ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยปลัด มท. และคณะ ลงพื้นที่ร่วมประชุมเตรียมการจัดแสดงโขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง”

ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ร่วมประชุมเตรียมการจัดแสดงโขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ด้านผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช เน้นย้ำ มีความพร้อม 100% ในการจัดแสดง ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 66 นี้ ณ สนามหน้าเมือง

วันนี้ (6 มิ.ย. 66) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมศรีวิชัย ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช คุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง (บริษัท สหศีนิมา จำกัด) และนายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานร่วมการประชุมเตรียมความพร้อมจัดการแสดงโขนพระราชทาน ประจำปี 2566 เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” โดยมี คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจารย์เฉลิมศักดิ์ ปัญญวัตวงศ์ ผู้กำกับการแสดง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย ร่วมประชุมกว่า 100 คน

คุณหญิงจันทนี ธนรักษ์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความปรารถนาดีและความรัก ความห่วงใย ต่อพสกนิกรของพระองค์ท่าน ในการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมสำคัญของชาติ คือ การแสดงโขนพระราชทาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เดินทางมาประชุมเตรียมการแสดงโขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ในวันนี้ เพื่อถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของแผ่นดินไทยให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการประชุมในวันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่พวกเราทุกคนทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มาพบกันเพื่อเตรียมการจัดแสดง ตามที่ทางจังหวัดได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระมหากรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดการแสดง ซึ่งการจัดแสดงในครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงครั้งที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยพระองค์ได้พระราชทานพระมหากรุณาให้คณะนักแสดงโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุงนำโขนพระราชทานสัญจรไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยทรงมีพระราชปณิธานตั้งแต่ทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติว่า “ทรงปรารถนาให้มีการแสดงโขนพระราชทานให้ประชาชนในทุกจังหวัดได้รับชม” เพราะทรงเห็นว่าประชาชนต่างจังหวัดจะไม่มีโอกาสได้ชมโขนสดเหมือนประชาชนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องได้รับใส่เกล้าฯ และพยายามวางแผนการสัญจรจัดแสดงปีละ 4 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“การจัดแสดงโขนพระราชทานเป็นการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอดการจัดแสดงโขนที่ได้จัดแสดงมาตั้งแต่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และมาหยุดแสดงในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งเป็นที่น่าชื่นชมยินดีที่ในปักษ์ใต้ คณะฯ ได้มาที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดแรก ซึ่งต้องขอขอบพระคุณปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยที่ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน รวมทั้งส่งเสริมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำสินค้าชุมชนมาออกร้านจำหน่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และทำให้ประชาชนผู้ชมได้ร่วมกันอนุรักษ์ ได้จับจ่ายใช้สอยสินค้าของชุมชน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนทุกช่วงวัยได้ศึกษาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาผ่านนิทรรศการเล่าขานความเป็นมาของโขน ซึ่งได้รับยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับโลกและเป็นมรดกของชาติที่สำคัญที่เราต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้คงอยู่ ซึ่งการแสดงโขนนั้น “ถ้ามีคนเล่นโขน แต่ไม่มีคนดูโขน ก็จะไม่เกิดพลัง ไม่เกิดแรงที่จะรักษาเอาไว้ได้ ดังนั้น การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติอยู่ที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องช่วยกันดูแลรักษา ด้วยการ “มาให้กำลัง” “มาดูผู้แสดงเล่น” เพราะโขนไม่ได้แสดงง่าย ๆ ผู้แสดงต้องฝึกฝนเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ต้องดัดขา ดัดมือ ดัดร่างกาย หมั่นเพียรเรียนการดนตรี การร่ายรำ รวมถึงส่งเสริมงานหัตถศิลป์เรื่องเสื้อผ้า และงานช่างสิบหมู่ การทำศีรษะโขน ซึ่งล้นเกล้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์ ให้รักษาไว้” คุณหญิงจันทนี ฯ กล่าว

