CPF มุ่งสู่เป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อโลกที่ยั่งยืน

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ถูกยกเป็นประเด็นปัญหาระดับโลก ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือแก้ไข แนวโน้มของการนำพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) มาใช้ ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นทางออกในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ในปี 2050 ตามหลักการทางวิทยาศาตร์ ซึ่งส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว มาจากการเพิ่มสัดส่่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอดกระบวนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ใช้พลังงานหมุนเวียน 31% ของการใช้พลังงานทั้งหมด

พีรพงศ์ กรินชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานวิศวกรรมกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า ปัจจุบัน ซีพีเอฟ เป็นบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ คาดว่าสิ้นสุดปี 2023 จะอยู่ที่ 31% ของการใช้พลังงานทั้งหมดของบริษัท แบ่งเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) 69% พลังงานจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) 29% และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) 2%

บริษัทฯ นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในฟาร์มสุกร ตั้งแต่ปี 2544 หรือมากกว่า 20 ปีแล้ว จนถึงปัจจุบันฟาร์มสุกรทั้ง 98 แห่ง นำระบบไบโอแก๊ส (Biogas) มาใช้ ผลิตก๊าซชีวภาพและเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าในฟาร์มสุกรได้ถึง 50 – 80% ของค่าไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในฟาร์ม และขยายสู่การนำมาใช้ในคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ลดการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 400,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ ในปี 2023 บริษัทฯ มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 32,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และในปี 2025 มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 100 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ (Zero Deforestation Policy) การจัดหาอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานซีพีเอฟ โดยวัตถุดิบทางการเกษตร ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนได้ประกาศกำหนดการใช้สารทำความเย็นบางประเภท ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งกิจการซีพีเอฟประเทศไทยและกิจการซีพีเอฟต่างประเทศ

ร่วมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ซีพีเอฟ ยังเป็น 1 ใน 7 บริษัททั่วโลกที่ได้รับพิจารณาจากองค์กร the Science Based Targets initiatives (SBTi) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือของ CDP (Carbon Disclosure Project) United Nations Global Compact WRI (World Resource Institute) และ WWF (องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล) เข้าร่วมโครงการนำร่องการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้มาตรฐานเฉพาะสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหาร SBTi เป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานระดับโลกที่ใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทต่างๆ เพื่อสามารถวางเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจนและนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

ยกเลิกใช้ถ่านหิน 100% สู่เป้าหมาย CPF Global Coal Free

ในปี 2022 ซีพีเอฟ ยกเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตทั้งหมด สำหรับกิจการในประเทศไทยและเวียดนาม โดยนำชีวมวลจากวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย ซังข้าวโพด ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนมาใช้ทดแทนถ่านหินในการผลิตไอน้ำ สำหรับกิจการในประเทศไทยช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 220,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และบริษัทฯ มีแผนที่จะยกเลิกการใช้ถ่านหินสำหรับกิจการในต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่ CPF Global Coal-free

ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลิตและใช้พลังงานทดแทน 100% โดยไม่พึ่งพาพลังงานจากภายนอก นำร่องที่ฟาร์มไก่ไข่ จังหวัดจันทบุรี ติดตั้งระบบไบโอแก๊สเพื่อผลิตไฟฟ้า และอยู่ระหว่างติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มเติมทดแทนการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งภายนอก พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน (EMS) เพื่อควบคุมการผลิต และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีนี้ เป็นฟาร์มต้นแบบ RE100 แห่งแรก และเตรียมขยายผลสู่ฟาร์มและโรงงานอื่นๆ ในระยะต่อไป

ในยุคที่โลกเข้าสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก ที่มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน