ผู้ว่าฯ ลพบุรี เผยทุกอำเภอนำผลสำเร็จ “บ้านโก่งธนู” ขยายผลน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน”

ผู้ว่าฯ ลพบุรี เผยทุกอำเภอนำผลสำเร็จ “บ้านโก่งธนู” ขยายผลน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” ด้วยการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อยกระดับลพบุรีเป็น “จังหวัดแห่งความยั่งยืน” ตามเป้าหมาย SDGs

วันนี้ (3 มิ.ย. 66) นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดลพบุรีมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วยการบูรณาการพลังภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน โดยมีพื้นที่ตัวอย่างการขับเคลื่อน คือ พื้นที่หมู่ที่ 5 บ้านเกาะ ตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างร่วมมือกันในการหลอมรวมพลังความรู้รักสามัคคี เป็นภาคีเครือข่าย หรือที่เรียกว่า “ทีมตำบล” แบบจิตอาสา ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” และยังมีการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดทำระบบธนาคารน้ำใต้ดิน การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือน การบริหารจัดการขยะครบวงจร เป็นหมู่บ้าน 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) นำไปสู่การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนจากขยะ และการใช้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในเรื่องของการสานพัดมาขึ้นรูปจัดทำเป็นพวงหรีดเคารพศพแบบภูมิปัญญาโบราณสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยอย่างมีไมตรีจิตด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมห่วงหาอาทรเกื้อกูลช่วยเหลือกัน เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

“จากการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืนข้างต้นอันเกิดจากผู้นำคนสำคัญ คือ นายบรรหาญ เนาวรัตน์ หรือ “นายกแดง” นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู และนางแสงจันทร์ ระวังกิจ (ปลัดแสงจันทร์) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารฝ่ายข้าราชการประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทำให้เกิดการบูรณาการภาคีเครือข่ายตามเป้าหมายที่ 17 คือ การสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ที่ทำให้ทุกคนในหมู่บ้านสามารถเป็น partner ไปด้วยกัน โดยมีภาคราชการเป็นผู้นำ และได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากผู้ใหญ่ใจดี คือ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี ทำให้เกิดมรรคผลจนกระทั่ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 จังหวัดลพบุรี ได้มีโอกาสต้อนรับคุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และคณะผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่บ้านเกาะหมู่ที่ 5 และวัดญาณเสน ตำบลโก่งธนู ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เพื่อรับทราบถึงแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืนตามแนวทางพระดำริสมเด็จพระลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งทาง UN ชื่นชมกระทรวงมหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” และ “Fashion Sustainability” ในด้านต่าง ๆ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบแนวทางการดำเนินงานให้กับจังหวัดลพบุรีขยายผลความสำเร็จตามแนวพระดำรินี้ให้พี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ทุกตำบล ทุกอำเภอในจังหวัดลพบุรี ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมรับประโยชน์ อันจะทำให้จังหวัดลพบุรีเป็นจังหวัดแห่งความยั่งยืนในทุกมิติ” นายอำพล ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดลพบุรี ได้ร่วมกับนายอำเภอทุกอำเภอ นำผลสำเร็จของการขับเคลื่อน “บ้านโก่งธนู” ขยายผลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยใช้กลไก “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” เป็นหัวใจของการขับเคลื่อน สร้าง “ทีมตำบล” และ “ทีมหมู่บ้าน” เป็นภาคีเครือข่ายผนึกกำลังให้เกิดการพุ่งเป้าเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ผ่านกิจกรรม อาทิ การบริหารจัดการขยะของหมู่บ้าน/ชุมชน การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้สร้างความมั่นคงด้านอาหาร การบริหารจัดการสวัสดิการชุมชน ตามลำดับความสำคัญและตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งรายงานผลการขับเคลื่อนไปยังจังหวัดลพบุรีในทุกเดือน เพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี และผู้บริหารจังหวัด จะได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจทีมงานผู้เป็น “แม่ทัพขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน” และร่วมกันนิเทศ ติดตาม ประเมินผล ทำให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์เพิ่มพูนขึ้น

“สิ่งสำคัญที่จังหวัดลพบุรีเน้นย้ำกับหัวหน้าส่วนราชการในการประชุมกรมการจังหวัด ตลอดจนเน้นย้ำนายอำเภอทุกอำเภอ และฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ผ่านการประชุมทุกครั้ง คือ “ความมุ่งมั่นตั้งใจ” ด้วยการที่ทุกคนจะต้องมี “ใจ” หรือ “อุดมการณ์” แห่งการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเมื่อทุกคนมีใจแล้ว “ความศรัทธาก็จะแรงกล้า” กายมันก็จะตามมา ดังภาษิต “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” และเมื่อร่างกายตามใจของเราแล้ว อะไร ๆ มันก็จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่ดีมันก็จะเกิดขึ้นได้ โดยเมื่อสิ่งเหล่านี้หลอมรวมกันเป็น “พลัง” การขับเคลื่อนเพื่อสร้างสิ่งที่ดี หรือสร้างความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น และหลังจากนี้ ตนพร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในระดับจังหวัด จะได้ลงติดตามถามไถ่ทีมงานทุกระดับอย่างต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ เพื่อทำให้ทีมงานเกิดความเข้มแข็ง เกิดพลังอันมหาศาล และพี่น้องประชาชนก็จะเกิดความอุ่นใจ เพราะ “ข้าราชการไม่ทอดทิ้งประชาชน” แต่เราจะ “ทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน” พัฒนาไปกับพี่น้องประชาชน ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาหารการกินที่บริบูรณ์ มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง มีชีวิตที่ยืนยาวนานด้วยสุขภาพที่แข็งแรง ในสังคมที่ผาสุกปลอดภัย ทั่วทั้งจังหวัดลพบุรี เป็น “จังหวัดแห่งความยั่งยืน” และนำเสนอกระทรวงมหาดไทยเพื่อขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป” นายอำพล ฯ กล่าวในช่วงท้าย