ปลัด มท. มอบนโยบายการทำงานคนมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้ เน้นย้ำผู้นำต้องเป็นต้นแบบ สร้างคนมหาดไทยส่งต่อเจตจำนงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สู่การพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน

ปลัด มท. มอบนโยบายการทำงานคนมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้ เน้นย้ำผู้นำต้องเป็นต้นแบบ สร้างคนมหาดไทยส่งต่อเจตจำนงบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สู่การพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน เพราะจุดแตกหักของงานมหาดไทยอยู่ที่หมู่บ้าน

วันนี้ (15 ก.พ. 67) เวลา 14.15 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทย ในโครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้นำ ในการเสริมสร้างบทบาทของหมู่บ้านสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง พังงา ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี ณ โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รองอธิบดีกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และนายอำเภอ เข้าร่วมการประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีใจความสำคัญ 2 นัย ด้วยกัน นัยแรก คือ ตั้งใจจะมาพบท่านผู้บริหารพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ทำให้เกิดความคุ้นเคย เสริมสร้างความรักสามัคคี และมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองประสบการณ์การทำงานและฝากฝังความหวังในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงมาร่วมรับฟังปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต่อมานัยที่ 2 คือ การมาย้ำเตือนและมาทำความเข้าใจกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยราชสีห์ผู้ภักดีต่อแผ่นดินให้ตระหนักว่า ยุคสมัยใหม่ของการเปลี่ยนเเปลงได้มาถึงแล้ว ซึ่งจะเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนเเปลงอย่างรวดเร็ว และมีภัยคุกคามต่อความศรัทธาของคนในสังคมในทุก ๆ เรื่อง ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ในฐานะนายกรัฐมนตรีประจำพื้นที่ เป็นผู้นำตามกฎหมาย และเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดเพื่อพี่น้องประชาชนจึงจำเป็นที่จะต้องร่วมพูดคุยกัน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า หลักสำคัญของการทำงานทุกงานให้สำเร็จ คือ การครองตน ครองคน ครองงาน และการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ที่มี 3 ห่วง ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน 2 เงื่อนไข มีคุณธรรม นำความรู้ (เงื่อนไขความรู้ 3 ร รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง) ประการที่ 1 การครองตน พี่น้องข้าราชการทุกคนจะต้องรู้จักการวางตัวให้เหมาะสมเป็นที่เลื่อมใส และศรัทธาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการครองตนในตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้นำจำเป็นต้องครองตนเป็นต้นแบบสู่ประการที่ 2 คือ การครองคน ของทั้งพี่น้องประชาชน ผู้ใต้บังคับบัญชา และ 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย เพื่อนข้าราชการ ผู้นำศาสนา บุคลากรทางการศึกษา และภาควิชาการ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งในหลักศาสนาพุทธก็ได้แบ่งการครองคนออกเป็นบุคคลประเภทต่าง ๆ ตามหลักธรรม “ทิศ 6”

“ประการที่ 3 คือ การครองงาน ทุกคนทำงานในหน้าที่ของตนให้ดี แล้วเสริมสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่นด้วยการสื่อสาร คนมหาดไทยต้องฝึกคนให้เป็นนักสื่อสารสังคม ต้องสร้างความรู้ และทักษะการสื่อสารยุคใหม่ ทั้งการเขียน การอ่าน การตัดต่อ เเละส่งเสริมกระตุ้นให้รู้จักบทบาทหน้าที่ภารกิจของกระทรวงมหาดไทยไม่ใช่เพียงแค่บทบาทเฉพาะหน่วยงานต้นสังกัดเท่านั้น หลักสำคัญ คือ RER ที่ประกอบด้วย R-Routine Job คือ งานประจำหรือภารกิจในหน้าที่ต้องไม่บกพร่อง E-Extra job คือ งานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ R-Report คือ การสื่อสาร การพูดคุย การประชุม เรารู้ดีว่ามนุษย์มีข้อจำกัด แม้ว่าตำเเหน่งสูง คนเดียวทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะข้อที่ 17 Partnership ซึ่ง กระทรวงมหาดไทยเราได้เเปลงมาเป็น จังหวัด/อำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำประจำพื้นที่ จะต้องบูรณาการงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ใช่เน้นเเต่งานด้านความมั่นคงและรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะการบูรณาการงานเเต่ละงานจะช่วยส่งเสริมกัน เช่น งานสาธารณสุข ถ้าส่งเสริมให้คนมีร่างกายเเข็งเเรงห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ก็ไม่มาเยือน ต่อมาบูรณาการสิ่งที่สอง คือ สรรพกำลัง ระบบราชการยุคนี้มีคนน้อย แล้วคนที่มีอยู่ก็มีสมรรถนะ หรือมีศักยภาพที่ไม่ได้สูงเหมือนสมัยก่อน เพราะปัจจุบันผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีมีทางเลือกสูง และมักมีโอกาสได้เข้าทำงานในองค์กรภาคธุรกิจเอกชนชั้นนำของประเทศ ส่วนคนในองค์กรบ้างก็หมดไฟ บ้างก็อายุมาก หรือบ้างไม่ได้ถูกพัฒนา หรือด้วยเหตุปัจจัยอื่น ๆ ถ้าเราบูรณาการ ทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายมาร่วมเป็นพันธมิตรจิตอาสา ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจะช่วยทำให้ภารกิจประสบความสำเร็จง่ายขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า จากที่กล่าวมานี้ จุดแตกหักของงานกระทรวงมหาดไทยอยู่ที่หมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องใช้ความกล้าหาญในการผลักดันผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ฝึกปฏิบัติด้วยหลักการ “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ผู้นำต้องเป็นต้นเเบบจึงเป็นที่มา “ผู้นำต้องทำก่อน” ต้องลงพื้นที่ไปพบปะกับพี่น้องประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาเเละความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อนำมาพัฒนา การเป็นต้นเเบบต้องเป็นเหมือนครู พี่เลี้ยง และนำหลักการโค้ชชิ่งมาใช้ด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และการปล่อยให้เขาลองฝึกปฏิบัติแล้วให้คำเเนะนำ เราต้องช่วยกันสร้างลูกหลานมหาดไทยให้เข้มเเข็ง กระทรวงมหาดไทยโชคดีได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานเเนวทางหมู่บ้านยั่งยืนให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำเเหน่ง อธิบดีกรมการปกครอง และนางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ที่ห้องเอนกประสงค์ วังศุโขทัย พระองค์พระราชทานหนังสือ Sustainable City พร้อมพระราชทานหน้าที่ว่าไปทำให้เกิด “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Villages) ซึ่งบรรพบุรุษชาวมหาดไทยได้ให้ความสำคัญกับหมู่บ้านมาตลอด 132 ปีแห่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เราจึงมีกลไกปลัดประจำตำบล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานเเนวทางการทำงานว่า ต้องมี 4 ร่วม ร่วมคิด ร่วมวางเเผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ต้องไปคุยเเละทำด้วยกัน สอดคล้องกับเเนวคิดที่รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด ซึ่งในห้วงปีที่ผ่านมา ผมได้ขอให้อธิบดีกรมการปกครองช่วยทำทีมจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้เข้มเเข็งเป็น Partnership ที่สำคัญของคนมหาดไทย โดยเฉพาะการสร้างผู้นำที่เข้มเเข็งที่สามารถกระตุ้นให้ทีมงานมี Passion มีจิตใจที่รุกรบ Change for Good เพื่อส่วนรวมได้ ดังนั้น ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ต้องผลักดันให้มีในทางปฏิบัติให้มีตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ การโค้ชชิ่ง คือ การช่วย เป็นการดำเนินการทางวินัยอย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้เกิดผลเสียในทางลบ เเต่กลับส่งเสริมให้ผู้ได้รับการโค้ชชิ่งมีพัฒนาการเเละทักษะที่เหมาะสมต่อการทำงาน ถ้าโค้ชชิ่งเเล้วยังตกตัวชี้วัดอีกก็ต้องมีมาตรการต่อไป
.