“เมื่อเรานำโขนมาเล่นให้เด็ก เยาวชน ลูกหลานได้รับชม พวกเขาสามารถจับต้องได้จริง ๆ สามารถสัมผัสและกล้าที่จะร้องเล่นไปด้วย เช่น จังหวะพากย์เสียง “เพ้ย” เด็ก ๆ ที่มาชมก็จะร้องไปด้วย โดยมีคณะโขนศาลาเฉลิมกรุงเป็นผู้ถ่ายทอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่เขาสามารถสัมผัสได้ ทำให้เกิดความสนใจ ใส่ใจในการศึกษาวรรณคดีของชาติที่ทุกวันนี้ค่อนข้างจะได้รับความสนใจจากเด็กน้อยลง และการแสดงในครั้งนี้ จะได้ถ่ายทอดสิ่งดี ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนชาวนครศรีธรรมราชได้ร่วมรับชม โดยก่อนทำการแสดง จะได้มีการจัดพิธีบวงสรวงด้วยการกราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพบูชาของคนในพื้นที่ ทั้งศาลหลักเมือง และพระมหาธาตุนครศรีธรรมราช ด้วยบทบวงสรวงที่ได้รับการประพันธ์เฉพาะของพื้นที่ อันเป็นขนบในการกราบไหว้ขอขมาแผ่นดินที่เราไปใช้จัดแสดง โดยครูเฉลิมศักดิ์ ปัญญวัตวงศ์ และจะมีการพานักแสดงได้ไปกราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองนครที่ควรเรียนรู้ทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ความเป็นไทยด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผู้มีจิตใจมุ่งมั่นในการสนองแนวพระราชปณิธานแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในทุกด้าน และพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นการแสดงความมีน้ำใสใจจริงของพวกเราทุกคนในการมุ่งมั่นปฏิบัติราชการ ซึ่ง “โขนพระราชทาน” มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำให้ “ประเทศไทยมีความมั่นคง” เพราะงานศิลปวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างอัตลักษณ์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ และเป็นสิ่งสร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชนด้วย ทั้งนี้ ความภาคภูมิใจของคนในชาติต่อ “โขน” ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในสากล เป็น Soft Power ของโลก เพราะเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศรับรองให้ “โขนไทย (Khon, masked dance drama in Thailand)” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติ

“พี่น้องประชาชนชาวนครศรีธรรมราชสามารถภาคภูมิใจในส่วนสำคัญของการแสดงโขน คือ “เครื่องแต่งกาย” เพราะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของโขนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นผลงานที่สำคัญของสกุลช่างเมืองนคร ที่ทำให้โขนมีเสื้อผ้าเครื่องประดับเครื่องตกแต่งที่สวยงาม ทั้งผ้ายกเมืองนคร ฯลฯ ที่ใช้ในราชสำนักก็มาจากนครศรีธรรมราช ดังนั้น การที่เราได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดโขนพระราชทาน เป็นเครื่องตอกย้ำชื่อเสียงถึงความเป็น “มหานครศิลปวัฒนธรรมที่มีความสำคัญของชาติ” จึงขอแสดงความยินดีและเป็นกำลังใจให้พวกเราทุกคนได้ช่วยกันจัดเตรียมความพร้อมในการที่จะรองรับพี่น้องประชาชนและอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขร่วมกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายผู้ชม ขอให้เน้นความหลากหลายของพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้สูงอายุ เพราะที่ผ่านมา เช่น ที่จังหวัดสระบุรี มีคุณยายอายุ 90 ปี พาคุณยายมาชมทั้ง 2 คืน เพราะตลอดชีวิตยังไม่เคยรับชม และสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ คือ มีเด็กเล็ก ๆ มายืนเต้นเลียนแบบโขนตัวลิง (หนุมาน) ไปด้วย เพราะเด็กเขาชอบ ซึ่งการจัดแสดงนี้ ก็ทำให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นโขน “และทุกตัวละครล้วนสะท้อนความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของบรรดาอาสาไพร่พล คือ ทศกัณฑ์แห่งกรุงลงกา และพระราม พระลักษมณ์ แห่งกรุงอโยธยา อันเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่า เป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ต้องช่วยกันปลูกฝังให้กับลูกหลาน” “เพื่อให้ประชาชนมีความสุข” สมดังพระราชปณิธาน และประการที่สำคัญที่สุดที่ชาวนครศรีธรรมราชโชคดีกว่าทุกจังหวัด เพราะเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนแห่งวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอให้ถือโอกาสนี้ ทำให้เราทุกคนได้สนองพระเดชพระคุณในการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย เป็นการปฏิบัติบูชาด้วยการทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย” ปลัด มท. กล่าวเน้นย้ำ

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า โขนเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมชั้นสูงของประเทศไทย ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานการแสดงโขนให้มาจัดแสดงในตอน หนุมานชาญกำแหง ซึ่งเชื่อมั่นว่าทุกท่านจะมีความสนุกและจดจำตลอดทั้งตอน นอกจากนี้ ในการแสดงครั้งนี้ ยังเป็นการที่เราจะได้มีส่วนช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP อุดหนุนสินค้าชุมชน ตลอดทั้ง 2 วัน คือวันที่ 22 – 23 กรกฎาคม 2566 จึงขอให้ทุกส่วนงานได้ร่วมกันเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้มาชมโขนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งและมาช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ยังผลให้พี่น้องผู้ประกอบการในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

คุณนฤมล ล้อมทอง กล่าวว่า การจัดแสดงโขนพระราชทานของโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2552 ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทั้งนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีศิลปวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาก โดยการแสดงโขนพระราชทานสัญจรของศาลาเฉลิมกรุง มีการเดินเรื่องที่แตกต่างจากโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ คือ เป็นการแสดงที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ยาว เป็นบทพากย์เจรจา เดินเรื่องด้วยความรวดเร็ว และใช้แสง (Lighting) ทำอารมณ์ของฉาก (Scene) เช่น ฉากรบ สีร้อนแรง ฉากรัก สีนุ่มนวล ฉากใต้น้ำ มีสีบรรยากาศเหมือนใต้น้ำจริง ๆ เป็นโขนดั้งเดิมที่ถ่ายทอดอารมณ์ผ่านแสงและเสียง ทำให้ผู้รับชมได้รับอารมณ์ร่วม ตลอด 8 ฉาก ในเวลา 2 ชั่วโมง และยังส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคนั้น ๆ ด้วยการแสดง “หน้าม่านเบิกโรง” โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชจะเป็นการ “รำโนราเบิกโรง” อันเป็นพิธีกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คนในภาคใต้ ที่ UNESCO ได้ประกาศรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) ของมวลมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564

“การแสดงในครั้งนี้มีฉากที่เกี่ยวข้องกับชีวิตหนุมาน ตั้งแต่กำเนิดหนุมาน โดยใช้ผู้แสดงเป็นเด็กเล็กจริง ๆ วานรอ่อนแรงด้วยต้องคำสาบเพราะซุกซน อาสาพระรามสืบหานางสีดา ไปช่วยนางสีดา เผากรุงลงกา กระทั่งเมื่อรบชนะก็ได้ครองเมืองขีดขิน ซึ่งจะเป็นการเดินเรื่องแบบรวดเร็ว และทำให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงการแสดง เพราะเวลาเล่นจะมีการสื่อสารถึงเด็กและเยาวชนตรง ๆ ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับผู้รับชม” คุณนฤมล ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายอภินันท์ เผือกผ่อง กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในครั้งนี้ พร้อมเน้นย้ำว่า มีความพร้อม 100% ในการเป็นสถานที่จัดแสดงโขนพระราชทาน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด “หนุมานชาญกำแหง” ในระหว่างวันที่ 22 – 23 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณสนามหน้าเมือง โดยคาดว่าจะมีผู้รับชมไม่น้อยกว่า รอบละ 8,000 คน รวม 2 วัน เป็นจำนวน 16,000 คน โดยบูรณาการทีมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนของจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสนับสนุนการจัดแสดง และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียงร่วมรับชมได้ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันและสถานที่ดังกล่าว ซึ่งจะได้มีการแถลงข่าวการจัดแสดงในโอกาสต่อไป