เผยแพร่ |
---|
พ่อเมืองโคราช บูรณาการทีม “แก้ไขในสิ่งผิด” ลงเรือสำรวจลำตะคอง เน้นย้ำบูรณาการพัฒนาฟื้นฟู แก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน
วันนี้ (31 พ.ค. 66) นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมาให้ความสำคัญในการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมาและพื้นที่ท้ายน้ำ ทั้งนี้ได้ร่วมกับ ปภ.จังหวัด และ ผอ.โครงการบำรุงรักษาลำตะคอง ลงเรือสำรวจลำน้ำลำตะคอง ที่ไหลผ่านเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ตั้งแต่บริเวณอ่างอัษฎางค์-ประตูระบายน้ำข่อยงาม เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ร่วมระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร เพื่อตรวจสอบผลการดำเนินโครงการพัฒนาฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ โดยได้มีการขุดลอกคลองลำตะคอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เศษวัชพืช ตลอดลำน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถไหลหรือระบายน้ำผ่านเขตเทศบาลนครนครราชสีมาได้อย่างสะดวก เพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำฝนช่วงหน้าฝนที่กำลังมาถึงนี้
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ตนในฐานะ “นายกรัฐมนตรีของจังหวัด” ต้องเป็นผู้นำในการลุกขึ้นมา “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก้ไขในสิ่งผิดและทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ด้วยการบูรณาการกับส่วนราชการในพื้นที่และร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชาชนและทุกภาคส่วน ร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา รื้อสิ่งกีดขวางทางน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลองของลำตะคองช่วงไหลผ่านตัวเมือง เป็นการสร้างความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคมและเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่นั่งยืน รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง และเพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ โดยได้นำเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักรมาดำเนินการตัดแต่งต้นไม้ ถางป่า ทำความสะอาดริมลำตะคอง รถแบ็คโฮขุดและเก็บเศษกิ่งไม้ออกจากลำน้ำ นำเรือให้เจ้าหน้าที่ลงไปกำจัดวัชพืชที่กีดขวางลำน้ำ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2566
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำริในการฟื้นฟูบูรณะแม่น้ำคูคลองในพื้นที่จังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกต้องบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายคัดเลือกแม่น้ำคูคลองเพื่อเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมจิตอาสา สร้างจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมจับมือร่วมกับทุกภาคส่วน สู่การขับเคลื่อนร่วมกับทุกอำเภอ ขยายผลโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองเพิ่มเติมและยังคงพัฒนาลำน้ำสายเดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลำน้ำครบทุกสายเป็นพื้นที่แห่งความสุขอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมาจึงได้เร่งดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำตะคอง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ภายใต้กิจกรรมพัฒนาฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู ลำน้ำลำตะคองให้น้ำใสไหลสะดวก และป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง ได้เน้นย้ำกำชับทุกพื้นที่ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัด เร่งดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำ ลำคลอง ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและดำเนินการฟื้นฟู ปรับปรุง ขุดลอก กำจัดวัชพืช ผักตบชวาในคูคลองต่าง ๆ ที่จะกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้สะดวกในฤดูฝนนี้ ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ระดับน้ำในลำตะคองมีระดับน้ำที่ลดลง รวมทั้งยังกำชับให้หน่วยงาน ปภ.จังหวัด และท้องถิ่นเร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชในลำตะคองช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาและขุดลอกทางน้ำในลำคลองสาขา เพื่อเตรียมรับน้ำฤดูฝนที่ใกล้จะมาถึง ทีมักมีน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก และยังได้เน้นย้ำไปยังทุกอ่างเก็บน้ำให้บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมไม่กระทบกับประชาชนและเกษตรกร
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมเป็นจิตอาสาอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำคูคลอง ได้ทำสิ่งที่ดีเพื่อความสุขอย่างยั่งยืนของประชาชนตามที่กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนกับองค์การสหประชาชาติหรือ UN เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา การดูแล อนุรักษ์ บำรุงรักษาและพัฒนาแหล่งน้ำคูคลองยังจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน “Soils, where food begins.” แหล่งน้ำดี ดินดี โภชนาการอาหารดี คุณชีวิตของประชาชนก็จะดีตามมา สามารถทำภารกิจส่วนตัว ภารกิจส่วนรวม และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงให้กับชุมชน อันจะนำไปสู่ความมั่นคงแข็งแรงในระดับประเทศต่อ ๆ ไป