อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ บูรณาการร่วมภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน”

อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ บูรณาการร่วมภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมสร้างความตระหนักรู้วันดินโลก (World Soil Day 2022)  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (9 มิ.ย. 66) นายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอศีขรภูมิ เปิดเผยว่า อำเภอศีขรภูมิบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ควบคู่ไปกับการพัฒนาดิน ภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน “Soils, where food begins.” ณ วัดบ้านหนองจิก หมู่ที่ 1 ตำบลหนองบัว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ (6 พฤษภาคม 2566) และดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชและสมุนไพร ตามโครงการ “รักษ์น้ำ(ใจ) สู่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพลิกชีวิตและความหวัง”  โดยมีพระสังฆาธิการในพื้นที่ตำบลหนองบัว พัฒนาการอำเภอศีขรภูมิ เกษตรอำเภอศีขรภูมิ ท้องถิ่นอำเภอศีขรภูมิ สารวัตรสถานีตำรวจภูธรบ้านหนองจอก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จิตอาสาพระราชทาน ภาคีเครือข่าย และประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองบัว ร่วมกิจกรรม
นายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอศีขรภูมิ เปิดเผยว่า กิจกรรม “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เป็นการน้อมนำเอา พระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงต้องการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการพระราชทานแนวพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาดิน ภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน “Soils, where food begins.” ซึ่งเป็นพระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรดินขององค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่นักปฐพีวิทยาทั่วโลก 60,000 คน ต่างร่วมเฉลิมฉลองเป็นประจำทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ให้เป็นวันดินโลก (World Soil Day) ดังนั้น “ความมั่นคงทางอาหาร” และ “การพัฒนาดิน” เป็นภารกิจสำคัญของพวกเราชาวมหาดไทยในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนงานทุกมิติในประเทศ ทั้งการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความรักสามัคคี ความปลอดภัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น้ำดื่ม น้ำใช้ ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ ทำให้คนมีกิน มีใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในครอบครัว และตนในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ตามคำปรารภของท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ) ที่ต้องการให้นายอำเภอเป็นแม่ทัพนำขุนพล ทั้งทีมทางการ คือ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ตลอดจนองคาพยพของภาครัฐ ทั้งท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมจิตอาสา อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า “ต้องพัฒนาพี่น้องประชาชนเพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อให้พื้นที่ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไปพร้อมกับหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ และโรงเรียน เพื่อทำให้สิ่งดี ๆ  ที่เกิดจากการระดมสรรพกำลังในพื้นที่ได้รับการถ่ายทอดสู่เด็ก เยาวชน ลูกหลาน ของคนอำเภอศีขรภูมิ ให้เห็นสิ่งที่ดีและเป็นต้นแบบให้พวกเขาสามารถเติบโตมาเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ใช้ความรู้ ความสามารถ เพื่อทำให้ท้องถิ่นของตนเองเป็นเมืองแห่งความสุขที่ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน นายกิตติฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายกิตติ สัตย์ซื่อ นายอำเภอศีขรภูมิ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากกิจกรรม “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” แล้วทางอำเภอศีขรภูมิ ได้นำแนวทางตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อน “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม โดยมุ่งปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม โดยเชื้อเชิญภาคีเครือข่ายในพื้นที่ หนึ่งในนั้นก็มี “ผู้นำทางศาสนา” ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่าย เพราะพระสงฆ์ดำรงฐานะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนอันส่งผลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ หรือเรียกว่าเป็น ครู คลัง ช่าง หมอ รวมถึงด้านการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชและสมุนไพร ตามโครงการ “รักษ์น้ำ(ใจ) สู่ทฤษฎีใหม่ประยุกต์ เพื่อพลิกชีวิตและความหวัง”  เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเก็บรวบรวมและขยายพันธุ์พืชและสมุนไพร โดยการแจกจ่ายต้นกล้าหรือเมล็ดพันธุ์ให้กับครัวเรือนยากจนรวมไปถึงคนในชุมชนได้นำไปเพาะปลูกภายในครัวเรือนของตนเอง
“ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งด้านการสร้าง “ความมั่นคงทางอาหาร” และ “การพัฒนาดิน” รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ขยายพันธุ์พืชและสมุนไพร อำเภอศีขรภูมิพร้อมขยายผลไปท้องที่ท้องถิ่น หมู่บ้านอื่น ๆ ของอำเภอศีขรภูมิ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสุข สร้างสรรค์ และสร้างความสามัคคี อันจะส่งผลให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายกิตติฯ กล่าวทิ้งท้าย