เผยแพร่ |
---|
” ครองตน ครองคน ครองงาน” ปลัด มท.ประชุมผู้ว่าฯ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญ ย้ำคนมหาดไทยต้อง”ครองใจประชาชน” มุ่งสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
วันนี้ (24 พ.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยได้รับเมตตาจากพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยมี นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยงานสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ผู้แทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ซึ่งเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัดและส่วนกลางประจำภูมิภาค
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของผืนแผ่นดินไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลักชัย และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยทรงห่วงใยพสกนิกรไทย โดยพระราชทานแนวพระราชดำริด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ยังผลให้เกิดสิ่งที่ดีให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการดูแลรักษาแม่น้ำคูคลอง ที่มีตัวอย่างความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่คลองแม่ข่า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ในอดีตนั้นน้ำในลำคลองเป็นน้ำเสียที่ส่งกลิ่นเหม็น ประกอบกับมีภูมิทัศน์ที่ไม่น่าชม ซึ่งปัจจุบันภายหลังจากการน้อมนำพระราชดำริมาขับเคลื่อน กระทั่งได้พัฒนากลายมาเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีต้นไม้ที่ให้ความร่มรื่น เป็นสถานที่ที่มีภูมิทัศน์สวยงาม พ่อค้าแม่ขายมาค้าขายสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้นกลายเป็นแผนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงเป็นความน่าประทับใจที่เกิดกับประชาชนในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นเพราะพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นแรงผลักดันทำให้พวกเราคนไทยทุกคนและผู้นำในพื้นที่ ได้พัฒนาปรับปรุงบ้านเมืองของเรา ด้วยพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำพระราชดำริในการฟื้นฟูบูรณะแม่น้ำคูคลองในพื้นที่จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายคัดเลือกแม่น้ำคูคลองเพื่อเป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมจิตอาสา สร้างจิตสำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมจับมือร่วมกับทุกภาคส่วน โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงขับเคลื่อนร่วมกับทุกจังหวัดและทุกอำเภอ ขยายผลโครงการอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองเพิ่มเติมและยังคงพัฒนาลำน้ำสายเดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลำน้ำครบทุกสายเป็นพื้นที่แห่งความสุขอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่
“สิ่งสำคัญที่สุด หรือสิ่งที่เป็น Core Business ของกระทรวงมหาดไทย คือ การต้องระดมสมอง เพื่อปรับปรุงพัฒนา และลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่เป็นหน้าที่หลักสำคัญให้ดี ดังหลักการทำงาน “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้นำหรือเป็นนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ ได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขเพื่อ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเป็นแม่เหล็กหรือโซ่ข้อกลางในการบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มาช่วยกันยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน “ทำให้สังคมไทยได้เข้าใจและเข้าถึงหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทย” ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องนำเอาพลังมาเป็นแรงขับเคลื่อน ผลักดันการทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน พร้อมดึงอุดมการณ์ของคนมหาดไทยทุกท่านเมื่อครั้งที่ท่านตัดสินใจมารับราชการกระทรวงมหาดไทย โดยปลุกเร้าพลังนั้นให้กลับมามีแรงกล้าแกร่งเพิ่มมากขึ้นกว่าที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แล้วทำตามหลักการทำงานขององค์พระปฐมเสนาบดีของกระทรวงมหาดไทย “เราต้องครองใจพี่น้องประชาชน มากกว่าการนำเอาอำนาจบาตรใหญ่มาใช้กับพี่น้องประชาชน”” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ จะทำงานให้สำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม (Teamwork) ต้องไม่ทำงานคนเดียว ควรเอาใจใส่ และปลุกจิตวิญญาณของการเป็นข้าราชการ กระทรวงมหาดไทย ความอดทนเเละความเสียสละ ที่สถิตอยู่ในใจ โดยยึดหลักการ “ครองตน ครองคน ครองงานที่ดี” กล่าวคือ การครองตน คือ การทำหน้าที่เป็นผู้นำ (Leadership) ที่ดี เป็นผู้อยู่ในศีลธรรม และมีจริยธรรมที่ดี จะต้องมีความประพฤติที่ดี พูดจาไพเราะน่าฟัง มีน้ำใจ ให้เกียรติผู้อื่น มีการแต่งกายที่เหมาะสม รู้จักกาลเทศะ พร้อมทั้งร่วมส่งเสริมให้แต่งกายชุดเครื่องแบบข้าราชการที่เป็นสิ่งเตือนใจให้พวกเราภาคภูมิใจในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนอกจากการสวมใส่เครื่องแบบแล้ว การสวมใส่ผ้าไทยก็เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันรักษาความภาคภูมิใจ แสดงถึงความกตัญญูในการสืบสานภูมิปัญญาไทย ที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือคนไทยให้มีรายได้ ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางเครื่องนุ่งห่มให้พี่น้องประชาชนมีองค์ความรู้ในการผลิตหรือการทอผ้า