เผยแพร่ |
---|
ดีเดย์ มท. เชิญชวนทุกภาคีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้อนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรดิน เนื่องในโอกาสวันดินโลก (World Soil Day 2022) ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins.)” ด้าน ปลัด มท. เผยกำหนด มิ.ย. – ก.ค. 66 เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ Great food from good soil for better life awareness months
วันนี้ (1 มิ.ย. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในระหว่างวันเสาร์และวันอาทิตย์ ที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีเป้าหมายเพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และร่วมส่งเสริมการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เนื่องในโอกาสวันดินโลก ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins.) ซึ่งเน้นความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี นำไปสู่ความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดีตามมา ภายใต้แนวคิด One Health ซึ่งหมายถึง การพัฒนาสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ภายใต้เป้าหมาย การพัฒนาความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 4 ด้าน หรือ Four better ประกอบด้วย Better Production (การผลิตที่ดี) Better Nutrition (โภชนาการที่ดี) Better Environment (สิ่งแวดล้อมที่ดี) Better Life (ชีวิตที่ดี) ซึ่งในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ในทรัพยากรดิน (Awareness Months)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีทั้งกิจกรรมส่งมอบห้องสมุดโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนา ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Library) ที่เอื้อต่อการอ่านและการเรียนรู้ร่วมกัน (Co-Learning space) กิจกรรมมอบพันธุ์ผักพระราชทาน จำนวน 10 ชนิด โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ จากความร่วมมือของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริและศูนย์ปรับปรุงพันธุ์และผลิตเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ งานสืบสานมรดกความงาม วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมพื้นถิ่น ณ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา งานพิธีเปิดป้าย “โครงการ 1 อปท. 1 สวนสมุนไพร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566” โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ พร้อมเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองเจ็ดหน่วย และสวน “กาแฟ แปลงสมุนไพร” และ “ปลูกต้นไม้” ประจำถิ่น ณ โรงเพาะชำสมุนไพรวัดห้วยบงในสวนป่าภายในบริเวณวัดห้วยบง กิจกรรมปลูก “ต้นรวงผึ้ง” และปลูกพันธุ์ไม้บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา รวมถึงการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า วันที่ 6 มิ.ย. 66 จะเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศภายใต้เแนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และคุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ผู้แทนสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยมีการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ โครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา การส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ผ่านโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” “อนุรักษ์พันธุกรรมพืช” ด้วยพันธุ์ผักพระราชทานตามแนวทางพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการรณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยซึ่งสามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” โครงการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในทรัพยากรดิน เพื่ออนุรักษ์ และฟื้นฟูการใช้ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทยทั้งในระดับจังหวัด ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด และในระดับอำเภอ ภายใต้การนำของนายอำเภอ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีในพื้นที่ และหลักการบูรณาการงานสาธารณสงเคราะห์ บวร (บ้าน วัด ราชการ) บรม (บ้าน ราชการ มัสยิด) ครบ (บ้าน ราชการ โบสถ์คริสต์) โดยตั้งแต่ 2 ธ.ค. 65 – 15 พ.ค. 66 มีผู้บันทึกกิจกรรมวันดินโลก (World Soil Day 2022) ลงในระบบ MOI War Room จำนวน 2,113 ครั้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 342,000 คน มีการจัดกิจกรรมทั้งหมด 3,264 กิจกรรมทั่วประเทศ ซึ่งในระบบ FAO มีการบันทึกข้อมูล World map online และได้รับการอนุมัติจาก FAO ให้แสดงบนแผนที่ออนไลน์ จำนวน 1,802 พื้นที่แล้ว
“หนึ่งในกิจกรรมที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และการขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของทฤษฏีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง เป็นแนวทางที่ใช้ลำดับขั้นเพื่อเดินตามไปทีละขั้น (พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น แบ่งปัน เก็บรักษา นำไปขาย และสร้างเครือข่าย) ที่จะช่วยสร้างความสุข และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน หลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่ทรัพยากรดิน (Soil) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันดินโลก (World Soil Day) ประจำปี 2565 เมื่อช่วงเดือน ธันวาคม 2565 เพื่อร่วมสร้างความตระหนักรู้ในทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน “Soils, where food begins.” ที่มีกิจกรรมมากมายในการปลูกฝังจิตสำนึกทำให้เห็นคุณค่าของดิน ทั้งกิจกรรมการทำปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์ ดินดี อาหารดี สุขภาพดี ชีวีมีสุข (Great food from good soil for better life) การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และกิจกรรมและการจัดนิทรรศการการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี การให้ความรู้เกี่ยวกับการทำให้ดินเสื่อมสภาพ กิจกรรมการปลูกผักสวนครัวในครัวเรือน ฯลฯ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ระบุว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ปริมาณวิตามินและสารอาหารในพืชผัก ผลไม้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่งผลถึงสุขภาพของร่างกายและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ทุกคน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและการชะล้างพังทลายของดิน เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2534 ความว่า “…การปรับปรุงบำรุงดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผิวดิน…” และทรงพระราชทาน “หลักคิด” ที่ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาสอนให้คนได้เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลบนทางสายกลางในระบบของโลกระหว่าง มนุษย์ สรรพสัตว์ สิ่งแวดล้อมและนิเวศวัฒนธรรม “หลักทฤษฎี” ที่เน้นการใช้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ ด้วย “วิธีปฏิบัติ” ที่ธรรมดา ๆ ชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปทำต่อได้ เช่น การห่มดิน การปลูกหญ้าแฝก กำแพงที่มีชีวิต เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อช่วยรักษาดิน และใช้ความอุดมสมบูรณ์ของดิน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่พี่น้องประชาชน ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 5,151 โครงการ ให้สมาชิกของสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Science: IUSS) ทั่วโลก ได้ประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ของพระองค์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในด้านการพัฒนาการ เกษตร ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิง ดินช่วยพัฒนาระบบนิเวศให้มีความยั่งยืน เอื้อ ให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอน และบรรเทาผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มนุษย์ใช้ดินเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยและเมือง เป็นที่ทิ้งขยะ เป็นตัวกรองและทำน้ำให้สะอาด เป็นรากฐานของสิ่งมีชีวิต เปรียบเสมือนผิวหนังที่มีชีวิตของโลก ช่วยผลิตอาหารให้คนทั้งโลก เพราะมี แร่ธาตุ อากาศ และอินทรียวัตถุ ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่สมบูรณ์ บำรุงต้นกล้าให้เจริญเติบโต เพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร นำไปเลี้ยงคนทั้งโลก และผลผลิตทางการเกษตร เป็นรายได้หลัก หนึ่งของประเทศ ไปสู่การบรรลุเป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย “คืนดินดีให้ผืนแผ่นดินไทย สร้างสรรค์ความสมดุลธรรมชาติ และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ให้เป็นแผ่นดินทอง” อันเป็นการน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระราชหฤทัยเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยตลอดมา
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI #Changeforgood #SDGTH #หมู่บ้านยั่งยืน #เรื่องเล่าจากชุมชน #SDGlocalization #SEPforSDGs #WorldSoilDay #วันดินโลก #soilswherefoodbegins #Soils4Nutrition #FAO #MOI #กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #SDGsforAIl