กระทรวงมหาดไทยโค้ชชิ่งกระบวนการสร้างสรรค์งานเพื่อ “สื่อสารสังคม” ให้กับข้าราชการใหม่ มุ่งเสริมเติมเต็มเครื่องมือการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

กระทรวงมหาดไทยโค้ชชิ่งกระบวนการสร้างสรรค์งานเพื่อ “สื่อสารสังคม” ให้กับข้าราชการใหม่ มุ่งเสริมเติมเต็มเครื่องมือการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนก่อนลงไปปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานจังหวัดทั่วประเทศ

วันนี้ (2 มิ.ย. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของข้าราชการและบุคลากรในสังกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าราชการใหม่” เพื่อให้ได้รับการบ่มเพาะทักษะจากการถ่ายทอดประสบการณ์ของข้าราชการรุ่นพี่ที่ได้ปฏิบัติราชการมาก่อน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์งาน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการของข้าราชการใหม่ที่จะต้องได้รับคำสั่งให้ไปบรรจุเพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ต่อไป

“เพราะการพัฒนาคน เป็นแนวทางที่สำคัญในการทำให้คนไปพัฒนางาน คิดริเริ่มสร้างสรรค์งาน เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อสืบสานปณิธานในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการเป็นคนมหาดไทยที่ดีนั้น คือการเป็นข้าราชการที่ดี ด้วยการน้อมนำพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นหลักคิด หลักปฏิบัติในการทำงาน กำหนดเป้าหมาย มุ่งทำงานแบบบูรณาการ ผสมงานผสานกายผสานใจรวมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสำนัก/กอง ทุกสำนักงานจังหวัด และส่วนราชการต่าง ๆ ที่ต่างก็เป็นเพื่อนพี่น้องมหาดไทยในลักษณะ “มหาดไทยเดียว” เป็น MOI ONE TEAM ไม่แบ่งแยกเป็นไซโล ด้วยการพูดคุยประสานงานร่วมกัน เสริมสร้างความรักใคร่ปรองดองให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยข้าราชการรุ่นน้องเรียนรู้งานกับข้าราชการรุ่นพี่ เพื่อให้ได้รับเทคนิคการทำงานจากประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นการทำให้ได้รู้จักงาน รู้จักคน เป็นเหมือนการศึกษาต้นไม้ที่หลากหลายต้น และเมื่อเห็นต้นไม้หลายต้นรวมกันก็จะเห็นป่า ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจงานทุกส่วนอย่างรอบด้าน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการกระบวนการสร้างสรรค์งานเพื่อ “สื่อสารสังคม” ให้กับข้าราชการใหม่ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ นักวิชาการพัสดุปฏิบัติการ และนายช่างไฟฟ้าปฏิบัติงาน โดยมีการเสริมทักษะด้านการเขียนข่าว การผลิตงานวิทยุและการเป็นพิธีกร การถ่ายภาพและการถ่ายวิดีโอเพื่อสื่อสาร การผลิต Infographic และการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติด้วยการลงพื้นที่จริงในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมวันดินโลก ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins.)” ให้กับข้าราชการ บุคลากร ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่มารับบริการในบริเวณกระทรวงมหาดไทย และประชาชนที่พักอาศัย ที่มาประกอบอาชีพจำหน่ายสินค้าบริเวณชุมชนวัดราชบพิธ ด้านหลังกระทรวงมหาดไทย เพื่อเน้นย้ำสร้างความรับรู้ให้สังคมได้ให้ความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี นำไปสู่ความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามมา ภายใต้แนวคิด One Health ซึ่งหมายถึง การพัฒนาสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ภายใต้เป้าหมาย การพัฒนาความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน หรือ Four better ประกอบด้วย Better Production (การผลิตที่ดี) Better Nutrition (โภชนาการที่ดี) Better Environment (สิ่งแวดล้อมที่ดี) Better Life (ชีวิตที่ดี)

