อธิบดี ปภ. – ผู้ว่าฯ จังหวัดภาคใต้ ยัน ทีม ปภ. บูรณาการภาคีเครือข่ายช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์อุทกภัยและคลื่นลมแรงพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง เน้นย้ำสายด่วนนิรภัย 1784

อธิบดี ปภ. – ผู้ว่าฯ จังหวัดภาคใต้ ยืนยัน ทีม ปภ. บูรณาการภาคีเครือข่ายช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์อุทกภัยและคลื่นลมแรงพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำสายด่วนนิรภัย 1784 สแตนบายรับแจ้งขอความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

วันนี้ (27 พ.ย. 66) นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงกรณี นายชัยชนะ เดชเดโช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เข้าไปในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นสถานการณ์น้ำท่วมในตลอดฤดูฝนของปีนี้

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และเขต 18 ภูเก็ต ได้สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยพร้อมเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 312 หน่วย ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 86 หน่วย รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย 8 หน่วย เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ 80 หน่วย รถบรรทุกเครื่องสูบส่งระยะไกล 16 หน่วย รถสูบน้ำท่วมขัง 16 หน่วย สะพานเบลีย์ 13 หน่วย รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย 79 หน่วย รถกู้ภัยเคลื่อนเร็ว 14 หน่วย รวมทั้งอากาศยานปีกหมุน KA 32 จำนวน 1 ลำ ซึ่งได้เข้าประจำการ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลืออุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566

“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและคลื่นลมแรงในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รวม 16 จังหวัด ตามข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ตั้งแต่ขั้นก่อนเกิดภัย เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 โดยได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดข้างต้นบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ทั้งการกำกับดูแลการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ให้วางแผนบูรณาการเครื่องจักรกลสาธารณภัย ดำเนินการสูบ/ลำเลียงน้ำส่วนเกินไปกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ให้เป็นน้ำต้นทุนในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง สำหรับจังหวัดที่อยู่บริเวณท้ายน้ำให้เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และให้ถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในแผนเผชิญเหตุอุทกภัยอย่างเคร่งครัด โดยจังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์ให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยโดยเร่งด่วน และบริหารจัดการน้ำให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนให้มีน้อยที่สุด ระดมกำลังพล พร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรสาธารณภัยจากทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน ตำรวจ มูลนิธิ อาสาสมัคร ประชาชน จิตอาสาเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ การจัดให้มีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพ และการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานในการประกอบเลี้ยง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยหากจังหวัดสถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะบ้านเรือนที่พักอาศัย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณประโยชน์ และเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยโดยเร็ว” นายไชยวัฒน์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

“นอกจากนี้ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจติดตามความพร้อมและมอบนโยบายการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด เมื่อวันที่ 7 – 8 พฤศจิกายน 2566 และได้กำชับสั่งการให้จังหวัดและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่มักเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ และต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างการรับรู้แก่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาการดำเนินการช่วยเหลือ เยียวยา ตามระเบียบกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และประสานหน่วยงานภาคีเครือข่าย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายปกครอง สำรวจตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติให้ครอบคลุมทุกด้านทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันการตกสำรวจหรือการเข้าไม่ถึงข้อมูลของประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้บูรณาการหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมจัดการสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อมุ่งเน้นการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย ให้ข้อมูล และสื่อสารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เข้าถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยง พร้อมรับมือสถานการณ์ภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนนิรภัย โทร. 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายไชยวัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีได้ประกาศเขตพื้นที่ให้การช่วยเหลือ และประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยอุทกภัยไปแล้ว ในพื้นที่ 2 อำเภอ 14 ตำบล 6 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำปัตตานี มีลักษณะการท่วมขังแบบกระจายตัวเป็นหย่อมบ้าน ระดับน้ำมีความสูงประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร โดยขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ในการช่วยเหลือในพื้นที่ พร้อมสำรวจความเสียหายแล้ว พบว่า มีครอบครัวที่ประสบภัย จำนวน 1,849 ครอบครัว คิดเป็นประชาชน 7,360 ราย ไม่ได้เสียหายทั้งหมู่บ้าน ซึ่งพี่น้องที่อยู่ริมตลิ่งชายฝั่งค่อนข้างจะคุ้นเคยในเรื่องของสถานการณ์น้ำท่วมอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประสานการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก และมวลน้ำจากจังหวัดยะลาที่จะเข้าผ่านที่แม่น้ำปัตตานีจะกำลังเข้ามาในพื้นที่ภายในวันนี้ ซึ่งจังหวัดปัตตานีได้เตรียมพร้อมในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสนับสนุนการปฏิบัติ ในแต่ละจุดที่เป็นจุดเสี่ยง รวมถึงการซักซ้อมแผนการอพยพก็ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำจุด พร้อมกับเรือไฟเบอร์ เรือเหล็กท้องแบนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีชุดปฏิบัติการเฉพาะที่คอยติดตามกลุ่มเปราะบาง ผู้พิการ เด็ก คนชรา อย่างใกล้ชิด ทั้งด้านสุขอนามัย อาหาร น้ำดื่มและถุงยังชีพ สำหรับความพร้อมของศูนย์อพยพชั่วคราว ณ ขณะนี้ สามารถรองรับจำนวนผู้อพยพได้จนสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งหากพี่น้องต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ หรือศูนย์ดำรงธรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันของจังหวัดชุมพรแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วง ระหว่างวันที่ 16 – 17 พ.ย. 66 ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ 6 อำเภอ คือ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อำเภอละแม และอำเภอหลังสวน ได้รับความเดือดร้อน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชน รวม 4,852 ครัวเรือน 15,261 ราย ร่วมถึงพื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ ช่วงต่อมาระหว่างวันที่ 25 – 26 พ.ย. 66 มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มเติมทำให้น้ำท่วมสูงขึ้นที่ อ.ละแม และ อ.หลังสวน แต่ในขณะนี้ระดับน้ำเริ่มมีการลดลง เพราะได้เคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางทางน้ำออกจากจุดระบายน้ำ โดยคาดการณ์ว่าภายในวันนี้ หรือ พรุ่งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เมื่อคืนมีฝนตกเติมมา ตอนนี้กำลังตรวจความเสียหายว่าเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ใดเพิ่มขึ้นหรือไม่ สำหรับการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ได้มีการบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ มีการเคลื่อนย้ายประชากรอพยพประชาชนตามแผนที่ได้เตรียมการไว้ บางครัวเรือนได้เตรียมความพร้อมย้ายขึ้นมาอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง หรือทำชั้นลอย โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ แล้วก็มอบยารักษาโรค สิ่งของที่จำเป็น ถุงยังชีพ น้ำดื่ม และมีอาหารกล่องคอยบริการ ตั้งโรงครัวพระราชทาน เลี้ยงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 66 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทาน และเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 1,430 ชุด มอบให้แก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย ทั้งนี้ จังหวัดชุมพรได้มีการประสานไปยังศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในการช่วยเร่งระบายน้ำ ซึ่งหากพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมที่สายด่วน 1567 หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้ทันที และเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ จังหวัดชุมพรจะได้เร่งให้ความช่วยเหลือต่อไป