ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ชื่นชมกระทรวงมหาดไทยและทุกจังหวัด มุ่งมั่นขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย ชื่นชมกระทรวงมหาดไทยและทุกจังหวัด มุ่งมั่นขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมชื่นชมผู้ว่าฯ หญิงแห่งจังหวัดปัตตานี ในการส่งเสริมบทบาทสตรีเป็นผู้นำการพัฒนาทุกมิติ และให้คำมั่น UN จะสนับสนุนประเทศไทยในการสร้างความยั่งยืนเพื่อโลกของเรา

วันนี้ (19 พ.ค. 66) เวลา 13.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ร่วมกับผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย และเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยและนายอำเภอ จังหวัดปัตตานี โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้บริหารจังหวัด นายอำเภอ คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และภาคีเครือข่าย ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 17 (Partnership) เป็นสิ่งที่คุณกีต้าร์แสดงอย่างชัดเจนในการมี Passion ที่มาเป็นภารกิจเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ด้วยเพราะพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นตั้งเป้าในการมุ่งพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพระราชทานพระดํารัสว่า Sustainable Village เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น นำไปสู่การลงนามประกาศเจตนารมณ์ด้วย MOU “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งหมู่บ้านยั่งยืนเป็นองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารการกิน มีน้ำดื่ม มียารักษาโรค คนด้อยโอกาสไม่ถูกทอดทิ้ง คนใช้ภูมิปัญญาในการทำมาหากินแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การถ่ายทอดภูมิปัญญาและการให้การศึกษา การให้คนเข้าถึงบริการภาครัฐ การเสริมสร้างความรักความสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจกันในสังคม ไม่มีการกดขี่ทางเพศ ไม่มีการค้ามนุษย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นหน้าที่ของคนมหาดไทยในการเป็นหัวขบวนเป็นผู้นำ เป็นแม่เหล็ก ดึงทุกภาคส่วนมาขับเคลื่อน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนได้มีความสุขอย่างยั่งยืน คือ Basic Needs หรือปัจจัย 4 ให้ครบถ้วน โดย KPIs มีทั้งรูปธรรมและนามธรรม นามธรรม ต้องสร้างผู้คนให้เกิดความรัก สามัคคี และมีจิตอาสา ด้วยการหมั่นลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน ไปพูดคุย ไปปรึกษาหารือ ไประดมพลังสร้างความสามัคคี คนมหาดไทยต้องรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด “ต้องรู้จักพื้นที่ รู้จักคน รู้จักปัญหา และได้ความรักจากผู้คน” สร้างสัมพันธภาพระหว่างปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่นและประชาชน ด้วยการให้นายอำเภอสร้างทีมผู้รับผิดชอบประจำตำบล โดยมี ปลัดอำเภอ ทำทีมให้เข้มแข็ง เป็นครูพาทำ เพื่อให้ข้าราชการรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เพื่อเป็นนายอำเภอที่ดีในอนาคตต่อไป ถ้าทีมผู้รับผิดชอบเข้มแข็ง ทีมหมู่บ้านก็จะเข้มแข็ง และนอกจากมีทีมที่เป็นทางการเข้มแข็งแล้ว ต้องมีระบบหย่อมบ้าน เพื่อให้เซลล์เล็ก ๆ ได้ช่วยกันดูแลกันเอง 1 ครัวเรือนดูแล 1 หย่อมบ้าน ช่วยกันปลูกผัก เอามื้อสามัคคี ถ้าทำได้อย่างนี้ หมู่บ้านก็เข้มแข็ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำให้ “นายอำเภอ” ในฐานะผู้นำการบูรณาการของอำเภอเป็นผู้มีภาวะผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างทีมและกระตุ้นปลุกเร้า สร้างพลังใจให้กับทีมงานอยู่เสมอ หรือเรียกได้ว่า เป็นการบูรณาการทีม บูรณาการคน บูรณาการงาน และบูรณาการพื้นที่ กระทั่งทำให้ทุกปัญหาของพื้นที่สามารถแก้ไขได้ด้วยพลังของ “ทีมอำเภอ” ที่แม้ว่าในอนาคตนายอำเภอจะต้องย้ายไปที่อื่น หรือย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น แต่สิ่งที่นายอำเภอได้บูรณาการร่วมกับทีมไว้แล้วนั้นจะยังคงอยู่ และเมื่อนายอำเภอท่านใหม่มาดำรงตำแหน่ง ก็จะเห็นถึงเจตจำนงร่วมกับของคนในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ก็จะทำให้สิ่งดี ๆ ที่เป็นความต้องการอย่างแท้จริงของประชาชนยังคงอยู่ และได้รับการสานต่อ การพัฒนาต่อเนื่องตลอดไป และคนในหมู่บ้านก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีโอกาสร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและทุกจังหวัด อำเภอ ขยายผลเรื่องของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือที่สำคัญผ่านเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ได้ลงนามร่วมกับ UN และ 21 หน่วยงานภายใต้ UN ประเทศไทย เพื่อพุ่งเป้าสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยในขณะนี้ ด้วยพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานแนวทางหมู่บ้านยั่งยืน ทั้งการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การเสริมสร้างความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มที่ถือเป็นปัจจัย 4 ที่พี่น้องผู้ประกอบการกำลังพัฒนาไปสู่ Sustainable Fashion ตามรอยพระบาทที่พระองค์หญิงทรงขับเคลื่อนอย่างจริงจังมากในช่วง 3-4 ปี สร้างความเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศในกลุ่มทอผ้า กลุ่มทำผ้า เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในเรื่อง Sustainable Fashion อย่างแท้จริง

“สมาคมแม่บ้านมหาดไทยขอแสดงความมุ่งมั่นในการที่จะร่วมกับทุกจังหวัดทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนสำเร็จจริง ๆ และขอชื่นชมจังหวัดปัตตานีที่ได้หยิบยกเรื่องบทบาทสตรีขึ้นมาเป็น Soft Power ของจังหวัด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นบทบาทของผู้หญิงในการเป็นผู้นำระดับพื้นที่มากขึ้นในอนาคตต่อไป” ดร.วันดี ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่สำนักงานสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ได้รับโอกาสจากกระทรวงมหาดไทย สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และจังหวัดปัตตานี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการขับเคลื่อนงานของจังหวัดปัตตานี ซึ่งทาง UN ให้ความสนใจประเด็นที่สำคัญ คือเรื่องบทบาทการนำของสตรีในจังหวัดปัตตานี โดยมีท่านพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีหญิงท่านแรกของจังหวัด มีส่วนที่เป็นผู้ขับเคลื่อน เรื่องประเด็นการส่งเสริมบทบาทสตรีให้เป็นผู้นำทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นต่อการยับยั้งปัญหาการค้าผิดกฎหมาย การลักลอบทำผิดกฎหมายตามแนวชายแดน ซึ่งจากรายงานและข้อมูลที่ UN ได้ศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้นำสตรีมีส่วนช่วยการดำเนินงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคืออยากจะติดตามผลงานที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ และหาแนวทางร่วมที่ UN สามารถช่วยสนับสนุนในมิติต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น

“นอกจากนี้ ขอชื่นชมสิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาแบบ Bottom up จากในระดับท้องถิ่น หมู่บ้าน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ และขอชื่นชมระบบฐานข้อมูล ThaiQM ที่สามารถใช้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้ และใช้ประมวลความคืบหน้าการพัฒนางานด้านต่าง ๆ และเชื่อว่าระบบนี้จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ไปสู่ระดับท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์ และเรื่องที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการลงพื้นที่วันนี้ คือ แนวคิดเรื่อง Sustainable Fashion สู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ในด้านการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตได้ในอุตสาหกรรมผ้าไทย ซึ่งจังหวัดปัตตานีมีชื่อเสียงในเรื่องผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ เป็นต้น จนทำให้เวทีสำนักงาน UN ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จะมีการหยิบการนำเอาองค์ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมผ้าที่ผลิตได้อย่างยั่งยืนลดโลกร้อนมานำเสนอ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยต้องขอบคุณท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และคณะทำงานผ้าไทยใส่ให้สนุกตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้นำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้ UN ได้สัมผัสเรื่องราวความสำเร็จเหล่านี้เพื่อเป็นแนวทางสร้างความมั่นคงความยั่งยืนและอาชีพต่าง ๆ ต่อไป

นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จากการขับเคลื่อนการทำงานแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนของจังหวัดปัตตานีพบว่า กลไกทีมงานที่สำคัญที่สุด คือ ทีมกลไกคณะกรรมการหมู่บ้านและทีม 7 ภาคีเครือข่าย เพราะเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิด ความผูกพัน และมี Passion ในการพัฒนาสร้างสรรค์พื้นที่ให้เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่มุ่งส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการหมู่บ้านโดยใช้ฐานของหมู่บ้านเสริมสร้างพลังความร่วมมือในหมู่บ้านและจับมือภาควิชาการ นำประเด็นที่สะท้อนแลกเปลี่ยนมาเป็นข้อมูลตั้งข้อเสนอแนะ เพราะทุกพื้นที่มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน ทั้งหมู่บ้านเชิงเขา พื้นราบ พื้นนา ไร่เล นอกจากนี้ ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนทุกเรื่องที่ประชาชนกำลังประสบอยู่นั้น ได้ดำเนินการบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ นำข้อมูลจากระบบ ThaiQM มาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา ในเรื่องของที่อยู่อาศัยทั้งการซ่อมและการสร้างบ้านที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรงให้กับพี่น้องประชาชน และในด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนทุกครัวเรือนใช้พื้นที่บ้าน สร้างความสามัคคีในครอบครัว พร้อมทั้งเสริมเติมเต็มสร้างความเข้มแข็งพื้นที่กลางของหมู่บ้านชุมชน เช่น พื้นที่สาธารณะ บริเวณแนวด้านข้างถนน เราใช้ผู้นำชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ ไปดูแลในลักษณะของหย่อมบ้านของตัวเอง ดูบริบทความมั่นคงทางอาหาร ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ปลูกสมุนไพรต่าง ๆ รวมถึงในด้านการดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเรื่องสำคัญที่เราเน้นย้ำในการดูแลรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม โดยสิ่งแรกคือการสร้างความสะอาดด้วยการจัดเก็บขยะโดยมุ่งไปที่บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งเสริมการคัดแยกขยะเปียก ขยะสด ด้วยถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่ได้ทำในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนแล้ว” และประการสำคัญ “เราให้ความสำคัญกับบทบาทสตรี รวมถึงการประกอบอาชีพทุกอาชีพ สตรีจะเป็นผู้นำในการดำเนินงาน โดยมุ่งสร้างพื้นที่ให้กับสตรีทั้งด้านสังคม ทั้งอาชีพ เพราะสตรีเป็น Soft Power ที่สำคัญที่สุดของปัตตานี”

จากนั้น นายอำเภอในพื้นที่ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เช่น “อำเภอปะนาเระ” ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนภายใต้แผนงาน “วิถีปะนาเระวิถีพอเพียง” ได้แก่ 1) kawan คือ การสร้างเครือข่ายในการดำเนินงาน ด้วยการประชุมและตรวจเยี่ยมส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม และวิสาหกิจต่าง ๆ โดยปลัดอำเภอคัดเลือกคณะกรรมการกลาง ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการอาสาและพัฒนาตนเอง เพื่อเป็นองคาพยพขับเคลื่อนงาน 2) simpan คือการจัดระเบียบและการสร้างคลังอาหารและการบริหารในระดับพื้นที่ โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และ 3) paraban คือการส่งต่อความฝันความฝันให้กับคนรุ่นต่อไป เพื่อที่จะส่งต่อความสุขความรักให้กับลูกหลานปานาเระ ต่อไป