กรมโยธาฯ เร่งแก้ปัญหาการทรุดตัวของเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง สั่งการเร่งแก้ปัญหากรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำมูล บริเวณเหล่ากาชาด และบริเวณหน้าวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เกิดการทรุดตัว ล่าสุด นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดี ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พร้อมหารือแนวทางในการแก้ไขซ่อมแซม ให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม

นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้น พบว่าน่าจะเกิดจากบริเวณดังกล่าวมีทางน้ำใต้ดินไหลผ่านโครงสร้างจากพื้นที่ด้านหลังเขื่อน ซึ่งเป็นพื้นที่สูงมีความลาดชันระดับสูงกว่าถนนและสันเขื่อนมาก ทำให้วัสดุรองพื้นถนนและทรายบริเวณใต้ชั้นหินเรียงด้านหน้าเขื่อนไหลลงแม่น้ำตามไปด้วย เป็นเหตุให้โครงสร้างเขื่อนและถนนทรุดตัวไปตามแนวยาวของเขื่อน ความยาวประมาณ 100 เมตร กว้างประมาณ 8 เมตร ลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตร
รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมฯ ได้สั่งการให้ปิดกั้นพื้นที่ป้องกันแนวเขตอันตรายทันที และแจ้งเตือนประชาชนที่สัญจรในพื้นที่ พร้อมวางแผนการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยจะทำการรื้อถอนโครงสร้างส่วนบนของเขื่อนป้องกันตลิ่ง ทางเท้า ราวกันตก รวมถึงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่เกิดการทรุดตัวออก เพื่อลดน้ำหนักโครงสร้าง และป้องกันการทรุดตัวเพิ่ม หลังจากนั้นจะทำโครงสร้างป้องกันชั่วคราว โดยการติดตั้งแผ่น Sheet Pile และเสริมเสาเข็มไม้ตลอดแนว พร้อมเรียงหินปิด เพื่อเสริมความแข็งแรงของชั้นดินด้านบนและป้องกันหน้าดินไม่ให้ได้รับความเสียหายเพิ่ม สำหรับแนวทางการแก้ไขระยะยาว กรมฯ จะดำเนินการออกแบบแก้ไขโครงสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งให้มีความมั่นคงแข็งแรงต่อสภาพพื้นที่และคืนสภาพให้ประชาชนสามารถใช้งานเขื่อนป้องกันตลิ่งและพื้นที่หลังเขื่อนได้อย่างปลอดภัย อนึ่งสำหรับการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง กรมฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
สุดท้ายนี้ กรมฯ ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศ บูรณาการความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนทั้งหมด หากพบจุดชำรุดเสียหาย จุดเสี่ยง จุดรั่วไหลของน้ำที่ไม่รุนแรง ให้ดำเนินการซ่อมแซม แก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความชำรุดเสียหายมากไปกว่าเดิม นอกจากนี้ ให้ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ให้มีความพร้อมในการใช้งาน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเฝ้าระวังในการรับมือฤดูฝนปีนี้