ปลัด มท. หารือร่วมผู้นำภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนำองค์ความรู้และประสานทุกภาคีเครือข่ายในสังคม

ปลัด มท. หารือร่วมผู้นำภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนำองค์ความรู้และประสานทุกภาคีเครือข่ายในสังคม เพื่อร่วมสร้างสรรค์ประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วันนี้ (15 พ.ค. 66) เวลา 13.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก นายสันชัย พัฒนะวิชัย หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครนายก นายสราวุธ สุขรื่น รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ไปยังห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมี นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรม/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศ.ปฏิบัติ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ นายกสมาคมสถาบันทิวา ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ดร.ศิริมาเมธ์วดี ศิรธนิตรา นายกเทศมนตรีเมืองพิบูลมังสาหาร รศ.เพ็ญรัตน์ หงษ์วิทยากร รักษาการเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและรักษาการเลขาธิการสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้บริหารที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้รับเกียรติร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้นำบูรณาการขับเคลื่อนงานในเชิงพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาการและสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศในด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อร่วมดำเนินงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขในมิติต่าง ๆ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เช่น รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้นำภาควิชาการด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความสุขที่ยั่งยืน จากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้นำภาควิชาการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.กรกลด คำสุข และ ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ผู้นำภาควิชาการด้านวิชาการแฟชั่นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน จากวิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อ.ศรัณย์พร เกิดเกาะ ผู้นำภาควิชาการด้านการส่งเสริมบทบาทความร่วมมือของประชาชน จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น ซึ่งบันทึกข้อตกลงฯ นี้ จะทำให้กระทรวงมหาดไทยได้รับความกรุณาจากท่านอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัยสนับสนุนบุคลากรภาควิชาการเพื่อร่วมขับเคลื่อนงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (UN SDGs) ที่มีต้นแบบองค์ความรู้จากการถอดบทเรียนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย อันเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยและมหาวิทยาลัยทุกแห่งในการทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

“บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยกับกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ มีกรอบและแนวทางความร่วมมือ ระยะเวลา 5 ปี มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยและสถาบันอุดมศึกษาเครือข่าย ทปอ. สร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการที่ดี จัดการความสัมพันธ์ระหว่างราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ในการระดมทรัพยากรมาใช้ร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน นำบุคลากรและองค์ความรู้ ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบนพื้นฐานของแนวคิดการเชื่อมโยงภารกิจและพื้นที่ และร่วมกันวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้มีจุดเน้นการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำของการเติบโตในแต่ละพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเครือข่าย ทปอ. ทุกแห่ง จะดำเนินการสนับสนุนด้านวิชาการผ่านงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์สังคมขั้นสูง โดยจะคัดเลือกอาจารย์ และช่วยเป็น Think tank เสริมแนวความคิด และทรัพยากร (Resource) ในการส่งเสริมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) พร้อมทั้งวิเคราะห์ สนับสนุน และสร้างกลไกให้กระทรวงมหาดไทยมีรูปแบบในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เพื่อในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร รูปแบบการทำงานที่ดีนี้ยังคงอยู่ เราจะมุ่งมั่นเปลี่ยนความคาดหวังของสังคมให้มาเป็นความร่วมมือ อันจะเป็นการทำสิ่งดี ๆ ในระยะยาว เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน มหาวิทยาลัยจะเอาของที่มีในตัวพวกเราภาควิชาการทุกคนมาร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้สู่ความยั่งยืน

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า บทบาทที่สำคัญที่เป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษามี 4 ด้าน คือ 1. การพัฒนาศักยภาพของคน 2. การสร้างความรู้ทางนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ 3. เมื่อมีคนเก่ง มีนวัตกรรมดี ๆ ก็พยายามนำสิ่งเหล่านี้ไปขับเคลื่อนชุมชนและท้องถิ่นไปสู่ความยั่งยืน และ 4. ส่งเสริมในเรื่องของ Soft skill และ Soft Power คือ ศิลปวัฒนธรรม ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยความร่วมมือนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้กลไกกระทรวงมหาดไทยและกลไกสถาบันอุดมศึกษาได้ทำงานร่วมกัน ได้พูดคุยกัน ได้หารือและขับเคลื่อนงานไปด้วยกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และมหาวิทยาลัยจะเป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมประสานความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันให้มากที่สุด

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนงานอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มุ่งเสริมสร้างศักยภาพท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอให้เป็น Strong Executive ด้วยการสร้างทีมบูรณาการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จาก 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน อย่างน้อยทีมละ 10 คน เช่น ที่บ้านวังส้มซ่า อ.เมืองพิษณุโลก ได้ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ อันเป็นการลดจุดอ่อนของข้าราชการประจำที่จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง ส่งผลทำให้งานไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งลดจุดอ่อนที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรของภาครัฐ ด้วยพลังของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่พักอาศัย แม้ว่านายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดจะย้ายไปไหน ทีมอำเภอฯ เหล่านี้ก็จะยังคงอยู่สานต่อสิ่งที่ดีต่อไป ซึ่งการลงนาม MOU กับ ทปอ. ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเสริมสร้างศักยภาพด้านองค์ความรู้ทางวิชาการให้เกิด “ทีมที่เข้มแข็ง” ทำให้ 878 โครงการใน 878 อำเภอเป็น Project Idea หรือ Flagship Project ของอำเภอ สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ให้กับคนในพื้นที่นั้น ๆ ได้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนงานร่วมกันในครั้งนี้ ยังเป็นการสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้กับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน โดยทรงเน้นย้ำให้กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน ทำให้ประชาชนรวมตัวรวมกลุ่มดูแลหมู่บ้านตนเองให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN ซึ่งเราตั้งเป้าหมายจะทำให้ทุกหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” โดยกำหนด KPIs คือ 1) ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของประชาชนแบบธรรมชาติ เป็นคุ้ม กลุ่ม ป๊อก 2) ทำให้ทุกครัวเรือนมีการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระองเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร 3) ทำให้ทุกครัวเรือนดูแลรักษาความสะอาด บริหารจัดการขยะ และมีถังขยะเปียกลดโลกร้อน 4) มีการดูแลทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยจากอาชญากรรม ยาเสพติด ภัยธรรมชาติ ฯลฯ 5) มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรมองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และ 6) ผู้คนมีน้ำใจไมตรี และมีจิตอาสาดูแลชุมชน ตำบล หมู่บ้าน รวม 7,255 หมู่บ้าน ใน 7,255 ตำบล 878 อำเภอ 76 จังหวัด”

“ขอให้พวกเราทุกคน ทั้งภาคราชการ และภาควิชาการได้มีเวทีพูดคุยในลักษณะนี้ให้ถี่ขึ้น ให้บ่อยครั้งขึ้น โดยขอให้กรมและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยได้จัดเวทีการปรึกษาหารือและเชิญคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาร่วมพูดคุยในการพัฒนางาน ต่อยอดงานตามอำนาจหน้าที่ และขอความกรุณาให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ใช้กระทรวงมหาดไทยเป็นช่องทางในการสร้างพลังความร่วมมือ ทำให้พี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ ได้ร่วมคิด ร่วมนำเสนอ ร่วมพูดคุย ร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมรับประโยชน์ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืนตามที่พวกเราทุกคนตั้งใจ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับผลการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่ ซึ่งมีปฏิทินดำเนินงาน โดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการอบรมโครงการผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด เพื่อเข้าร่วมอบรมกับผู้บริหารจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่งทั่วประเทศ โดยในระยะที่ 1 ทปอ. จะทำการพิจารณาคัดเลือกโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2566 ระยะที่ 2 จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจะพิจารณาคัดเลือกประเด็นเสนอต่อที่ประชุม ทปอ. เพื่อพิจารณารวม 18 กลุ่มจังหวัด 76 จังหวัด ภายในเดือนกรกฎาคม 2566 และที่ประชุม ทปอ. จะพิจารณาให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2567 ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566 – กันยายน 2567 และระยะที่ 3 : ที่ประชุม ทปอ. จะร่วมจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในห้วงเดือนสิงหาคม 2566 และพิจารณาคัดเลือกประเด็นที่จะสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – กันยายน 2568 และเห็นชอบวิธีการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ 3 ด้าน คือ 1) การสนับสนุนขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน 2) การสนับสนุนการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2567 และ 3) การสนับสนุนการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2568