ช่วยลดการพึ่งพาเครื่องจักรกลในยามที่เกิดภัยพิบัติหรือเกิดสงคราม หลักต่อมา คือ การครองคน ต้องร่วมกันส่งเสริมความรักใคร่กลมเกลียวกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเมตตาเอาใจเขามาใส่ใจเรา อันจะเป็นพลังในการบูรณาการขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ร่วมกับทีมภาคีเครือข่าย ทำให้คนทุกคนอยากร่วมงานกับเรา ซึ่งจะต้องทำทั้งต่อคนในสำนักงาน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ หมั่นพูดคุยถามไถ่ความเป็นอยู่ เพื่อร่วมรับฟังทุกข์ และร่วมแบ่งปันสุขไปด้วยกัน และหลักสุดท้าย คือ การครองงาน คือ ต้องยึดหลักความรับผิดชอบ รู้จักการลำดับความสำคัญของงาน มุ่งเป้าหมายที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยเน้นหลักความประหยัด และความคุ้มค่า สู่การสร้างสรรค์สิ่งที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ และหากทุกคนให้ความตระหนักและให้ความสำคัญ กับหลักการทั้ง 3 หลักนี้ จะทำให้สามารถครองใจพี่น้องประชาชน ซึ่งจะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีความยั่งยืน
“ขอให้พวกเราทุกคนช่วยขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากหมู่บ้านที่ตกเกณฑ์ใน 7,255 ตำบล จาก 878 อำเภอ ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งในหมู่บ้าน สร้างความรักความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในครัวเรือน เริ่มจากการรวมกลุ่มบ้าน คุ้ม ป๊อก หย่อม ในการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกันคิด ร่วมกันทำและได้ร่วมรับประโยชน์ นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นพระดำริของพระองค์ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเป็นหมู่บ้านยั่งยืน รวมไปถึง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างความรักความสามัคคี ไม่ว่าจะเป็นการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ตลอดจนการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นรากฐานของการสร้างอาหารที่ดี เพราะดินคือเหล่งกำเนิดของอาหารมากกว่า 95% ของโลก เพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราชาวมหาดไทยไม่นิ่งนอนใจ ที่จะทำหน้าที่ช่วยเหลือในการขับเคลื่อนภารกิจช่วยเหลือและบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในทุกครัวเรือน ตามโครงการ TPMAP และ ThaiQM ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มุ่งมั่นและดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้นให้พี่น้องประชาชน เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคง การสร้างสุขภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศนับแสนครัวเรือนได้ในพริบตา ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเมตตา เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และยังคงสิ่งที่ดีเหล่านี้ได้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ ตนจึงได้เน้นย้ำอยู่เสมอว่าการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเบื้องต้น ให้ผ่านพ้นไปก่อน หรือที่เรียกว่า “ยาฝรั่ง” ต้องทำควบคู่ไปกับ “ยาไทย” คือ การส่งเสริมให้ประชาชนคนไทย มีความมั่นคงในชีวิตและความปลอดภัย มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถ้าทำได้ครบถ้วน ทั้งการครองตน ครองคน และครองงาน จะทำให้เราสามารถครองใจผู้ร่วมงานและพี่น้องประชาชนได้
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องดิจิทัล ID หรือ “THAID” ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ เข้าสู่ระบบ THAID ให้ครบภายในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องกำหนดระยะเวลานี้เพราะว่า เป็นช่วงเวลาการเปิดเทอมของสถานศึกษา ส่วนราชการสามารถเร่งประชาสัมพันธ์ให้เด็กนักเรียนลงทะเบียน พร้อมกับนำไปบอกต่อให้ผู้ปกครองและครอบครัวของเด็กลงทะเบียนด้วย พร้อมให้ประชาสัมพันธ์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และพนักงานท้องถิ่นท้องที่ ให้เข้าสู่ระบบและกลับไปทำให้ครัวเรือนที่ตนรับผิดชอบลงทะเบียนในระบบให้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญ คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อขอรับบริการ หรือทำธุรกรรมกับหน่วยงานราชการ และผลักดันให้ประชาชนไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัล เพราะกระทรวงมหาดไทยมีแผนที่จะพัฒนาระบบ กระเป๋าดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งประกอบไปด้วยเอกสารราชการส่วนบุคคล สามารถให้บริการประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ครอบคลุมทุกมิติ นอกจากนี้ในเรื่องงานด้านความมั่นคง ต้องชื่นชมจังหวัดอุบลราชธานีที่เข้มงวดและดำเนินการจับกุมร้านค้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้กำชับเจ้าหน้าที่ ช่วยกันสอดส่องสถานบริการผิดกฎหมาย บ่อนพนัน ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อย และกวาดล้างสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เรื่องของระบบเอกสารราชการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) กระทรวงมหาดไทยจะจัดส่งรายละเอียดให้ทุกจังหวัด เพื่อเข้าสู่ระบบได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และขอให้ทุกจังหวัดศึกษาการใช้งานระบบ ควบคู่กับหนังสือราชการในปัจจุบัน (Paper) ให้เริ่มปรับตัว เพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนการทำงาน และพัฒนาสู่รัฐบาลดิจิทัลต่อไป