ปลัดมหาดไทยประชุมกรรมการอำนวยการติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ.

ปลัดมหาดไทยประชุมกรรมการอำนวยการติดตามความคืบหน้าการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้ อบจ. เน้นย้ำหลักสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ทั่วถึง และมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันนี้ (9 เม.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครั้งที่ 2/2566 โดยมี คณะกรรมการอำนวยการฯ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในวันนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการถ่ายโอน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 ซึ่งได้มีการหารือและเสนอแนะแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่จะทำให้การถ่ายโอนหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนที่จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ และโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ เข้ารับบริการได้อย่างครอบคลุมเท่าเทียม ยังผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“การผลักดันให้การขับเคลื่อนเรื่องถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในการที่จะได้รับบริการด้านสาธารณสุขทุกด้านที่ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอนามัยของคนทั่วไปอย่างเดียว แต่เรื่องสำคัญที่เราจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มแรก คือ ภาวะคลอดก่อนกำหนดของเด็กทารกที่เกิดใหม่ที่ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของร่างกาย ตลอดจนเรื่องการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ปัญหาการเจ็บป่วย และโรคต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโต จึงจำเป็นที่เด็กเล็กจะต้องได้รับการพัฒนาทางด้านร่างกาย สมอง จิตใจและอารมณ์ ซึ่งเรายังขาดการบริการ การดูแล ขาดการปลุกเร้าให้ผู้ปกครอง ให้คุณพ่อ คุณแม่ของเด็กเหล่านี้ได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องวัคซีนป้องกันโรค เรื่องการเลี้ยงดู การได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และความรู้เรื่องสาธารณสุขมูลฐานที่จะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนได้อย่างใกล้ชิด” นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า “ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ และภาคีเครือข่ายตามแนวทาง Partnership ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การดำเนินงานครั้งนี้สำเร็จได้” ด้วยการร่วมกันผลักดันทำสิ่งที่ดี ทำให้ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมบ้านเมืองที่ดีอย่างยั่งยืน เช่น การทำให้ทุกคนมีโอกาสได้รับอาหารเช้าที่ดี มีสารอาหารครบทุกหมู่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ทำให้มีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการ “1 อปท. 1 สวนสมุนไพร” เพื่อจะได้มียาสมุนไพรในการรักษาในพื้นที่ รพ.สต. การผลักดันบทบาทแพทย์ประจำตำบล การส่งเสริมบุคลากรแพทย์แผนไทยที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น การคัดเลือกอาสาสมัครที่มีความโดดเด่นที่จะเป็นเป็นผู้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนด้านสาธารณสุขมาอบรมเพื่อไปดูแลผู้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิดและทันท่วงที รวมไปถึงด้านกายภาพบำบัด ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนก็ได้มี MOU กับโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เพื่อพัฒนาทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด พี่น้องประชาชนเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พวกเราต้องการให้เกิดการ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างความภาคภูมิใจที่เป็นผลสำเร็จของการรับโอนภารกิจ รพ.สต. มาขับเคลื่อนจนเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน คือ การดำเนินงานของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ที่ภายหลังจากรับการถ่ายโอน รพ.สต. มาอยู่ในสังกัดแล้ว ได้สร้างความพึงพอใจให้กับพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก แม้ว่าในระหว่างขั้นตอนการถ่ายโอนมานั้นได้ติดขัดปัญหาต่าง ๆ มากมาย แต่ท่านนายก อบจ.เชียงใหม่ ก็ได้ผลักดันและขับเคลื่อนให้ผ่านไปได้ เช่น การเปิดสอบสรรหาบุคลากรในตำแหน่งที่ไม่ได้โอนย้ายมาด้วยเพื่อให้มีระบบบริการงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพ การประสานหาแพทย์เฉพาะทางด้านต่าง ๆ ตามเงื่อนไขกระทรวงสาธารณสุข มาจัดตารางเวรหมุนเวียนไปในแต่ละ รพ.สต. ซึ่งแพทย์เองก็มีความสุขที่ได้ไปพบเจอ ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ยังมีการเตรียมนำระบบ Telemedicine ซึ่งได้มีการทดลองใช้มาระยะหนึ่งแล้วกับพี่น้องชาวเขา เช่นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ซึ่งได้ผลดีที่สามารถเป็นต้นแบบต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมี อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลเรื่องระบบดูแลสุขภาพพลานามัยของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องวารีบำบัดหรือแพทย์แผนไทย ซึ่ง นายกอบต.ดอนแก้วสามารถทำออกมาได้ดี เป็นต้น จึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านได้ลงไปยัง อปท.ต้นแบบเหล่านี้ เพื่อจะได้ร่วมกันให้กำลังใจท่านผู้บริหารท้องถิ่นที่ตั้งใจทำเรื่องนี้ ได้ขยายผลเผยแพร่ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับสิ่งที่ดีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ รพ.สต. ได้อยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง

ด้าน รศ.ดร.อัชกรณ์ วงศ์ปรีดี จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้าราชการและภาคีเครือข่ายทุกคนต้องมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบของตัวเองเพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ “โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้สำเร็จได้” ด้วยการดำเนินการตามแผนบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่มุ่งเน้น Area-based การบริการสุขภาพแบบเครือข่ายที่ได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทและความจำเป็นของพื้นที่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการจัดบริการสุขภาพและออกแบบโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง (Technology-enhanced Management) บุคลากรได้รับเงินค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีเส้นทางความก้าวหน้าทางอาชีพที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และดำเนินการตามข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น การจัดสรรงบประมาณเพื่อบรรจุข้าราชการที่เป็นบุคลากรสายวิชาชีพให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังที่ระบุไว้ การสรรหาบุคลากรสายวิชาชีพอื่นที่จำเป็นต่อการจัดบริการตามแผนบริการสุขภาพที่เป็นไปตามบริบทและความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ เช่น นักกิจกรรมบำบัด อาชีวบำบัด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนภารกิจ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

ด้าน นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อปท. ต้องส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ ที่จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ที่ห่างไกลยาเสพติดหรือสิ่งมัวเมาอื่น ๆ ซึ่งเราต้องดูแลเยาวชนตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่ยังไม่ประสีประสา ซึ่ง “เรื่องสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญ” หากเด็ก ๆ ได้ออกกำลังกาย ก็จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลโรคภัย งบประมาณด้านสุขภาพก็ลดลงไปด้วย จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนทุกหน่วยงานมาร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เต็มกำลังทำหน้าที่คนไทย ส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพพลานามัยที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้ครอบครัวดี ชุมชนดี สังคมดี และประเทศชาติพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอขอบคุณคณะกรรมการฯ ทุกท่านที่ได้มาร่วมกันประชุมเพื่อผลักดันขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้กับ อบจ. ให้เกิดประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการให้บริการทางการแพทย์แก่พี่น้องประชาชนอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อทำให้ประชาชนทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข ประเทศชาติมั่นคง โดยข้อเสนอแนะของทุกท่านในครั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการจะได้รวบรวมและนำไปเสนอต่อคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ซึ่งมีท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯ รวมทั้งนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอแนะให้เกิดนโยบายที่สนองตอบความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก คือ “การสนับสนุนด้านการบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ให้ดีที่สุดให้ได้ เพื่อยกระดับ รพ.สต. สู่ศูนย์การบริการสุขภาพของประชาชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน”