“ถนนต้นกล้วยช่วยชีวิต” บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ด้วยการน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน

“ถนนต้นกล้วยช่วยชีวิต” บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ด้วยการน้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” สร้างพื้นที่แห่งความปลอดภัย พื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน

วันนี้ (23 พ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เปิดเผยถึงตัวอย่างความสำเร็จที่ยั่งยืนของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ผ่านกระบวนการพัฒนาคน เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืนในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา โดยการนำของนายประสม เรืองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตของการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รุ่นที่ 1 ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้มี Passion ความมุ่งมั่นน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา นำไปสู่การใช้ชีวิตแบบ “พึ่งพาตนเอง” และได้นำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่บ้านบางครั่ง ตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จนทำให้ในทุกวันนี้ พื้นที่บ้านบางครั่งแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ทั้งไม้ผล ไม้ยืนต้น ในหนองน้ำมีปลา บนโคกมีไม้ยืนต้น ในนามีพืชผักสมุนไพร และที่เพิ่มเติมเต็มจนกลายเป็นพื้นที่ที่เมื่อผู้สัญจรไปมาได้พบเห็นจนชินตา นั่นคือ ริมสองฝั่งถนนจะเต็มไปด้วยต้นกล้วยจำนวนมาก

ผู้ใหญ่ประสม เรืองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านบางครั่ง เล่าว่า บ้านบางครั้งแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของตำบลบางวัน อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีพี่น้องประชาชน 700 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 2,000 คน อาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่ คือ ทำการเกษตร ทำประมง รับจ้างทั่วไป เนื่องจากบ้านบางครั่งอยู่ใกล้ทะเลจึงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด แต่สิ่งที่เป็นเสมือนความเจริญทางวัตถุที่เข้ามาทำให้บ้านบางครั่งได้มีความสะดวกสบายในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านอื่น ๆ หรือจะเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ นั่นคือ มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 คือ ถนนเพชรเกษม ตัดผ่านกลางหมู่บ้าน ซึ่งถนนสายนี้เป็นถนนเส้นเดียวที่เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางสัญจรระหว่างจังหวัดระนองไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ และจังหวัดภูเก็ต จึงทำให้ในแต่ละวันจะมีผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ใช้เป็นเส้นทางไปทำมาหาเลี้ยงชีพ

“ตนได้มีโอกาสไปเข้ารับการฝึกอบรมหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รุ่น 1 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในการอบรมในครั้งนั้น ได้มีการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติ การพัฒนา 3 ขุมพลัง คือ พลังกาย พลังใจ และพลังปัญญา การเรียนรู้ 9 ฐานเรียนรู้สู่เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ฐานคนรักษ์ป่า ฐานคนรักษ์น้ำ ฐานคนรักษ์แม่ธรณี ฐานคนมีน้ำยา ฐานคนรักษ์สุขภาพ ฐานคนรักษ์แม่โพสพ ฐานคนติดดิน ฐานคนมีไฟ ฐานคนเอาถ่าน และการเอามื้อสามัคคี ทำให้ได้มีความรู้ทั้งการเรียนรู้ตำราบนดิน การแปลงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติแบบเป็นขั้นเป็นตอน ทฤษฎีบันได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง หลักกสิกรรมธรรมชาติวิถีภูมิปัญญาไทยกับการพึ่งพาตนเองในภาวะวิกฤต การฝึกปฏิบัติการบริหารจัดการหาอยู่หากินในภาวะวิกฤต และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยตามหลักการภูมิสังคมอย่างยั่งยืนเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ทำให้ได้เกิดแนวความคิดที่ว่า “จะทำอย่างไรให้บ้านบางครั่งได้เป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัย และเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนคนบางครั่ง” ซึ่งเมื่ออบรมแล้วเสร็จและกลับมาที่บ้าน ก็ได้เริ่มทดลองปฏิบัติจริง ด้วยการใช้พื้นที่ของตนเองมาทำโคก หนอง นา ควบคู่กับการทำสวนปาล์มพื้นที่ 45 ไร่ โดยขุดบ่อไป 12 ลูกแล้วทำคลองไส้ไก่เชื่อมแต่ละบ่อเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บและกระจายน้ำ ทำให้สามารถใช้น้ำในการบำรุงดูแลต้นปาล์มภายในสวน และเลี้ยงพันธุ์ปลาหายาก เช่น ปลามัด (ปลาดุกลำพัน) ปลาชะโอน ติดแผงโซล่าเซลล์ในการเลี้ยงปลาเพื่อให้มีแสงล่อแมลง พอฝนตกมากจะมีแมลงมาเล่นไฟแล้วตกลงบ่อปลา และเลี้ยงแหนแดงไว้ด้วย สามารถลดต้นทุนค่าอาหารปลา ขณะเดียวกันก็ได้มีการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เช่น หัวข่า ขิง ตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร และเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูขี้พร้า 400 – 500 ตัว และได้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนภายในพื้นที่และนำเศษวัชพืช เศษอาหารเปียก กากปาล์ม ทลายปาล์ม มูลสัตว์ ปลาป่น (เพราะพื้นที่เราใกล้สะพานปลา) มาทำเป็นปุ๋ยหมัก เป็นสารบำรุงดินให้กับต้นปาล์ม และพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรในพื้นที่ เพราะปุ๋ยหมักนั้นมีจุลินทรีย์ในดิน มีไส้เดือน สร้างความชุ่มชื้นในดิน ส่งผลให้ต้นปาล์มออกผลเป็นทลาย มีผลตลอด รวมทั้งได้นำเกลือและน้ำส้มสายชูมาผสมเป็นยาปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง ช่วยลดรายจ่ายได้เป็นจำนวนมาก มากถึง 80%-90% ตรงข้ามกับการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงจากเคมี ซึ่งราคาแพง และทำให้การเจริญเติบโตของปาล์มน้อยกว่าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชจากธรรมชาติ ซึ่งจากการทดลองทำในพื้นที่ของตนเองข้างต้น ส่งผลทำให้ในช่วงที่ต้องประสบกับสภาวะทางเศรษฐกิจ คือ ราคาปาล์มตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท สิ่งที่ได้รับจากการทำโคก หนอง นา สามารถช่วยชีวิตได้จริง ทำให้เรามีรายได้จากการจำหน่ายหมู ไข่ไก่ ปลา และผักสวนครัว หรือแม้แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ก็ได้นำเอาพืชสมุนไพร พวกหัวข่า ขิง ฟ้าทะลายโจร ไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ทุเลาเบาบางอาการและปลอดภัยจากการเผชิญกับโรคระบาดชนิดใหม่นี้ ซึ่งถ้าไม่มีความรู้จากการอบรมโคก หนอง นา คงไม่มีชีวิตอยู่รอดมาได้ และตนในฐานะ “ผู้นำหมู่บ้าน” คงไม่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลูกบ้านของตนเองที่มีถึงกว่า 2,000 คน ให้ผ่านวิกฤตของชีวิตมาได้” ผู้ใหญ่ประสมฯ เล่าด้วยความตื้นตันใจ

ผู้ใหญ่ประสม เรืองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านบางครั่ง กล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่ตนได้พบและเรียนรู้จากการนำองค์ความรู้ของโคก หนอง นา มาใช้ในชีวิตประจำวัน คือ “ประโยชน์ที่แท้จริงต่อชีวิต” จึงได้แบ่งพื้นที่ของตนเอง จำนวน 1 ไร่ จัดทำเป็น “ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา บ้านบางครั่ง” โดยมีอาคารศูนย์การเรียนรู้ที่จัดทำเป็นศาลาหมู่บ้าน และเป็นร้านกาแฟในหมู่บ้าน จุดเช็คอินของพื้นที่ พร้อมทั้งพัฒนาแปรสภาพพื้นที่ในบริเวณนี้ให้กลายเป็นแปลงโคก หนอง นา ขนาดย่อ มีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เช่น ไม้ยืนต้น ไม้ทำเสา (ไม้ตะเคียนทอง) และต้นปาล์ม หัวข่า ผักสวนครัว ในหนองน้ำบ่อปลามีการเลี้ยงพันธุ์ปลาหายาก เช่น ปลามัด ปลาชะโอน ปลาที่ไม่ค่อยมีในพื้นที่ มาเพาะเลี้ยงให้ชาวบ้านได้รู้จัก และแนะนำชาวบ้านปลูกผักสวนครัว ที่แม้พื้นที่เล็ก ๆ ก็สามารถปลูกโดยเอาใส่กระถาง เอาใส่ตะกร้า เอาใส่กระสอบได้ โดยได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้สนใจจากพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดกระบี่ และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก

“นอกจากนี้ สิ่งที่ตนได้หยิบมาขัดเกลาใหม่ ตกแต่งใหม่ ในพื้นที่บ้านบางครั่ง นั่นคือ จุดเด่นที่เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักฝั่งอันดามัน โดยมีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน ระยะทาง 6 กิโลเมตร รวมไป-กลับ 12 กิโลเมตร จึงได้ทำการปลูกต้นกล้วยตามริมทางตลอดแนวสองฝั่งทางสาธารณะ และพื้นที่ที่เหลือก็ได้แซมด้วยพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” โดยเมื่อต้นกล้วยออกผลผลิตเต็มที่แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะมาตัดกล้วยและต้นกล้วยไปทำอาหาร ทำขนม ใช้กินได้ ส่วนใบกล้วยก็เอาไปทำใบตอง รองอาหารและสารพัดประโยชน์ และยังพบว่า “ต้นกล้วยช่วยชีวิต” เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ เมื่อรถ ไม่ว่าจะรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซค์) หรือรถยนต์ไปชนตกข้างทาง ก็จะได้ต้นกล้วยเหล่านี้ช่วยปกป้องคุ้มกันรักษาชีวิต ทำให้ไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง หรือถ้าบาดเจ็บก็บาดเจ็บไม่มาก ไม่ถึงกับเสียชีวิต กระทั่งคนที่ประสบเหตุจำนวนมากมักจะลง Facebook โซเชียลมีเดียว่า “ขอบคุณต้นกล้วยที่ทำให้รอดตาย”” ผู้ใหญ่ประสมฯ กล่าวเพิ่มเติม

ผู้ใหญ่ประสม เรืองแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านบางครั่ง กล่าวในช่วงท้ายว่า ทุกอย่างที่ได้เล่ามานี้ “เป็นเรื่องจริง” ที่ไม่ได้ปรุงแต่งหรือเติมให้เป็นภาพที่สวยงามหรือหมู่บ้านในฝัน มันคือ “วิถีชีวิต” ที่ตนในฐานะผู้นำของหมู่บ้านได้รับ และล่าสุดได้รับองค์ความรู้จากการอบรมหลักสูตรอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และได้นำมาถ่ายทอดส่งต่อขยายผลไปยังพี่น้องประชาชนทั้ง 700 ครัวเรือน ของบ้านบางครั่ง ทำให้ทุกวันนี้ ในหมู่บ้านได้มีศูนย์การเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยน มาเรียนรู้ มาเก็บผัก มาทดลองสิ่งต่าง ๆ และยังมีถนนหนทางที่เป็นถนนแห่งความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเกื้อกูล และยังเป็น “ถนนปลอดภัย” รวมไปถึงสิ่งที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เห็นเหมือนกัน นั่นคือ “การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา รวมถึงพระราชดำริการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร มาใช้ในชีวิตประจำวัน” ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดรายจ่ายให้กับตนเองและครอบครัวได้จริง และในบางบ้านที่เป็นบ้านเช่าหรือบ้านที่มีพื้นที่จำกัด ก็ยังสามารถใช้ตะกร้า ใช้กระถางต้นไม้ หรือกระสอบในการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เหมือนตะไคร้ปลูกในตะกร้า เวลาตัดก็ง่าย ปลูกข่าในกระสอบเวลาเก็บก็ง่าย การดูแลใช้สอยก็ง่ายด้วย รวมถึงปลูกพริก แค่ 4-5 ต้น ก็ทำน้ำพริก ทำแกงได้ ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก คะน้า ไซซิ้ม (กวางตุ้ง) ก็ปลูกได้ ลดรายจ่ายได้ และยังมีอาหารปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งที่ตนได้นำแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผ่านนโยบายของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแนวทาง “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่มุ่งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชดำริการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สอดคล้องกับแนวคิดการจัดงานวันดินโลก “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การหลอมรวมสร้างพลังความรัก สามัคคี รักษาขนบธรรมเนียมภูมิปัญญาวิถีชีวิตดั้งเดิมถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานและคนทั่วไป ผ่านกระบวนการที่สำคัญ คือ สมาชิกของหมู่บ้านได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับประโยชน์ ซึ่งตนจะได้ขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนบ้างบางครั่ง ขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ และตำบลอื่น ๆ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนร่วมกันตลอดไป ทั้งนี้ ผู้สนใจเยี่ยมชมและเรียนรู้ในพื้นที่ สามารถติดต่อไปยังผู้ใหญ่ประสม เรืองแก้ว ทางหมายเลขโทรศัพท์ 08-1084-4042 ได้โดยตรง

#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI #Changeforgood #SDGTH #หมู่บ้านยั่งยืน #เรื่องเล่าจากชุมชน #วันดินโลก #SDGlocalization #วันดินโลก #อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน #soilswherefoodbegins #worldsoilday #SEPforSDG