เผยแพร่ |
---|
ปลัดมหาดไทย ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเฉพาะกิจ โครงการอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุขฯ และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนฯ เน้นย้ำ “หน้าที่ของชาวมหาดไทยต้องเป็นราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน ทำให้ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยเป็นหมู่บ้านยั่งยืน เป็นพื้นที่แห่งความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567
วันนี้ (28 ก.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยได้รับเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส พระปัญญาวชิรโมลี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี นายประชา เตรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานนิเทศโครงการฯ นายสมคิด จันทมฤก นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นางสาวอโรชา นันทมนตรี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการ “อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” อย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเสริมสร้างพลังความร่วมมือภาคีเครือข่ายควบคู่การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการทรงงานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะเป็นแนวทางที่สำคัญในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชน สู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” โดยคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชน รวม 7,255 ตำบล แล้วนำภาคีเครือข่ายพุ่งเป้าดำเนินโครงการ/กิจกรรมพัฒนาตามสภาพปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ด้วยการอาศัย 4 กระบวนการสำคัญ คือ การร่วมพูดคุย การร่วมคิด การร่วมทำ และการร่วมรับประโยชน์ ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางความสำเร็จอย่างยั่งยืน ที่ถอดบทเรียนมาจากโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ
“โครงการที่กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนทั้ง 2 โครงการนี้ ล้วนให้ความสำคัญกับ “คน” โดยเฉพาะผู้นำและทีมงาน (Partnership) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมีนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ ทำหน้าที่ผู้นำให้เกิดกระบวนการการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อให้พี่น้องประชาชนในทุกอำเภอ/ตำบล/หมู่บ้านทั่วประเทศ มีความสุข มีความรัก ความสามัคคี มีความเข้มแข็ง ตามกลไกขับเคลื่อนงานสืบสานศาสตร์พระราชา “3 ระดับ 5 กลไก 7 ภาคีเครือข่าย” ผสานพลังทำให้ทุกคนมาร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจทำให้เกิด “Passion” ร่วมกัน นำไปสู่การเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” โดยกระทรวงมหาดไทยได้รับความกรุณาจากท่านประชา เตรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานนิเทศโครงการฯ ในการติดตามประเมินผลโครงการตลอดปี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานหนังสือ “Sustainable City” พร้อมทั้งทรงตรัสว่า “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือการทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งนับเป็นพระดำรัสที่เป็นมงคลยิ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้พวกเราชาวมหาดไทยได้ตระหนักว่า “พระองค์หญิงทรงให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน และฝากความหวังไว้ที่กระทรวงมหาดไทยในการที่จะช่วยทำให้ประเทศชาติมี “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”” เริ่มตั้งแต่การทำให้ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หย่อมบ้าน ซึ่งการทำให้รวมตัวนั้นต้องอาศัยผู้นำ ทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการ จึงเกิดเป็นที่มาของตัวชี้วัด (KPIs) “หมู่บ้านยั่งยืน” ที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ได้ถอดบทเรียน อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การมีความรักความสามัคคี และที่สำคัญคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังลูกหลานในชุมชน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของหมู่บ้านยั่งยืนมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ “คน” และ “จุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่หมู่บ้าน” ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นและจะเป็นก้าวสำคัญในการจุดไฟรุกรบและแรงปรารถนา ที่จะทำให้คนมหาดไทยในการรื้อฟื้นความดีงาม ทำให้ประชาชนทุกคนมีใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข ทำให้พวกเราชาวมหาดไทยนั้นได้เบาใจที่ได้ทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นและได้เห็นแสงสว่างปลายที่อุโมงค์ว่าโครงการนี้มีมรรค มีผลสำเร็จ (Outcome) ที่เป็นที่น่าพอใจและเป็นไปตามหลักการทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทุกคน “พอมี พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น”
“และในปี 2567 ที่กำลังจะถึงนี้ กระทรวงมหาดไทยเรามุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกตำบล/หมู่บ้าน ใน 878 อำเภอ 76 จังหวัด เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” และโดยมี “ทีมอำเภอ” ที่จะมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นทำให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเต็มรูปแบบทั่วประเทศ เพื่อเป็นของขวัญที่ดีที่สุดในการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ที่พวกเราชาวมหาดไทยทุกคนจะช่วยกันทำหน้าที่ “ราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน” และ “ข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย สนองพระราชปณิธาน นั่นคือ การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน” เพื่อประชาชนทุกพื้นที่มีดัชนีมวลรวมแห่งความสุขที่สูงขึ้น (Gross National Happiness:GNH) ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) และมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายประชา เตรัตน์ หัวหน้าคณะทำงานนิเทศโครงการฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่มอบหมายให้ตนได้ลงพื้นที่นิเทศติดตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนฯ นี้ ซึ่งตนในฐานะชาวราชสีห์มีความเต็มใจอย่างยิ่งเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นยังไม่มีส่วนราชการใดที่ทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเกิดความยั่งยืนอย่างจริงจัง ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งการขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้พวกเราช่วยกันน้อมนำมาประยุกต์ขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรนั้น สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง แต่การจะขับเคลื่อนในรูปแบบองค์รวมได้นั้น ทุกภารกิจของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ล้วนมีผลต่อพี่น้องประชาชน จะต้องอาศัยกลไกของกระทรวงมหาดไทย คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จึงจะส่งผลทำให้โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืนฯ กลายเป็นโครงการแห่งความยั่งยืนในทุกมิติสำหรับพี่น้องประชาชน
“ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ของคณะทำงานนิเทศโครงการฯ ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศไทย รวม 20 จังหวัด 286 อำเภอ สิ่งที่คณะทำงานฯ ให้ความสำคัญและเน้นย้ำกับทุกพื้นที่อยู่เสมอ มี 4 ประการ คือ 1) สถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีความสำคัญที่สุดในด้านการพัฒนาคน เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างความสำคัญเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพี่น้องประชาชน 2) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยนายอำเภอและทีมอำเภอที่ผ่านการอบรม ต้องสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงสร้าง “Passion” และกำลังใจ พร้อมไปกับการดำเนินการตาม 4 กระบวนการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ ตลอดจนการหา Project Brief ว่าในอำเภอของเรามีปัญหาอะไร เพื่อพัฒนาพื้นที่ 3) ความสำคัญของภาคีเครือข่าย ซึ่งเราดำเนินการโดยบูรณาการภาคีเครือข่ายในรูปแบบ “ทีมจิตอาสา” ที่ไม่มีแม้แต่ค่าตอบแทน แต่ภาคีเครือข่ายทุกคนต่างทำด้วยใจ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องประชาชน และ 4) ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง ทำด้วยใจแห่งความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ความอยู่ดีมีสุขให้กับพี่น้องประชาชนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”” นายประชาฯ กล่าวเพิ่มเติม