศิลปการแสดงชั้นสูงของชาติ ซึ่งในยุคหนึ่งกำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย กลับฟื้นคืนได้มีพื้นที่มาแสดง ได้มีโอกาสมาเล่นให้คนในภูมิภาคได้ชม และเป็นพระราชดำริสำคัญที่หนุนเสริมทำให้ “โขน” ศิลปการแสดงชั้นสูงของไทยได้รับการประกาศรับรองจาก UNESCO ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งในการแสดงโขนพระราชทานในส่วนภูมิภาคนั้น คณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง จากสัญจรไปอย่างน้อยปีละ 3-4 ครั้ง ทำให้เกิดสิ่งที่ดีต่อประชาชนและประเทศชาติ ได้แก่ 1) โขนเป็นการเผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย ที่แสดงให้เห็นในเรื่องภาษา การแต่งกาย การแสดง อาหารการกิน วิถีชีวิต สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ ความมั่นคง ความเป็นปึกแผ่นของคนไทย 2) โขนมิใช่เป็นเพียงเรื่องการแสดง แต่ยังมีเสน่ห์ในเรื่องของภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้ง มีบทร้อยกรองที่กินใจและอ่อนหวาน ควบคู่กับดนตรีไทย ทั้งระนาด กลอง ฉิ่ง ฉาบ โทน ฯลฯ รวมทั้งเสื้อผ้า-เครื่องแต่งกาย ทั้งเครื่องพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ และศิราภรณ์ ที่มีความวิจิตรบรรจง ทั้งเครื่องทอง สังวาลย์ ผ้านุ่ง 3) โขนมีคติเตือนใจ สอนให้คนมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้คนมีความเชื่อมั่นว่า “ความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด, ธรรมะจะชนะอธรรม” คนที่ปฏิบัติราชการด้วยความจงรักภักดี ด้วยซื่อสัตย์สุจริตจะประสบความสำเร็จ ดังเช่นหนุมานชาญกำแหง ที่ไม่เคยลืมจะทำหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ ด้วยการเพียรพยายามทำกระทั่งภารกิจราชการสำเร็จ และทำให้เกิดคติสอนใจ ทำให้คนที่ได้มาดื่มดำชื่นชมได้รับการอบรมบ่มเพาะจิตใจตนเองให้กลายเป็นคนดี 4) โขนยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ผ่านท่ารำ ท่าเต้น และทำให้เด็กเกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความชื่นชม ชื่นชอบ และรักในการแสดง และ 5) การจัดการแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้จะส่งเสริมให้เกิดสิ่งที่ดีต่อจังหวัดตราด เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมสินค้าผลิตภัณฑ์ของจังหวัดตราดให้มีชื่อเสียงเพิ่มพูนมากขึ้น
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า พี่น้องประชาชนในพื้นที่ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดตราด สามารถจองที่นั่งผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือแจ้งความประสงค์ผ่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่หากได้จองแล้วขอให้เดินทางมาชมจริง เพื่อจะได้ ไม่เสียโอกาสของพี่น้องชาวตราดท่านอื่น และขอให้พวกเราได้ภาคภูมิใจว่า พวกเราคุ้มค่าที่เกิดมาเป็นคนไทย เพราะจะได้มีโอกาสรับชมการแสดงโขนพระราชทานที่สนุกสนาน สวยงาม ตื่นเต้นเร้าใจ นอกจากนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้ขอความร่วมมือส่วนราชการด้านการจัดการศึกษา ทั้งผู้บริหาร อปท. ผู้อำนวยการ สพม. สพป. ผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียน ให้ลูกหลานในพื้นที่จังหวัดตราด ได้เรียนรู้เรื่องรามเกียรติ์ ด้วยการจัดการแข่งขันแต่งบทประพันธ์ บทกลอน วาดภาพ ทั้งหนุมานและตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ และนำผลงานไปจัดการแสดงในวันที่จัดแสดง เพื่อร่วมกันสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสานงานวรรณกรรม ร้อยกรอง ร้อยแก้ว สะท้อนความรักในงานศิลปะและวัฒนธรรมของไทยที่มีเต็มเปี่ยมในหัวใจของเด็กและเยาวชน และภายหลังจากเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ตนจะเปิดโรงเรียนสอนดนตรีไทย ที่บ้านย่านท่าเสด็จ ชุมชนบางพระ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด รวมถึงร่วมกับพี่น้องชาวจังหวัดตราดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีในฐานะพสกนิกรที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดไป
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า การจัดการแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดตราด ตอน หนุมานชาญกำแหง เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงชั้นสูงของชาติ เพื่อทำให้เกิดแรงบันดาลใจ ทำให้เด็กอยากที่จะสืบสาน รักษาศิลปวัฒนธรรมไทยแขนงต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการแสดงโขนทั้งเรื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย ท่วงท่าร่ายรำให้คงอยู่ จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดตราด ได้ช่วยกันสื่อสารถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มาจากน้ำพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ ที่พระองค์ทรงปรารถนาให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการพระราชทานพระมหากรุณาสิ่งที่ดีของประเทศชาติมาให้พี่น้องชาวจังหวัดตราดและชาวจังหวัดใกล้เคียงได้ชื่นชมและสัมผัสกับความจริงที่ว่า “”โขน” เป็นนาฏศิลป์ไทย ที่เป็นทั้ง King และ Queen ของการแสดงของไทย” ที่ครั้งหนึ่งของชีวิต เราต้องมารับชม และพาลูกหลานมารับชมให้มากที่สุด ในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 เวลา 19.00 น. ที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด
นายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาให้กับชาวจังหวัดตราด ได้รับชมการแสดงโขนพระราชทาน ซึ่งถือเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงที่หาชมได้ยาก โดยนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด และพวกเราผู้เป็นข้าราชการชาวจังหวัดตราดในฐานะตัวแทนประชาชนคนตราดรู้สึกตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยทุกคน โดยทางจังหวัดตราดได้แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ทั้งได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการเป็นระยะ และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจากท่านผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และท่านกรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ได้ติดตามความพร้อมแล้วตรวจเยี่ยมสถานที่การจัดการแสดง และขอให้ความมั่นใจว่าทางจังหวัดตราดจะได้บูรณาการทุกภาคีเครือข่ายทำให้การจัดการแสดงโขนพระราชทาน ตอน หนุมานชาญกำแหง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24-25 สิงหาคม 2567 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน
นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง กล่าวว่า การสัญจรมาต่างจังหวัดในห้วงที่ผ่านมาทั้ง 25 จังหวัด เราสามารถทำได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มาเป็นผู้สนับสนุน ส่งผลให้เราทำงานได้อย่างต่อเนื่อง จริงจัง และมีความสุข โดยโขนพระราชทานในประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1) โขนโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เล่นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง วันละประมาณ 2,000 คน ซึ่งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จบรมราชชนนีหลวง เพื่อที่จะเป็นหน้าต่างของประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย 2) โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปีละ 1 ครั้ง และ 3) โขนที่ไปสัญจรตามจังหวัดต่าง ๆ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนค่ายานพาหนะ การดูแลนักแสดง และอุปกรณ์ในการเดินทางไปในแต่ละจังหวัด โดยทรงรับสั่งว่า “ทุกที่ที่ไปชุดต้องใหม่และสวย” และในส่วนของสถานที่พัก สถานที่จัดแสดง และอาหาร ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และภาคีเครือข่าย
“คณะนักแสดงโขนโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงมาด้วยความตั้งใจ เราจะทำให้โขนพระราชทานที่มาแสดงที่จังหวัดตราด เป็นการแสดงที่ดีที่สุด เพราะตลอด 25 จังหวัดที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเล่นใน Hall เป็นการเล่นกลางแจ้ง แต่การแสดงครั้งนี้ แม้ว่าที่นั่งใน Hall จะจำกัดเพียง 2,300 ที่ เราจะมีการถ่ายทอดไปยังที่นั่งด้านนอก Hall ด้วย ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนได้เร่งในการเดินทางมารับชม เพราะถ้าใครเดินทางมาก่อนก็จะมีที่นั่งในหอประชุม ขอให้ทุกท่านได้ภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งได้มีโขนพระราชทานจัดแสดงขึ้นที่จังหวัดตราดเป็นจังหวัดที่ 26 นับแต่มีการพระราชทานพระมหากรุณา
ดร.วิเชียร ทรัพย์เจริญ นายก อบจ.ตราด กล่าวว่า อบจ.ตราด พร้อมให้การสนับสนุนการจัดการแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง เพราะเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานให้กับคนตราด ดังนั้น เราคนตราดทุกคนมีความรักบ้านรักเมือง และพี่น้องประชาชนก็อยากมาชมด้วยความเต็มใจ