ยกตัวอย่าง กองการเจ้าหน้าที่ เสนอให้ลงนามประกาศบรรจุเเต่งตั้งข้าราชการใหม่ ผมก็มีความเห็นว่าควรมีการเสนอให้ช่วยจัดฝึกอบรมเรื่องระเบียบสารบรรณ ระเบียบวินัย การเขียนหนังสือราชการ เรื่องอื่น ๆ ที่เป็นพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้เราต้องช่วยคิด เเละสอนผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา หรือเรื่องที่มีข้อสั่งการให้สำรวจให้บุคลากรที่ไม่เคยทำงานอยู่ภูมิภาค ก็ให้พิจารณาหมุนเวียนตำเเหน่งเพื่อสร้างประสบการณ์การทำงาน โดยให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตส่วนตัวน้อยที่สุด เพราะไม่ได้มีเจตนาจะกลั่นเเกล้งเเต่ต้องการสร้างคน คำตอบของภารกิจกระทรวงมหาดไทยอยู่ที่ 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล และ 75,142 หมู่บ้าน หรือท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอาจมีคำสั่งภายใน สลับหมุนเวียนบุคลากรภายในจังหวัดให้ไปทำงานที่อำเภอเรียนรู้อยู่สัก 15 – 20 วัน เป็นอย่างน้อย หรือให้นายอำเภอมาเรียนรู้งานที่สำนักงานจังหวัด เป็นต้น ก็เป็นเรื่องดีที่พวกเราต้องช่วยกัน การกระทำเเบบนี้อาจทำให้รู้สึกลำบาก เเต่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในอนาคต ที่จะช่วยทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืนให้ทุกหมู่บ้านโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behide) ที่มีทั้งความมั่นคงทางอาหาร สิ่งเเวดล้อมที่ดี มีการคัดเเยกขยะ ธนาคารขยะ ถังขยะเปียกลดโลกร้อน การสร้างจิตสำนึกต่อทรัพยากรดินและน้ำเนื่องในวันดินโลก (World Soil Day) ภายใต้เเนวคิดดินดี น้ำดี ชีวีมีสุขอย่างยั่งยืนภารกิจการเเก้ไขปัญหาความยากจน การถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรม ศิลปะ การรวมกลุ่มดูเเล คุ้ม ป๊อก หย่อม บ้าน เพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยเหลือสงเคราะห์เอื้อเฟื้อกัน ป้องกันยาเสพติด อาชญากรรมรูปแบบใหม่ สิ่งที่กล่าวมาหวังพึ่งพวกเราทุกคน ฝากความหวังงานราชสีห์ผู้ภักดีต่อเเผ่นดินต้องใช้ทั้งยาฝรั่ง ไปดูข้อมูลจาก ThaiQM อะไรเเก้ได้ก็แก้ก่อน อะไรเเก้ไม่ได้ต้องทำการหารือ เเล้วร่วมกันเเก้ปัญหา ตัวอย่างเรื่องของการเเก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้บูรณาการส่งข้อมูลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนของมูลหนี้ก็นำธนาคาร และสถาบันทางการเงิน เข้ามาช่วยบรรเทา เเละยาไทย คือ การลดรายจ่าย ทำบัญชี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างโอกาส ส่งเสริมอาชีพ รวมกลุ่มเป็น OTOP หรือพัฒนาสิ่งที่ทำให้ดีขึ้น ระบบคุ้มบ้าน หย่อมบ้านต้องเข้มเเข็ง คณะกรรมการหมู่บ้าน คุ้ม ป๊อก หย่อม ต้องเข้มเเข็ง ทีมข้าราชการประจำตำบลต้องเข้มเเข็ง ต้องทำให้ทีมที่เป็นทางการประจำหมู่บ้านเข้มเเข็ง เเละขยายผลไปสู่ทีมจิตอาสา 7 ภาคีเครือข่าย
.
นอกจากนี้ การกระตุ้นปลุกเร้า พูดคุย ตรวจเยี่ยม ติดตาม และประเมิน เป็นเรื่องสำคัญ ตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่ตกเกณฑ์ เราต้องให้ความสำคัญ ทั้ง ITA PMQA หรืออื่น ๆ เพราะเป็นเครื่องมือตรวจสุขภาพงานประจำ ระบบจัดเก็บข้อมูลเอาใจใส่ในเนื้องาน ฝากเป็นข้อเตือนใจ ฝากความหวัง เพื่อให้พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เกิดขึ้น ขอให้ไปติดเตือนใจ และค่อย ๆ คิดว่า ประเทศชาติมั่นคง คือ วิธีคิด แก้ไขในสิ่งผิด คือ วิธีการทำงาน ดูว่าอะไร คือ ปัญหาอุปสรรค ให้สำรวจเเล้วปรับให้ดี เพื่อการทำงาน สืบสานพระราชปณิธาน เป็นเเนวทางในการทำงานเรื่องต่าง ๆ ทั้ง 5,151 โครงการภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งพาตนเอง มีเหตุมีผล มีความรู้ มีคุณธรรม หมู่บ้านต้องดี เพื่อนต้องช่วยเพื่อน บางบ้านมีผู้สูงวัย มีผู้ป่วยติดเตียง บ้านใกล้เรือนเคียงก็ต้องช่วยกัน ทั้งหมดอยู่ที่ใจ ใจต้องเป็นนาย กายต้องเป็นบ่าว ผู้นำต้องสร้าง Passion ใจมุ่งมั่นอยากเห็นประชาชนมีความสุข เราต้องอดทน เเละไม่เเสดงความเหน็ดเหนื่อย วันนี้เมื่อเรามีหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อประชาชน คนมหาดไทยต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้ เเละผมเชื่อว่าเราทำได้ถ้าเราลงมือทำ

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood