เผยแพร่ |
---|
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ชื่นชมเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรีที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน พร้อมขอให้ผู้ว่าฯ ได้ร่วมกับนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ส่งเสริมบทบาทเด็กและเยาวชนควบคู่บทบาทวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่นในลักษณะมัคคุเทศก์น้อย เพื่อหนุนเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ราชบุรีที่ทรงคุณค่าอย่างยั่งยืน
วันนี้ (22 ก.ค. 67) เวลา 12.00 น. ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี โดยมี นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดราชบุรี นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ นางสาววริษฐา สงวนเสริมศรี นายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี นางยุพิน เศรษฐศักดาศิริ พัฒนาการจังหวัดราชบุรี หัวหน้าส่วนราชการ นายรังษี หลิมกำเหนิด ปลัดเทศบาลเมืองราชบุรีปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดราชบุรี นายอำนวย พระลักษณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยไผ่ ประชาชนกลุ่มสาวไทดำ กลุ่มไทญวนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี คณะผู้บริหารและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดสัตตนารถปริวัตร) ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการ รับชมการแสดง การขับร้องเพลงความดีอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ของเด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดสัตตนารถปริวัตร) และการแสดงชุด “สาวไทดำ” จากศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านหัวเขาจีน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี แล้วเปิดศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี จากนั้นเดินเยี่ยมชมการจัดแสดงสินค้าของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีของชีวิตที่ได้มาเยือนในจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน เป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางการปกครอง ของไทยนับเนื่องแต่ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี องค์พระปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี โดยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ปกครองบ้านเมือง ดูแลบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับราษฎร ทั้งนี้ เมืองราชบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ เป็นสมรภูมิการรบหลายสมัย โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ยกทัพมาตั้งรับศึกพม่าในเขตราชบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือสงครามเก้าทัพ และต่อมา พ.ศ. 2360 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างกำแพงเมืองใหม่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพ.ศ. 2437 ได้ทรงเปลี่ยนการปกครองส่วนภูมิภาคโดยรวมหัวเมืองต่างๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกัน ตั้งขึ้นเป็นมณฑล และได้รวมเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ รวม 6 เมือง ตั้งขึ้นเป็นมณฑลราชบุรี ตั้งที่บัญชาการมณฑล ณ ที่เมืองราชบุรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันคือศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเก่า ต่อมาใน พ.ศ. 2440 ได้ย้ายที่บัญชาการเมืองราชบุรี จากฝั่งซ้าย กลับมาตั้งรวมอยู่แห่งเดียวกับศาลาว่าการมณฑลราชุบรี ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง จนถึง พ.ศ. 2476 เมื่อได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลทั้งหมด มณฑลราชบุรีจึงถูกยกเลิกและคงฐานะเป็นจังหวัดราชบุรีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำว่า “ราชบุรี” มีความหมายอันเป็นมิ่งมงคลว่า “เมืองพระราชา”
กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาคนรุ่นใหม่ รวมถึงพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ได้มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและความเป็นประชาชนคนในท้องถิ่นต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบแนวทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ได้หนุนเสริมบทบาทของวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำถิ่น (ครู ก.) ควบคู่กับการขับเคลื่อนสร้างวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยในระดับอำเภอ (ครู ข.) โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพการขับเคลื่อน ด้วยการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งการปรับปรุงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีให้กลายเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี” นี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการเสริมสร้างพลังความรัก ความหวงแหน และความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น เพราะเมืองราชบุรีเป็นหัวเมืองสำคัญตั้งแต่ในครั้งประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ทรงทำหน้าที่ทั้งในฐานะนักปกครอง และแม่ทัพเอก จนกระทั่งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้ราชอาณาจักรไทย เป็นราชอาณาจักรแห่งความร่มเย็นเป็นสุขถึงปัจจุบัน
“ขอชื่นชมยินดีในความร่วมไม้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี จนทำให้จวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเก่า ได้แปลงสภาพปรับเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรีและประวัติศาสตร์ชาติไทยที่สำคัญ เพื่อที่จะให้ลูกหลานเด็กและเยาวชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวราชบุรี และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้มาท่องเที่ยวควบคู่การศึกษาเรียนรู้ สัมผัสถึงกลิ่นไอของความเป็นเมืองราชบุรี และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้บูรณาการร่วมกับท่านนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ส่งเสริมบทบาทของเด็ก เยาวชน ในการเป็นมัคคุเทศก์น้อย ด้วยการเรียนรู้ รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากวิทยากรประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำถิ่น และจัดเวรในช่วงวันหยุดหรือช่วงเวลาว่าง เพื่อที่จะเสริมทักษะในด้านการสื่อสารให้กับเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการเสริมบทบาทของวิทยากรบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำถิ่น อันจะทำให้การขับเคลื่อนศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจฐานรากของประชาชน อย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรีแห่งนี้ เดิมเป็นจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหลังเก่า มีอายุมากกว่า 100 ปี มีเนื้อที่ 1.5 ไร่ ลักษณะของจวน เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทรงปั้นหยา เป็นเรือนแบบยุโรปรุ่นแรก ที่นิยมนำแบบเข้ามาสร้างในประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นอาคารที่ทรงคุณค่า ในด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประวัติศาสตร์ มีความโดดเด่นเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี ซึ่งจังหวัดราชบุรีได้ดำเนินการปรับปรุงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีหลังเก่า เพื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี โดยได้ออกแบบภายใต้แนวคิด “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมที่มีชีวิต” และปรับปรุงอาคารให้คงอัตลักษณ์ของอาคารเดิมให้มากที่สุด
“สำหรับศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี มีพื้นที่ประกอบด้วย 1) อาคารศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี พื้นที่รวมประมาณ 889 ตารางเมตร แบ่งเป็น ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม ชั้นที่ 2 เป็นห้องการอนุรักษ์อาคาร มีการแสดงวีดิทัศน์ บนกรอบภาพเรื่อง “จากจวนผู้ว่าฯ สู่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ…ภารกิจเพื่อประชาชน” สื่อถึงความสำคัญของอาคารหลังนี้ และแสดงถึงความเป็นมา การแนะนำนิทรรศการและพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ของตัวอาคาร และชั้นที่ 3 ห้องวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ประเพณีของชาวราชบุรี เน้นจุดเด่นของจังหวัดราชบุรี ซึ่งมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์มากถึง 8 ชาติพันธุ์ ที่ยังคงสืบทอด อัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ดั้งเดิมไว้ ห้องประวัติหลวงยกกระบัตร และการเมืองการปกครอง แสดงถึงสภาพสังคมและการเมืองการปกครองของเมืองราชบุรีตั้งแต่ก่อนก่อตั้งเมืองราชบุรี จนถึงปัจจุบัน ห้องบุคคลสำคัญ เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติบุคคลในประวัติศาสตร์นักปกครอง และนักบริหารคนสำคัญของจังหวัดราชบุรี 2) อาคารสำนักงานศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี พื้นที่รวมประมาณ 290 ตารางเมตร ประกอบด้วย ห้องทำงาน ห้องประชุม ส่วนด้านล่างเป็นพื้นที่จอดรถ 3) ปรับภูมิทัศน์โดยรอบเพื่อเป็นลานอเนกประสงค์ พื้นที่รวมประมาณ 1,320 ตารางเมตร ทั้งนี้ ด้านการบริหารจัดการ จังหวัดราชบุรี ได้ส่งมอบอาคาร ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ให้แก่เทศบาลเมืองราชบุรี เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการ เพื่อให้ศูนย์ฯ แห่งนี้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงสร้างสรรค์ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายของจังหวัดราชบุรี และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว เชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 อีกทั้ง ยังคงไว้ซึ่งสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวจังหวัดราชบุรี ที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป” นายเกียรติศักดิ์ ฯ กล่าวเพิ่มเติม