ปลัด มท. เป็นประธานเปิด “ถนนสายแหลมงอบ-หาดทรายดำ (ก 2)” ตามโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

ปลัด มท. เป็นประธานเปิด “ถนนสายแหลมงอบ-หาดทรายดำ (ก 2)” ตามโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เน้นย้ำ “ราชการต้องร่วมกับราษฎร” พัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพทุกด้านสร้างความยั่งยืนให้กับคนไทย

วันนี้ (8 มิ.ย. 66) เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดถนนโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ผู้บริหารกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บริหารจังหวัดตราด หัวหน้าส่วนราชการ นายชัชชัย ลิ้มภักดี นายอำเภอแหลมงอบ นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด นายพิภพ ลัยนุชพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมงอบ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการการจัดรูปที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำ และภาคีเครือข่าย รวมกว่า 300 คน ร่วมในพิธี

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ร่วมรับชมการแสดงชุด “สีสันทะเลตะวันออก” ที่สะท้อนสีสันทะเลตะวันออก เมืองผลไม้ และวิถีชีวิตคนตราด โดยคณะนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคตราด และกดปุ่มเปิดแพรป้ายโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำเพื่อเปิดการใช้ถนนอย่างเป็นทางการ จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ร่วมมอบโฉนดที่ดินโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำ (แปลงใหม่) ให้แก่เจ้าของที่ดิน จำนวน 8 ราย และร่วมปลูกพันธุ์ไม้ ได้แก่ ต้นรามใหญ่ ต้นสารภีทะเล และต้นจิกทะเล ในบริเวณถนนโครงการฯ

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ถนนโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำที่ปรากฏให้ทุกภาคส่วนได้เป็นสักขีพยานแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการทำให้เราได้มีโอกาสช่วยกันทำให้พื้นที่ธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถให้พี่น้องประชาชนจากทุกสารทิศ เดินทางมาเยี่ยม แวะมาศึกษาธรรมชาติ มาหาความสุข มาดูตัวอย่างการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ในพื้นที่จังหวัดตราดได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 การสร้างหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองนั้น “ผมเป็นคนแหลมงอบ” การได้มาเปิดงานร่วมกับพี่น้องทุกท่าน ณ ที่นี้ จึงเป็นเหมือนการได้กลับมาพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนชาวตราดและคนไทยทุกคน

“การร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน คือ เจ้าของที่ดิน ร่วมกับภาคราชการอันประกอบไปด้วยกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมที่ดิน การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมงอบ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงความสำเร็จเบื้องต้น เพราะความสำเร็จที่เห็นในวันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นความร่วมมือและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งการคมนาคม ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบประปา ที่ยังรอให้พวกเราทุกคนที่นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ท่านนายอำเภอแหลมงอบ และพี่น้องประชาชนชาวอำเภอแหลมงอบทุกคน ได้ช่วยกันต่อยอดความสำเร็จให้สมบูรณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้มีจิตใจเสียสละในการที่จะช่วยกันในการพัฒนาต่อยอดให้ถนนมูลค่า 34 ล้านบาทเศษทั้งสองฝั่งถนนนี้ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในจังหวัดตราด ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ให้แผ่ขยายเต็มพื้นที่สองฝั่งถนน เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สำคัญและช่วยทำให้พี่น้องประชาชนที่มาเยี่ยมเยือนได้พบกับความร่มเย็น ความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงาม ด้วยการปลูกพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ทั้งที่เป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร หรือเป็นต้นไม้ที่เสริมสร้างระบบนิเวศที่ทำให้ทุกคนมีความชื่นอกชื่นใจนอกเหนือจากการมีถนนคอนกรีตที่แข็งแรงมั่นคง และขอให้พวกเราทุกคนได้เสริมสร้างความยั่งยืนด้วยการส่งต่อข้อมูลด้วยการบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่แห่งนี้ ไปยังเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับทราบและซึมซับถึงกลิ่นไอของความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องประชาชนชาวอำเภอแหลมงอบ ทำให้เขาได้ภาคภูมิใจในความเป็นคนแหลมงอบ และทำให้พันธุ์ไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น มะพร้าวน้ำหอม รวมถึงต้นไม้หลากหลายชนิดในพื้นที่ได้รับการดูแลให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ขอให้นายอำเภอแหลมงอบได้บูรณาการภาคีเครือข่าย เชิญชวนเจ้าของที่ดินบริเวณถนนในพื้นที่อำเภอแหลมงอบ ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลแหลมงอบร่วมกับพี่น้องประชาชนจิตอาสาช่วยกันทำให้เป็นถนนที่น้อมนำแนวพระราชดำริ ฯ ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ยาสมุนไพร โดยสามารถร่วมกับโรงพยาบาลแหลมงอบที่มีแพทย์แผนไทย ด้วยการปลูกพืชจำพวกสมุนไพร มะกรูด หัวข่า ขมิ้น และพืชที่สามารถนำมาใช้ทำลูกประคบและวัตถุดิบในครัวเรือน ก็จะทำให้ต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นเพิ่มเติม และเป็นหลักประกันว่าลูกหลานเกิดมาก็จะได้มีนิสัยที่เป็นคนขยันขันแข็ง เพราะเห็นผู้ใหญ่ได้ทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงมีเป้าหมายที่ตรงกันกับกิจกรรมในวันนี้ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ “ราชการต้องร่วมกับราษฎร” นั่นคือ พี่น้องประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ และช่วยกันในการที่จะทำสิ่งที่ดีหรือ Change for Good ให้เกิดขึ้น โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการป้องกันหน้าดินไม่ให้พังทลาย และกระตุ้นให้คนรักสุขภาพ ชมรมออกกำลังกายมาใช้พื้นที่นี้ให้เป็นลานอเนกประสงค์ ลานกีฬาชุมชน รำไทเก๊ก แอโรบิคแดนซ์ และทำให้มีสิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นเพิ่มพูนมากขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่และพี่น้องสื่อมวลชน ได้ช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ว่า หากมีพื้นที่อื่นที่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดตราดและพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ประสงค์อยากให้ทางราชการ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อทำให้ที่ตาบอดได้รับการพัฒนาต่อยอดกลายเป็นที่ที่มีความเจริญ การคมนาคมขนส่งสะดวก อันจะทำให้เกิดประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินและต่อชุมชนสังคมส่วนรวม ซึ่งหากเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่ดีขึ้น การจัดเก็บภาษีอากรและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ก็จะดีขึ้น เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำแห่งนี้ ที่เจ้าของที่ดินได้เสียสละทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยสามารถแจ้งได้ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดหรือนายอำเภอ รวมถึงสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการ

“ศูนย์ดำรงธรรมไม่ได้จัดตั้งขึ้นไว้สำหรับรับเรื่องร้องเรียนอย่างเดียว แต่ยังเป็นช่องทางในการเสนอแนะการพัฒนาจังหวัด แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาตำบล/หมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้มีข้อมูลในการบริหารจัดการเมืองและการพัฒนาเมือง จึงขอให้เชิญชวนพวกเราทุกคนได้ช่วยกันเพื่อที่จะทำให้ความเจริญของบ้านเมืองกระจายไปทุกหย่อมหญ้า ควบคู่ไปกับการที่เราใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม และขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดชื่อถนนเส้นนี้ว่า “ถนนสายแหลมงอบ-หาดทรายดำ (ก 2)” เพื่อให้ถนนแห่งนี้เป็นเส้นทางประชาสัมพันธ์หาดทรายดำเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้าย

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองและชุมชน โดยเชิญชวนให้ประชาชนเจ้าของที่ดินนำแปลงที่ดินมารวมกันเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานเข้าถึงที่ดินทุกแปลงพร้อมกับการจัดรูปแปลงที่ดินใหม่ให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่ 53 จังหวัด 67 โครงการ ก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ 16,825 ไร่ คิดเป็นจำนวนแปลงที่ดินที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น 5,450 แปลง มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 44,737 ล้านบาท ถนนได้รับการพัฒนาเป็นระยะทาง 190 กิโลเมตร โดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ซึ่งทำให้รัฐประหยัดงบประมาณกว่า 2,450 ล้านบาท
“โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณทางเข้าหาดทรายดำนี้ มีขนาดพื้นที่โครงการเพียง 96 ไร่เศษ แต่ด้วยความตั้งใจของเจ้าของที่ดินทั้ง 13 ราย ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตน จึงเข้าร่วมกับโครงการจัดรูปที่ดินฯ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินตาบอด และพัฒนาถนนโครงข่ายการสัญจรที่สำคัญในพื้นที่ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563-2565 จำนวน 34,741,500 บาท สำหรับก่อสร้างถนน พร้อมระบบระบายน้ำ ขยายเขตไฟฟ้า ประปา และสะพานข้ามคลองปอ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 และให้องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมงอบใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ช่วยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหาดทรายดำ มีเส้นทางสัญจรที่สะดวกปลอดภัย สร้างให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะและเป็นส่วนในการสนับสนุนการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในชุมชน วันนี้โครงการฯ ได้ออกโฉนดที่ดินแปลงใหม่สำหรับมอบให้แก่เจ้าของที่ดินและพร้อมเปิดให้ใช้ถนนอย่างเป็นทางการ แล้ว โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง จะได้พัฒนาพื้นที่แห่งอื่น ๆ ต่อไป” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติม

นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวในช่วงท้ายว่า “โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองที่สามารถแก้ปัญหาโครงข่ายคมนาคม และการพัฒนาการท่องเที่ยวบริเวณป่าชายเลน และหาดทรายดำได้เป็นอย่างดี จากการจัดรูปแปลงที่ดินและก่อสร้างถนนโครงการตามผังเมืองรวมชุมชนแหลมงอบ สาย ก 2 เพื่อเชื่อมโยงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3148 (ตราด-แหลมงอบ) กับถนนตราด-แหลมงอบอินน์ พัฒนาประโยชน์ที่ดินให้เต็มศักยภาพ จากที่ดินตาบอด 11 แปลง ให้มีทางเข้าออก พร้อมรับการพัฒนาตามผังเมืองรวมชุมชนแหลมงอบ ทั้งนี้ ปรับปรุงและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการอยู่อาศัย รวมถึงยังเป็นการสร้างความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และมาตรฐานการอยู่อาศัยที่ดี นอกจากนี้ แกนหลักสำคัญของโครงการจัดรูปที่ดินฯ คือ การพัฒนาเมืองที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองรวม ทำให้เห็นผลลัพธ์เชิงประจักษ์จากการที่ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณการเวนคืนที่ดิน และภาคเอกชนได้มีรูปแปลงที่ดินใหม่ที่สวยงาม มีถนน ไฟฟ้า ประปา เข้าถึงทุกแปลง มูลค่าที่ดินเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า และยังช่วยในการรองรับการขยายตัวของชุมชนให้เกิดความน่าอยู่ในระยะยาว มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าในทุกมิติของการพัฒนา”