นายอำเภอบ้านสร้าง จับมือภาคีเครือข่ายพลัง “บวร” ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)

นายอำเภอบ้านสร้าง จับมือภาคีเครือข่ายพลัง “บวร” ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้แนวคิด “เริ่มจากรั้วศาสนา พาชุมชนสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน”

วันนี้ (23 พ.ค. 66) ที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง เปิดเผยว่า อำเภอบ้านสร้างจัดกิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล และสมุนไพร ภายใต้แนวคิด “เริ่มจากรั้วศาสนา พาชุมชนสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนในชุมชน โดยได้รับเมตตาจากเจ้าอาวาสวัดท่ากระทุ่มและคณะสงฆ์ พร้อมด้วยนางกชมน บุษบงค์ พัฒนาการอำเภอบ้านสร้าง นายชัยดิษฐ์ ค่ำอำนวย เกษตรอำเภอบ้านสร้าง หัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายปกครองท้องที่ คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านฯ ระดับตำบล เกษตรกร และประชาชน ร่วมกิจกรรม

นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สู่การขับเคลื่อน “โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยให้ส่วนราชการขับเคลื่อนกับ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อสารมวลชน และภาคประชาชน บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถทำให้พี่น้องประชาชนได้สร้างเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างยังยืน

“อำเภอบ้านสร้าง จึงได้จัดกิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล และสมุนไพร ภายใต้แนวคิด “เริ่มจากรั้วศาสนา พาชุมชนสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” เพื่อขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติฯ และขับเคลื่อนเจตนารมณ์ของกระทรวงมหาดไทย ตามที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อน “โครงการ วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” โดยมุ่งปลุกพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร มุ่งพัฒนาวัดและชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ การพัฒนาจิตใจ สู่การจัดการสิ่งแวดล้อมของวัดและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย การนำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัว ผลไม้ยืนต้นและสมุนไพร ไปถวายแด่เจ้าอาวาสวัดท่ากระทุ่ม ตามแนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน” เนื่องในวันดินโลก (World Soil Day) และการทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนและปุ๋ยคอก รวมไปถึงสาธิตการทำเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าให้แก่เกษตรกร เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการให้กับภาคประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ให้เกิดการรับรู้ในการทำการเกษตรสมัยใหม่ ปลอดภัย ไร้สารเคมี เพื่อสร้างเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าว

นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ พวกเรายังได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์คลังอาหารของชุมชน ตามโครงการ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพื่อขยายผลสู่พื้นที่บริเวณวัดท่ากระทุ่ม ยกระดับพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบและเป็นสัปปายะสถานที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับพี่น้องประชาชนสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยการจับมือภาคีเครือข่ายพลัง “บวร” คือ บ้าน วัด ราชการ สร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน และให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน”

นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคณะสงฆ์วัดท่ากระทุ่ม ที่ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพราะพวกเราทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน ซึ่งการรวมพลังความสามัคคีของคนในชุมชนนั้นจะทำให้ภาครัฐจะไม่ได้ทำงานเพียงฝ่ายเดียว แต่การบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ระดมทุกสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ โดยมีภาคศาสนาเป็นแกนหลักในการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีคลังอาหารที่อุดมสมบูรณ์ในชุมชน โดยมีวัดและคณะสงฆ์ช่วยสนับสนุนดูแลพืชผักที่ได้ร่วมมือกันปลูก และเมื่อพืชผลเหล่านี้ผลิดอกออกผลก็จะเป็นผลที่แจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนได้รับประทาน ซึ่งทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมทั้งการนำเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้าที่เพาะพันธุ์จากกิจกรรมนี้ ไปแบ่งปันเพื่อให้ทุกคนได้นำไปปลูกในครัวเรือน ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนส่งเสริมให้มีการแบ่งปันแลกเปลี่ยนผลผลิตกันในชุมชน เพื่อเสริมสร้างให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน ต่อยอดไปสู่การนำไปขาย เป็นการสร้างรายได้ลดรายจ่าย ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน เพื่อการพัฒนาชีวิตที่ดี นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืน

#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข #MOI #Changeforgood #SDGTH #หมู่บ้านยั่งยืน #เรื่องเล่าจากชุมชน #วันดินโลก #SDGlocalization #วันดินโลก #อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน #soilswherefoodbegins #worldsoilday #SEPforSDG