“ข้าราชการทุกคน ทุกตำแหน่งสามารถเป็นนักสื่อสารได้ โดยจะต้องมีการสื่อสารที่สร้างสรรค์ ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงพี่น้องประชาชน นำเสนอแนวทางการสื่อสารผ่านสื่อที่อยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด และขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจประเด็นที่ต้องการสื่อสาร ด้วยการลงพื้นที่ไปสัมผัส ไปสื่อสาร ไปพูดคุยหารือปัญหา พบปะภาคีเครือข่ายด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนหวาน อ่อนโยน ควบคู่ไปด้วย “เพราะการสื่อสารหรือการรายงานผล (Report) ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ” เป็นสิ่งที่จะทำให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่า ขณะนี้มีกิจกรรมอะไร เป็นต้น โดยการรายงานผลจะประกอบด้วย การรายงานผลทางแคบ หรือตามสายบังคับบัญชา และการรายงานผลทางกว้าง หรือ คนรอบ ๆ ตัว เพื่อนร่วมงาน คนในองค์กร ไปจนถึงประชาชน และประชาคมโลก อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหา (Contents) อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมหรือไม่ แต่ต้องมีการสื่อสาร เพราะจะนำมาสู่การยอมรับนับถือจากคนภายนอก เพื่อเชิญชวนให้มาร่วมเป็นเครือข่ายในการทำงาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประสบความสำเร็จอย่างมีพลัง ซึ่งดร.ไมตรี อินทุสุต ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสื่อสารสังคม ได้เคยกล่าวไว้ว่า การสื่อสารที่ดีต้องทำให้เกิดภาพลักษณ์ (Brand) ที่จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ 5C คือ Content (เนื้อหา) Creative (สร้างสรรค์) Charisma (มีเสน่ห์) Characteristic (มีเอกลักษณ์) และ Colorful (มีสีสัน ตื่นเต้น ตื่นใจ) ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถสร้างความประทับใจ ทำให้ชนะใจ และต้องทำได้ด้วยหัวใจ มีความจริงใจ โดยจะต้องระมัดระวังการใช้คำที่มีข้อจำกัด เช่น ใช้ได้เฉพาะในบริบทบางพื้นที่ สื่อสารแล้วทำให้เข้าใจไม่ครบถ้วน เกิดความสับสนว่าต้องการจะสื่อสารอะไร ประการต่อมา ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดเชิงลบที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และต้องไม่สื่อสารนำเสนอผลงานที่ชื่นชม ยกยอ ผู้นำจนเกินไป ให้นำเสนอเนื้องาน และผลงานที่เป็นรูปธรรม เป็นเชิงประจักษ์ บนพื้นฐานความสุจริต และให้เสนอข่าว การทำงาน ที่เกิดความร่วมมือกับภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เกิดจากความร่วมมือในพื้นที่จริง จึงจะสามารถสื่อสารเพื่อนำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดความศรัทธากับองค์กรได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า การทำงานให้ประสบความสำเร็จ (Success) นั้น สิ่งสำคัญที่ข้าราชการทุกคนต้องมี คือ คำว่า อุดมการณ์ (Passion) และทัศนคติ (Attitude) ที่หลอมรวมประกอบกับความรู้ (Knowledge) และความสามารถ (Ability) กล่าวคือ คนที่มีความรู้น้อย แต่มีจิตใจมุ่งมั่น ก็จะสามารถ Change for Good ทำในสิ่งที่ดีให้สำเร็จได้ หรือที่สำนวนภาษิตไทยเรียกว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ดังนั้น คุณสมบัติที่สำคัญของคนมหาดไทยจึงต้องเป็นคนที่มีจิตอาสา มีความเสียสละ ทำในสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้มันดีกว่าเก่า ให้ดีเพิ่มขึ้น มีอุดมการณ์ ทัศนคติ และใช้ความรู้ความสามารถจากการศึกษาเล่าเรียน จากประสบการณ์การทำงาน เพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยหลักการทำงาน 3 ประการ หรือ RER ประการที่แรก คือ ทำหน้าที่ประจำ (Routine Job) ที่ต้องทำให้ดี อย่าให้บกพร่อง และต้องมีการประเมิน วิเคราะห์ เสนอแนะเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ประการที่สอง คือ งานนโยบายพิเศษเพิ่มเติมที่ไม่ใช่หน้าที่ประจำ (Extra Job) ที่ต้องมีจิตอาสา สนับสนุนงานผู้บังคับบัญชา ทำให้งานสำเร็จเพิ่มพูนขึ้นได้ ประการที่สาม ต้องมีการรายงานความก้าวหน้าของงาน (Report) ทั้งต่อผู้บังคับบัญชาและสาธารณชน และต้องทำหน้าที่โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว ต้องเป็นคนที่กล้าคิด กล้าเสนอ กล้าแนะนำ ทำหน้าที่เป็น “ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี” คือ การโน้มน้าวนำเสนอสิ่งที่ดีต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาเห็นด้วยและทำตามที่เราเสนอ และยิ่งไปกว่านั้นเราต้องคิดเสมอว่า “กระทรวงมหาดไทยเป็นของเรา งานของกระทรวงมหาดไทย งานของทุกกรม รวมถึงงานของทุกกระทรวงที่ลงไปสู่ระดับพื้นที่ทุกงานก็เป็นของเรา เราจึงต้องทำทุกงาน ทุกหน้าที่ให้สำเร็จ ให้บังเกิดผลที่ดีกับพี่น้องประชาชนทุกคน ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว