ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดตราด

ปลัดมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดตราด เน้นย้ำ บูรณาการทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมนำผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) บริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อความยั่งยืน

วันนี้ (30 ก.ค. 67) เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังและมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดตราด โดยมี นายณรงค์ เทพเสนา นายพีระ เอี่ยมสุนทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายเจริญ รัตนบรรณสกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด นายพงษ์พัฑฒ์ สินราย นายอำเภอเขาสมิง นายเกรียงไกร ปัญญาพงศธร นายอำเภอเมืองตราด นายสหชาติ ลิ้มเจริญภักดี ประธานมูลนิธิเพชรเกษม คณะทำงานเพจอีจัน หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดตราด ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดตราดในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยและเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเบื้องต้น และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจนเป็นปกติ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ได้มอบหมายให้ท้องถิ่นจังหวัดตราด และโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตราด บูรณาการร่วมกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ผังลุ่มน้ำชุมชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สำรวจตามผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) เพื่อบูรณาการร่วมกันในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานชลประทาน ผู้นำท้องที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย รวมถึงการวางระบบเตือนภัยก่อนการเกิดภัยพิบัติ โดยสิ่งสำคัญของการบริหารจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้ คือ การทำให้พื้นที่มีจุดพักน้ำ หรือหลุมขนมครก ด้วยการขุดและทำฝาย เพื่อให้มีพื้นที่สามารถกักเก็บน้ำได้ ควบคู่กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่า เพราะต้นไม้เปรียบเสมือนธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดที่สามารถกักเก็บมวลน้ำได้มาก อันจะช่วยบรรเทาการเกิดอุทกภัยและภัยพิบัติ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า หากเราสามารถกักเก็บน้ำในพื้นที่ชุมชนได้ นอกจากจะทำให้สถานการณ์อุทกภัยลดความรุนแรงลง ยังจะทำให้ประชาชนมีน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำ คือ ต้องพูดคุยปรึกษาหารือกัน มีการบูรณาการก่อนที่น้ำจะเต็มปริมาณที่กักเก็บได้ ต้องมีการผันน้ำออกโดยไม่ต้องรอให้เต็ม โดยระดมเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เดือดร้อนโดยเร็ว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และทุกภาคส่วนที่มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือพวกเรา ทั้งคุณสหชาติ ลิ้มเจริญภักดี ประธานมูลนิธิเพชรเกษม ที่ยกครัวมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวตราดอย่างทันทีทันใด ทำให้ได้เห็นน้ำใจของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ รวมถึงน้ำใจของคนในพื้นที่จังหวัดตราดมากมาย นำโดยสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดตราด สมาคมชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเขาสมิง พ่อค้า คหบดีต่าง ๆ ที่คอยให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้จังหวัดตราดและทุกอำเภอ ระดมสรรพกำลัง หน่วยแพทย์อาสา อสม. หน่วยสาธารณสุข เร่งลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและดูแลสุขภาพพลานามัยของประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บที่จะกระทบกับการใช้ชีวิต ในส่วนของระบบการสื่อสารของผู้นำชุมชน ต้องมีระบบและสามารถใช้การได้ตลอด 24 ชม. เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน ควบคู่การสร้างการรับรู้ของประชาชนให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอ ช่วยกกำกับ ติดตาม ระบบการเตือนภัยพิบัติ หากเกิด น้ำป่า ดินสไลด์ ต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างทันท่วงที รวมถึงให้ท้องถิ่นจังหวัด โยธาธิการผังเมืองจังหวัด กำกับควบคุมดูแลมาตรฐานการถมดินบริเวณท่อระบายน้ำ ร่องทางระบายน้ำริมถนน อย่างเข้มงวด

นายณรงค์ เทพเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักกระจายทั่วทั้งจังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 25 -28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณความจุของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 7 แห่งของจังหวัดตราดเต็มความจุเกินร้อยละ 100 จึงจำเป็นต้องมีการระบายน้ำออก แต่เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุน ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่รวมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้การระบายน้ำมีอุปสรรคเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่งผลกระทบทำให้มีพื้นที่ความเสียหายจากอุทกภัยใน 3 อำเภอ ได้แก่ 1) อำเภอเมืองตราด จำนวน 5 ตำบล 28 หมู่บ้าน 2) อำเภอบ่อไร่ จำนวน 5 ตำบล 15หมู่บ้าน และ 3) อำเภอเขาสมิง จำนวน 7 ตำบล 57 หมู่บ้าน ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันของอำเภอเมืองตราดและอำเภอบ่อไร่มีสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่มวลน้ำยังไหลมาสู่อำเภอเขาสมิง โดยเฉพาะตำบลเขาสมิงเองที่เป็นจุดรับน้ำ จำนวน 9 หมู่บ้านได้รับผลกระทบกว่า 200 ครัวเรือน รวม 450 คน สำหรับเส้นทางการคมนาคมในพื้นที่น้ำลดลงแล้ว ยังเหลือบางแห่งที่ยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ซึ่งทั้ง 3 อำเภอได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการของอำเภอและท้องถิ่นแล้ว โดยมีนายอำเภอและนายกเทศมนตรี เป็นผู้บัญชาการ ร่วมมือกับมูลนิธิและอาสาสมัครในการช่วยแจกของอุปโภคบริโภค ในส่วนพื้นที่การเกษตรอำเภอเขาสมิงได้รับผลกระทบ 1,217 ราย 2,325 ไร่ อำเภอบ่อไร่ มีสัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบหมูเป็ดไก่หลายหมื่นตัว ซึ่งได้ประสานให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเยียวยาและแก้ไขปัญหาต่อไป

“จังหวัดตราดตราดได้ประกาศเขตสาธารณภัยและจุดบัญชาการระดับจังหวัด โดยให้อำเภอบูรณาการกับส่วนราชการในท้องที่ สนับสนุนระยกสูงช่วยเหลือการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในจุดที่มีการจราจรติดขัดให้ทำป้ายหลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยมีทางสำนักงาน ปภ.จังหวัดตราด เป็นหน่วยประสานงาน ในส่วนของจังหวัดตราดได้ขอรับการสนับสนุน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกาชาดจังหวัดสระแก้ว มอบถุงยังชีพ 1,250 ถุง สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบันฝนลดลงถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567 แต่ยังคงมีปริมาณน้ำสะสมจากฝนตกอยู่ ในส่วนของการระบายน้ำทางชลประทานพยายามระบายน้ำให้สอดคล้องกับน้ำทะเล” นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม