เผยแพร่ |
---|
ปลัด มท. มอบนโยบายขับเคลื่อนกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 100 ปีวันประสูติสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพบปะส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา เน้นย้ำ ชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนาทุกคนร่วมกับท่านนายอำเภอร่วมถวายความจงรักภักดีผ่านการปฏิบัติบูชาเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามความสุขที่ยั่งยืนต่อส่วนรวม
วันนี้ (28 พ.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการและการจัดกิจกรรมเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระวิมลมุนี เจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอกัลยาณิวัฒนา พระครูวีรศาสน์ธำรง เลขานุการเจ้าคณะอำเภอกัลยาณิวัฒนา ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง พระครูจันทรกิจจารักษ์ เจ้าอาวาสวัดจันทร์ เจ้าคณะตำบลบ้านจัน-แจ่มหลวง พระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร เจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง และเจ้าอาวาสวัดห้วยบง ร่วมประชุม โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ประชาชน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ประกอบการ ในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ร่วมรับฟัง
พระวิมลมุนี เจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวสัมโมทนียกถา ความว่า “วันนี้เป็นวันมงคลที่กระทรวงมหาดไทย ได้จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวาระครบ 100 ปีวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ให้เป็นชื่ออำเภอที่ 878 ของประเทศไทย โดยคำว่า “วัฒนา” แปลว่า เจริญ คือ พัฒนา “กัลยา” แปลว่า ดี คือ คนดี งาม คือ จิตใจงาม ง่าย คือ ว่านอนสอนง่าย แปลโดยรวมว่า “เป็นอำเภอที่ประชาชนได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทางด้านร่างกาย จิตใจ ให้มั่นคงแข็งแรง อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ดังพุทธพจน์ กลฺยาณสีโล มีศีลที่มีธรรม กลฺยาณจิตฺโต จิตใจดี กลฺยาณปญฺโญ ปัญญางาม โดยในด้านการพัฒนานั้น ชาวกัลยาณิวัฒนาอยู่อย่างพอเพียงและพึ่งพาตนเอง ซึ่งคณะสงฆ์ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา ใช้วิถีทางของศาสนาช่วยสร้างพลเมืองที่ดีของชาติ ศาสนิกที่ดีของศาสนา และพสกนิกรที่ดีของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมุ่งหวังทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข จึงได้บูรณาการกับทุกภาคส่วน ภายใต้การนำของนายอำเภอผู้นำการบูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายด้วยหลักการ “ร่วมด้วยช่วยกัน” เพราะอำเภอกัลยาณิวัฒนาสูงส่ง ประชาชนมีจิตใจดีงาม บรรพชนเขาสอนมาดี สูงล้ำด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูเขาสูงเสียดฟ้า อากาศดี และสูงสุด คือ เป็นอำเภอหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนาโชคดีที่ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณ ใช้พระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อันเป็นหลักชัยเป็นที่พึ่ง จนกระทั่งทางราชการ ได้ประกาศจัดตั้งให้เป็นอำเภอที่ 878 ของประเทศไทย แยกมาจากอำเภอแม่แจ่ม ยกเป็นอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จนทำให้พี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่ายขึ้น ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน นอกจากนี้พระองค์ทรงมีคุณูปการกับประชาชนชาวไทยมากมาย ทั้งทางด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การสาธารณสุข สมาคม การส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศส การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยแม้เสด็จไปพื้นที่ใดก็จะต้องศึกษาประวัติของพื้นที่ไว้ล่วงหน้าเพื่อเมื่อเดินทางไปแล้วจะสามารถเพิ่มพูนองค์ความรู้การเดินทางในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีคุณูปการกับเด็กยากไร้ โดยทรงเป็นองค์ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อทำให้เด็กยากจนยากไร้ได้มีโอกาสทางการศึกษาผ่านการให้ทุนการศึกษาต่อเนื่อง และมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เอาใจใส่นักเรียนในเชิงคุณภาพ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการระดับจังหวัด และมีนายอำเภอเป็นผู้ช่วยเหลือท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในการดูแลช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ที่อำเภอ ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ ยังคงดำเนินกิจการสืบมา โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงเป็นองค์ประธานมูลนิธิองค์ปัจจุบัน และมีคณะกรรมการอำนวยการ ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
“ในโอกาส 100 ปีวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พวกเราชาวมหาดไทยจะร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อถวายเป็นพระกุศลและแสดงออกซึ่งความเป็นคนดีของพวกเราคนไทย คือ ต้องมีจิตสำนึก รู้สึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ ที่เราเรียกว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตฺญญูกตเวทิตา” ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ซึ่งการตอบแทนผู้มีบุญคุณ คณะสงฆ์อำเภอกัลยาณิวัฒนาได้เมตตาทำเป็นตัวอย่างให้กับพวกเรา อาทิ การทำบุญถวายย่ามและพัดรองที่ระลึก เพื่ออุทิศถวายเป็นพระกุศล ซึ่งที่ย่ามและพระรองที่ระลึกนั้น มีการปักตราประจำพระองค์ ก.ว. (กัลยาณิวัฒนา) เมื่อผู้คนเห็นก็ได้เป็นการยกย่องเผยแผ่พระเกียรติคุณ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเองก็ได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข และบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า แม้ว่าพี่น้องประชาชนคนกัลยาณิวัฒนาอยู่ในพื้นที่สูงที่มีความลำบากในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ด้วยเดชะพระบารมี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงมีความมุ่งมั่นปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านโครงการหลวงในเขตอำเภอกัลยาณิวัฒนา จนทำให้พวกเราได้มีแนวทางในการประกอบอาชีพ การหารายได้เลี้ยงดูจุนเจือตนเองและครอบครัว ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากร่มพระบรมโพธิสมภารของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพวกเราสามารถร่วมแสดงความกตัญญูกตเวที ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนต่ออนาคตของลูกหลานชาวกัลยาณิวัฒนา ทำให้เด็กได้เรียนรู้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับป่า ทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีความสุข ผ่านการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้วิธีการเพาะกล้าต้นไม้ เพาะพันธุ์เมล็ดต้นไม้ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การบริหารจัดการขยะ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ คือ องค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 3 แห่ง ขับเคลื่อนโครงการอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) และทำให้ลูกหลานของพวกเรารักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นที่ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ที่ได้นำธรรมชาติมาเป็นอวัยวะทั้ง 32 ประการของผู้คนปกาเกอะญอ คือ สอนให้ทำมาหากิน สอนให้ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง มีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง อันจะยังผลเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอกัลยาณิวัฒนาให้เป็นที่นิยมมาท่องเที่ยว สร้างเศรษฐกิจให้กับพื้นที่มากยิ่งขึ้น
จากนั้น เป็นการนำเสนอการดำเนินโครงการกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ อาทิ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ คือ โครงการจัดหาระบบน้ำอุปโภค บริโภค (แก้ปัญหาภัยแล้ง) ภายในหมู่บ้านบ้านหนองเจ็ดหน่วย หมู่ที่ 4 ต.บ้านจันทร์ บ้านแจ่มหลวง หมู่ที่ 6 ต.แจ่มหลวง และบ้านดงสามหมื่น หมู่ที่ 6 ต.แม่แดด โครงการซ่อมแซมบ้านพักกลุ่มคนพิการใน อ.กัลยาณิวัฒนา โครงการ “100 ปี เจ้าฟ้า “กัลยาณิวัฒนาร่วมใจ ให้อาชีพคนพิการ โครงการก่อสร้างแทงค์กักเก็บน้ำป้องกันภัยแล้ง โครงการปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ โครงการ “1 หมู่บ้าน 1 ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” และ โครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” โครงการเร่งรัดแก้ไขปัญหาคำขอออกโฉนดที่ดินจากหลักฐาน ส.ค.1 ที่ค้างดำเนินการในเขตพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลอง 100 ปี สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น
นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทั้งทีมที่เป็นทางการ และทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย ได้ขับเคลื่อน “โครงการกัลยาณิวัฒนาเมืองสุขแก้ไขปัญหาความยากจนพัฒนาคุณภาพชีวิต” เช่น การส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมตลาดนัดชุมชน การส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง กิจกรรมจิตอาสาซ่อมสร้างบ้านตำบลละ 1 แห่ง เป็นต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ท่านนายอำเภอกัลยาณิวัฒนาได้บูรณาการร่วมกับทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนนั้น เป็นเหมือนยาฝรั่ง คือ “การช่วยสงเคราะห์” เช่น การพาคนป่วยไปหาหมอ แต่สิ่งที่เราต้องมีเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คือ การช่วยเหลือแบบ “ยาไทย” ด้วย โดยขอให้นายอำเภอระดมหัวใจของข้าราชการทุกสังกัด รวมหัวใจท่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกตำบล/หมู่บ้าน รวมหัวใจท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 3 แห่ง รวมหัวใจของพี่น้องประชาชนที่มีจิตอาสาในพื้นที่ คือ อสม. ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรค การดูแลรักษาหรือการปฏิบัติตนที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ด้วยการทำพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวปลูกพืชสมุนไพรภายในบ้านให้มากชนิดที่สุด ทำให้ประชาชนทุกคนได้มีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ไม่มียาฆ่าแมลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ การน้อมนำพระราชดำริด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
“สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นต้นแบบการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระราชบุพการี คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระจริยวัตรของพระองค์ท่านนั้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมปกาเกอะญอที่สะท้อนผ่านภาพวาดรอบพระวิหารวัดห้วยบง ที่ต้องถ่ายทอดส่งเสริมให้ลูกหลานเด็กและเยาวชนชาวอำเภอกัลยาณิวัฒนา ได้เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่บรรพบุรุษ เชื่อฟังพ่อแม่ เป็นผู้มีความรัก ความหวงแหน ความผูกพัน กตัญญูต่อผืนแผ่นดินไทย มุ่งมั่นในการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดีของสังคม แม้ว่าจะมีคำกล่าวว่ากรุงโรมไม่สามารถสร้างเสร็จในวันเดียว แต่วันนี้การเริ่มต้นพัฒนาอำเภอกัลยาณิวัฒนาได้เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนได้นั้น พวกเราต้องช่วยกันพาพี่น้องประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านในเขตอำเภอที่ 878 ของประเทศนี้ ลุกขึ้นมาน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของบรรพบุรุษปกาเกอะญอของเราโดยแท้ และร่วมกันพัฒนาพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย