ปลัดมหาดไทยพร้อมด้วยนายกแม่บ้านมหาดไทยนำผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ชื่นชมผลงาน Batik Model ต้นแบบการพัฒนางาน Craft ตามแนว Fashion Sustainable ในพระดำริฯ

เริ่มแล้ว โครงการ Batik Model ต้นแบบการพัฒนางาน Craft ตามแนว Fashion Sustainable
จาก 7 กลุ่มผ้าบาติกแนวหน้าของภาคใต้

วันนี้ (19 พ.ค. 66) เวลา 15.15 น. ที่กลุ่มยาริง บาติก เลขที่ 1 หมู่ 1 ต.หนองแรต อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่น้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก” เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกในชุมชน โดยกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถเข้ามาทำงานพิเศษได้ตามความถนัดและความสะดวก กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ดี และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่พร้อมแบ่งปันความรู้แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจ ซึ่งผ้าบาติกของกลุ่มเป็นผ้าบาติกที่ใช้ฝีมือในการวาดเขียนลวดลายต่าง ๆ จากความคิดจินตนาการ หรือเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของพื้นถิ่น เช่น ป่า ต้นไม้ ดอกไม้ เรือกอและ เป็นต้น โดยเมื่อก่อนนั้น กลุ่มฯ จะทำผ้าบาติกเพื่อจำหน่ายในชุมชนและบุคคลที่รู้จัก และเมื่อผลงานของกลุ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการพัฒนารูปแบบการทำผ้าบาติกให้มีความหลากหลายด้วยเทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนี่อง โดยการพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้ผสมผสานเทคนิคการแคร๊กเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ เป็นต้น ประกอบกับการนำลายผ้าพระราชทานมาประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่ที่สวยงามและทันสมัยมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่ต้องการของตลาดหลายระดับ และด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวพระดำริด้าน Sustainable Fashion ด้วยการใช้สีธรรมชาติ จึงได้น้อมนำพระดำริดังกล่าว เรียนรู้และปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้สีย้อมผ้า โดยสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น เปลือกไม้โกงกาง เปลือกตะเคียนทอง เปลือกมะพร้าว ดอกคำแสด ใบสาบเสือ ใบหูกวาง ใบมะม่วง ใบยูคาลิปตัส ฯลฯ มาแต้มลงบนผืนผ้า มีความสวยงาม โดดเด่นไม่ซ้ำใคร และปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยได้มีการเลือกสรรผ้าที่นำมาใช้ในการทำผ้าบาติกให้หลากหลายมากขึ้น โดยได้นำผ้าหลากหลายชนิดมาใช้ในการทำบาติก เช่น ผ้าไหม ผ้าซาติน เป็นต้น พร้อมเพิ่มเทคนิคผสมในการทำผ้าบาติก โดยใช้วิธีการพิมพ์ผ้าด้วยบล็อคไม้ผสมผสานการเขียนมือและเทคนิคการแคร๊กเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ

“เทคนิคการผลิตผ้าบาติกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก เริ่มต้นด้วยการนำผ้าขาวมาย้อมสีอ่อน ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผ้าบาติกแบบเส้นเทียนสีขาว แล้วเขียนหรือพิมพ์เทียนให้เกิดลวดลายตามความต้องการ จากนั้นลงสีชั้นแรก ผึ่งลมจนแห้ง แล้วนำผ้ามาพิมพ์หรือเขียนเทียนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดเทคนิคการซ้อนลาย พร้อมลงสีอีกชั้นให้สวยงาม นำไปแช่น้ำยาซิลิเกทเพื่อป้องกันสีตก โดยกรณีผ้าสีธรรมชาติต้องลงสีซ้ำ ๆ จนได้สีตามความต้องการ ไม่นำไปแช่น้ำยาซิลิเกท จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดให้เทียนออกจนหมด แล้วนำผ้าบาติกไปต้มในน้ำเดือดผสมผงซักฟอกให้เทียนออกจนหมด ผึ่งผ้าให้แห้ง โดยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติกนี้ มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการซ้อนลายผ้า มีการพัฒนารูปแบบลวดลายที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีการนำวัตถุดิบธรรมชาติมาสกัดเป็นสีเพื่อใช้ในการย้อม ระบาย เพ้นท์ผ้า ทำให้ผ้าบาติกของกลุ่มฯ มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และตอบสนองความต้องการของตลาด และภายหลังจากได้รับพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนกัญญา พระราชทานแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนาช่องทางการตลาด ส่งผลทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยของกลุ่มเดือนละ 40,000-60,000 บาทต่อเดือน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาชิกในกลุ่มได้ร่วมกันรังสรรค์พื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกพืชสมุนไพร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ไว้บริโภคภายในกลุ่ม พร้อมทั้งแจกจ่ายไปยังสมาชิกภายในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้สมาชิกกลุ่มสามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน จากการไม่ต้องไปซื้อหาอาหารมาบริโภค และยังได้มีอาหารที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ได้มีการบริหารจัดการขยะภายในพื้นที่ของกลุ่ม และมีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าได้ใช้งานจริง และทำอย่างถูกต้องตามรูปแบบมาตรฐาน และจากการสังเกตสมาชิกของกลุ่ม พบว่าได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาการทำผ้าบาติก การย้อมสีผ้า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัสดุในการทำสีย้อมผ้า ให้กับสมาชิกตัวน้อย ๆ นั่นคือเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน อันเป็นการสืบสาน รักษา ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่ ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างพลังความรู้รักสามัคคี ในการหวงแหนและทำให้ศิลปวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของพื้นที่ ได้สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน อันเป็นการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จาก Sustainable Fashion สู่ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป

จากนั้น ในเวลา 17.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะ ติดตามการดำเนินงาน ณ กลุ่มบาติก เดอ นารา เลขที่ 49/1 ถ.กะลาพอ ซอย 3 ต.จะบังติกอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า กลุ่มบาติก เดอ นารา ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2538 มีสมาชิกในระยะเริ่มแรกเพียง 5 คน ที่มีฝีมือในการเขียนบาติกแบบดั้งเดิม โดยได้ผลิตผ้าบาติกและนำสินค้าตัวอย่าง เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอลายบาติก ไปเสนอกลุ่มลูกค้าที่ขายสินค้าของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว และฝ่ายจัดซื้อในห้างร้านต่าง ๆ จนได้รับความสนใจจากลูกค้า แล้วสั่งซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง และต่อมามีการพัฒนางานบาติกโดยใช้แม่พิมพ์โลหะผสมผสานกับงานเขียนมือ ทำให้ได้ลวดลายผ้าที่แปลกใหม่ ร่วมสมัยและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของใช้ ของตกแต่งบ้าน และมีการพัฒนาต่อยอดสินค้าบาติกไปสู่กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดให้กว้างขึ้น กระทั่งในปี 2558 ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ Otop Premuim go inter และได้มีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกงานแสดงสินค้าที่ญี่ปุ่น ทำให้ได้พบกับ Buyer ที่สนใจผ้าบาติก ได้สั่งผลิตผ้าบาติกกิโมโนตลอดมา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกลุ่มฯ ได้เปิดพื้นที่เป็น Batik Studio มีเซตอุปกรณ์ DIY สำหรับทำผ้าบาติกอย่างง่าย เพื่อให้ผู้สนใจทำเวิร์คชอปผ้าบาติก และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้งานผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ท้องถิ่น ทั้งนี้ งานผ้าบาติก เดอ นารา เน้นการทำบาติกประเภทเขียนมือล้วน ๆ ซึ่งนับว่าเป็นศิลปะขั้นสูง เนื่องจากแรงงานต้องมีทักษะ ความชำนาญ และต้องใช้ความสามารถเฉพาะบุคคล มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มุ่งนำเสนอคุณค่าแห่งภูมิปัญญาในงานหัตถกรรมที่ “ผลิตน้อย แต่ได้มาก” เป็นงานเขียนผ้าที่มีความประณีตบรรจง มีรายละเอียดมาก จึงผลิตได้คราวละไม่มากนัก ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางจิตใจและเป็นชิ้นงานที่ไม่อาจทำซ้ำเหมือนเดิมได้สมบูรณ์แบบ มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น และได้พัฒนาเพิ่มขึ้นด้วยการผลิตชิ้นงานโดยการเขียนมือลงบนผืนผ้าไหม ซึ่งเป็นผ้าที่มีมูลค่าสูง เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังได้มีการผสมผสานเทคนิคบาติกที่ใช้ทั้งการพิมพ์จากแม่พิมพ์โลหะผสมผสานการวาดเขียนด้วยจันติ้ง ทำให้ได้รูปแบบลวดลายที่ดูแปลกใหม่และทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมา บาติก เดอ นารา ได้มีโอกาสได้ผลิตผ้าบาติกร่วมในคอลเลคชั่น The Rise of Asian ของบริษัทไอริส ในนามแบรนด์ Sirivannavari ซึ่งเป็นแบรนด์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมีผลตอบรับเป็นออเดอร์หลังการเปิดคอลเลคชั่น นับเป็นการพัฒนาผ้าบาติกสู่กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง ผลิตน้อยแต่ได้มาก เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ตระหนักถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์และให้มูลค่าที่คู่ควร

“สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตที่ถือว่ามีส่วนสำคัญมาก เพราะการผลิตผ้าบาติกสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำให้ชุมชนมีความอบอุ่นใจและแสดงให้เห็นว่าการมีโรงเรือนผลิตผ้าบาติกในเขตครัวเรือนที่อยู่อาศัยจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้น ๆ โดยแท้ที่จริงแล้วการผลิตผ้าทำมือที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่โบราณประเภทนี้ เป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มี “วัตถุดิบ” ที่ใช้ผลิตเริ่มตั้งแต่ผ้า เป็นผ้าจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และมีการนำวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นมาสกัดสี ได้แก่ ครามปัตตานี ใบยูคาลิปตัส กาบมะพร้าว ใบหูกวาง เป็นต้น รวมถึงเทียนและขี้ผึ้งที่ต้มเพื่อเขียนผ้าก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อต้มเทียนออกจากผ้า รอให้เทียนเย็นเป็นแผ่นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Packaging โดยใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น นั่นคือ กล่องผลิตจากกาบกล้วยตานี ซึ่งจากการที่กลุ่มฯ ได้ใช้ทักษะภูมิปัญญางานผ้าบาติกท้องถิ่น อันเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่า ดีงาม กลมกลืนกับวิถีชุมชนและสิ่งแวดล้อม การสั่งสม เรียนรู้ พัฒนาฝีมือ และถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น มีการผสมผสานงานบาติกทั้งงานวาดมือและงานพิมพ์ เพื่อรูปแบบงานแปลกใหม่ ดูทันสมัย ทำให้มีรายได้เฉลี่ยของกลุ่มเดือนละ 200,000-400,000 บาท” ดร.วันดีฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนางกีต้า ซับบระวาล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมชม “บาติกโมเดล” ในวันนี้ ทำให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รวมถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามที่ได้ประกาศ Statement of Commitment to Sustainable Thailand เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ร่วมกัน ซึ่งสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือพลังความร่วมมือ การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ที่สำคัญของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสมาชิกกลุ่มทำผ้าบาติก ที่ทุกกระบวนการขั้นตอนการผลิต ต่างคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสตรี ในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษมาทำให้มีอาชีพที่มั่นคง มีงานศิลปะที่สวยงาม และมีรายได้ในการนำไปจุนเจือครอบครัว โดยทางสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมที่จะได้ร่วมสนับสนุนมิติการพัฒนาด้านต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มีอากาศที่บริสุทธิ์ อันจะยังประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไปได้อยู่บนโลกใบเดียวนี้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน