ปลัด มท. ปิดอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ตรวจราชการ พร้อมให้ข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบการตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยในยุค MOI NEW ERA

ปลัด มท. ปิดอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ตรวจราชการ พร้อมให้ข้อเสนอแนะการพัฒนารูปแบบการตรวจราชการของกระทรวงมหาดไทยในยุค MOI NEW ERA เน้นย้ำ ผู้ตรวจฯ ทุกระดับต้องมี Passion และมีความรู้อย่างถ่องแท้ บูรณาการเติมเต็มการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (18 พ.ค. 66) เวลา 10.30 น. ที่ห้องปฏิบัติการ War room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย หลักสูตร “ผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระดับกระทรวง พร้อมร่วมรับฟังและให้ข้อเสนอแนะในการนำเสนอผลการสร้างรูปแบบการตรวจราชการในยุค MOI NEW ERA ด้วยกลไก 3 5 7 จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก กรมการพัฒนาชุมชน ต.สาริกา อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก พร้อมด้วย โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ร่วมรับฟังผ่านระบบประชุมทางไกล (Zoom meeting)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณาจารย์ และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยและผู้ตรวจราชการกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เข้ารับการอบรมทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติราชการ ซึ่งการประเมินอยู่ในระดับสูง นับว่าเป็นผลเป็นที่น่าพอใจ ด้วยเพราะพวกเรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน ซึ่งสิ่งที่สำคัญหลังจากผ่านการอบรมไปแล้ว คือ พวกเราทุกคนต้องใช้ความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการคิดวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้การทำหน้าที่ตรวจราชการเกิดมรรคผล เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่

“เรื่องสำคัญที่คนมหาดไทยทุกคนได้ขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง คือ การพุ่งเป้าแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้ฐานข้อมูลในระบบ ThaiQM ที่กรมการปกครองได้พัฒนาขึ้น และท่านนายอำเภอร่วมกับทีมงานของอำเภอ ทำการสำรวจสภาพปัญหาเพิ่มเติมจากระบบ TPMAP ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดเป็นเมนูแก้จนที่ครอบคลุมสภาพปัญหาทุกเรื่องของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีครัวเรือนที่มีปัญหาความยากจนกว่า 12 ล้านปัญหา ใน 3.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งนับเป็นสถิติที่มากกว่าข้อมูลในระบบ TPMAP เดิมถึง 6 แสนครัวเรือน แสดงให้เห็นว่าชาวมหาดไทยมีแรงปรารถนา (Passion) ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน เพราะคำว่า “ความยากจน” คือ ปัญหาความเดือดร้อนทุกเรื่องที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นผู้ตรวจราชการ จึงมีหน้าที่ในการไปกระตุ้นให้ข้าราชการและองคาพยพในพื้นที่ที่ไปตรวจได้เกิดแรงบันดาลใจในการปฏิบัติราชการเพื่อส่วนรวม มุ่งมั่นทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ดังตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้กับพวกเราทุกคนไว้ว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยทุกคนที่ต้องเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการเป็นผู้มีแรงปรารถนา มีทัศนคติที่ดีในการทำงานให้ได้ มุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย และแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนในทุกมิติ ทั้งมิติยาฝรั่ง คือ การทำให้ประชาชนอยู่รอด และมิติยาไทย คือ การทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้ตรวจราชการกรม มีหน้าที่ที่สำคัญ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1) เป็นคนนำสาร นำนโยบายของรัฐบาล ของกระทรวงมหาดไทย และทุกกระทรวง ทุกส่วนราชการไปตรวจติดตาม ตรวจประเมินเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการไปสร้างแรงบันดาลใจข้าราชการและบุคลากรในพื้นที่ ด้วยการกระตุ้นปลุกเร้า ไปโค้ชชิ่ง ทำหน้าที่เป็น “ครูที่ดี” และ 2) วิธีการตรวจราชการ ต้องมีทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบ กล่าวคือ ประการแรก เป็นการตรวจราชการโดยการบูรณาการร่วมกันลงพื้นที่ และประการถัดมา คือ ต้องเพิ่มเติมการลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนแบบไม่เป็นทางการ นอกเหนือจากกำหนดการที่กำหนดไว้ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดของการไปตรวจราชการ คือ “การสื่อสาร” เพราะการสื่อสารที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ ที่ถูกต้องแม่นยำ จะทำให้เกิดกรอบและทิศทางในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขที่มีเอกภาพ ตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีอย่างสมบูรณ์” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า โครงการที่สำคัญอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฏีใหม่ มาทำให้พี่น้องประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตของตน ซึ่งผู้ตรวจราชการทุกระดับต้องมีความรู้และความเข้าใจในความหมายของ “โคก หนอง นา” ก่อน เพราะเราต้องการทำให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้วยการนำทฤษฏีใหม่ไปประยุกต์สู่โคกหนองนาอย่างมีคุณภาพ เรื่องนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการอบรมผู้ตรวจนี้ เพื่อให้ทุกท่านได้มี Knowhow รู้และเข้าใจอย่างท่องแท้ และสามารถลงไปปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ได้ และต่อยอดเสริมเติมเต็มให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ พัฒนาพื้นที่ไปสู่การเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชน รวมถึง “โครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงมหาดไทยได้รับพระอนุญาตจากพระองค์ท่าน ภายหลังจากได้รับพระราชทานหนังสือ Sustainable City อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยในเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่เหล่าพสกนิกรไทยในทุกมิติ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ประมวลรวบรวมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ มาเป็นแนวทางทำให้หมู่บ้านของทุกตำบลใน 878 อำเภอ 76 จังหวัด ใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัดและอำเภอ ใช้ภาวะผู้นำ (Leadership) บูรณาการทีมอำเภอ ทีมตำบล หมู่บ้าน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน มุ่งมั่นทำงานแบบ Partnership ตาม SDGs เป้าหมายที่ 17 ด้วยการประชุมพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดเป็น KPI เพื่อนำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญ คือการขับเคลื่อน โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยต้องกระตุ้นปลุกเร้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เชิญชวนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน มาเป็นทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน และต้องลงพื้นที่ไปประเมินผลประสิทธิภาพการทำงานของผู้นำทีมและภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดผลประเมินว่าสิ่งใดที่ควรขับเคลื่อนต่อไป เช่น การประกวดข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบลดีเด่น การประกวดผู้รับผิดชอบประจำพื้นที่ดีเด่น ซึ่งจะเป็นแต้มต่อให้กับผู้ที่มีผลงานในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขที่ดี ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างภาคภูมิใจ และเป็นตัวอย่างให้กับทีมอื่น ๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนตาม MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และ MOU ดำเนินโครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข คือ การโยงใยให้คณะสงฆ์มาเป็นภาคีเครือข่ายในการไปช่วยดูแลทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องไปขอรับความเมตตาจากท่านร่วมเป็นภาคีที่แข็งแกร่ง โดยมีผู้แทนของคณะสงฆ์ประกบคู่กับข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำพื้นที่ มาทำงานวางแผนสิ่งที่เคยเป็นศูนย์รวมจิตใจ ให้กลับมาเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างนั่นคือ วัด ที่เป็นแหล่งสรรพวิชา เป็นครู คลัง ช่าง หมอ มีพระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สอนให้คนทำดี สอนหนังสือ ทำให้วัดเป็นสถานที่ที่สามารถรองรับผู้คนในยามปกติ ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการแค่ไปทำบุญ และเป็นศูนย์เรียนรู้ในทุก ๆ เรื่องได้ ไม่เว้นแม้ยามเกิดสาธารณภัย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ สอดคล้องกับสิ่งที่เราชาวมหาดไทยทุกคนก็ได้ประกาศเจตนารมณ์กับสหประชาชาติแล้วว่า เราขับเคลื่อน “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา”” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในขั้นอยู่รอด พอเพียง อย่างยั่งยืน

“ผมและผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมนี้จะเป็นประโยชน์กับชีวิตการเป็นข้าราชการของทุกท่าน และเป็นเครื่องเตือนใจให้พวกเราพัฒนาความรู้ให้เพิ่มพูนมากขึ้น เพื่อการทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดคุณค่าสูงสุดในช่วงชีวิตการรับราชการ ขอให้ทุกท่านได้ช่วยกัน “อย่าได้เกษียณจากการทำความดีเพื่อส่วนรวม” เพราะเราจะมีพลังกาย พลังใจ ในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยอุดมการณ์ และแรงปรารถนาในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และสิ่งที่ผู้ตรวจราชการทุกคนนำเสนอนั้น จะเป็นประโยชน์ให้ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยในการนำไปกำหนดนโยบายการตรวจราชการต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ขอให้ทุกท่านไม่ลืมหน้าที่ของผู้ตรวจราชการ ผู้เปรียบเสมือนครู ที่ต้องสอน แนะนำ ส่งเสริม ให้กำลังใจ พูดคุยปรึกษาหารือ รวมกับข้าราชการทุกพื้นที่ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่สำคัญที่สุดของระบบราชการ คือ ทำให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย