ไทยส่งต่อพลังซอฟต์ พาวเวอร์ สู่สายตาชาวโลก มูลนิธิไทยเปิดรับเสนอชื่อรางวัลทูตสาธารณะ

กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย เชิญเสนอชื่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร เพื่อรับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2566 (Public Diplomacy Award 2023) พร้อมเปิดกว้างทั้งคนไทยและต่างชาติ สร้างภาพลักษณ์ ความนิยมและการยอมรับให้แก่ประเทศไทย ย้ำพลัง ‘ซอฟต์ พาวเวอร์’ ไทยแข็งแกร่ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนประเทศ

นายธฤต จรุงวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิไทย กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศและมูลนิธิไทย เชิญเสนอชื่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร เพื่อรับรางวัลการทูตสาธารณะ ประจำปี 2566 (Public Diplomacy Award 2023) โดยเปิดรับการเสนอชื่อตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 ถึง 31 กรกฎาคม 2566 (ระยะเวลา 3 เดือน) และจะมีการพิจารณาคัดเลือกโดยคณะอนุกรรมการ ที่ประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เลขาธิการมูลนิธิไทย ผู้แทนภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน จำนวน 9 คน ซึ่งปีนี้คณะกรรมการฯเปิดกว้างการเสนอชื่อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บริษัท องค์กร ที่ทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

รางวัลการทูตสาธารณะ เป็นรางวัลที่กระทรวงต่างประเทศและมูลนิธิไทยตั้งขึ้นเพื่อมอบให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทยในด้านการสร้างมิตรภาพ ความเข้าใจอันดี หรือความนิยมไทย ในระดับประชาชนในต่างประเทศ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ และสนับสนุนบทบาทเหล่านั้นของผู้ได้รับรางวัลให้เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงการมุ่งประชาสัมพันธ์ให้การทูตสาธารณะและมูลนิธิไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งรางวัลทูตสาธารณะจัดขึ้นครั้งแรกเมือปี 2565 ผู้ได้รับรางวัล คือนายแพทย์สุนทร อันตรเสน ผู้ดำเนินโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โรคหู (ESMU) ที่ได้รักษาผู้ป่วยในต่างประเทศกว่า 70,000 รายใน 80 เมือง 10 ประเทศ

“รางวัลการทูตสาธารณะ เรามุ่งเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศไทย ทำให้คนรู้จัก เข้าใจ และชื่นชอบประเทศไทย เหมือนการสร้างเอฟซี หรือติ่ง ในภาษาวัยรุ่นที่พูดกัน แต่ทูตสาธารณะของเรามีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น เราต้องการให้เขาชื่นชอบประเทศไทย คนไทย และความเป็นไทย และโน้มน้าวคนอื่นให้ชื่นชอบประเทศไทยด้วย ไม่ใช่แค่การดูหนัง ฟังเพลง และการซื้อสินค้าเท่านั้น”

นายธฤต กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศ และมูลนิธิไทย ได้ดำเนินนโยบายการทูตสาธารณะมาโดยตลอด ซึ่งมีการดำเนินงานใน 2 ระดับ ระดับรัฐบาลผ่านกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสารนิเทศ และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กระทรวงต่างประเทศก่อตั้งขึ้น มีลักษณะเป็นองค์กรร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายการทูตสาธารณะโดยตรง ซึ่งเป็นการทำงานในระดับมวลชน สื่อสารกับประชาชนโดยตรง และการมอบรางวัลการทูตสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่นี้

“การทูตสาธารณะของไทย คือ การฑูต ที่เน้นผูกสัมพันธ์ไปยังประชาชนชาวต่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดการรู้จัก ความเข้าใจ ความนิยม หรืออีกนัยหนึ่ง คือการสร้าง Fan Club ให้แก่ประเทศไทย และความเป็นไทยนั่นเอง”

รางวัลการทูตสาธารณะนี้เปรียบเสมือนเป็น “ซอฟต์ พาวเวอร์” (Soft Power) ของประเทศไทย ซึ่ง ศจ.โจเซฟ ไนย์ (Joseph Nye) เคยให้นิยมของคำว่า “ฮาร์ด พาวเวอร์” (Hard Power) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามว่า เป็นการลงทุนเครื่องจักร เครื่องมือ อาวุธต่างๆ ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุนจำนวนมาก ส่วนซอฟต์ พาวเวอร์ คือ การโน้มน้าวให้คล้อยตาม ไม่ใช่การบังคับเหมือนกับฮาร์ด พาวเวอร์และลงทุนไม่มาก โดยซอฟต์ พาวเวอร์ เป็นการแผ่อิทธิพลของชาติตะวันตกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ ดนตรี สื่อสารมวลชน อาสาสมัครต่างๆ ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้จะสอดแทรกเนื้อหา เพื่อกล่อมเกลาให้คนเชื่อ จนเกิดเป็นความนิยมโลกตะวันตกขึ้นมา และมีผลสืบเนื่องให้คนอื่นๆ เชื่อตามกัน หรือปัจจุบันการเกิดขึ้น K pop คนก็มองว่าเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ แต่ในมุมของ ศจ.โจเซฟ แล้วเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ไม่ได้ส่งผลมากนัก แต่ K pop สามารถโน้มน้าวให้เกิดผลด้านเศรษฐกิจได้ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและได้ผลเป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยเรามีจุดขายด้านการท่องเที่ยว อาหาร มวยไทย เป็นต้น จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ก่อนสถานการณ์โควิด มีจำนวนถึง 40 ล้านคนต่อปี ที่เข้ามาจับจ่าย มากินอาหารไทย เที่ยวสถานที่ต่าง ๆ และเข้าร่วมกิจกรรมและประเพณีของไทยถือว่าประสบความสำเร็จมาตลอด และมีอีกกิจกรรมที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับการทูตสาธารณะ คือ สถานทูตไทยในประเทศเม็กซิโก ได้มีการเปิดสอนภาษาไทยออนไลน์ มีคนมาสมัครเรียนถึง 4 พันคน ซึ่งทำให้เห็นว่าชาวต่างชาติชื่นชอบในประเทศไทย และที่ประเทศเปรู มีวงที่ชื่อว่า 4Mix ซึ่งเป็นวง LGBTQ+ ของไทยวงแรกของโลกไปเปิดการแสดงที่กรุงลิม่า ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนขยายไปแสดงที่เมืองต่างๆ จึงทำให้เห็นว่าประเทศไทยก็ยังดำเนินการด้าน Soft Power กันอยู่และพยายามหาช่องทางใหม่ๆ ในการดำเนินการต่อไป

สำหรับรางวัลการทูตสาธารณะประจำปี 2566 นี้ มีจำนวน 1-3 รางวัล จะมอบให้แก่บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ทั้งสัญชาติไทยหรือต่างชาติ โดยมูลนิธิไทย และ กต. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัล ประจำปี 2566 จำนวนรวม 9 คน ร่วมกันพิจารณาผลงานของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ และคัดกรองผู้สมควรได้รับรางวัลเพื่อเสนอ โดยรางวัลที่ได้รับ ประกอบด้วย 1) การจารึกชื่อผู้ได้รับรางวัลบนถ้วยรางวัลที่มีชื่อว่า “Goodwill” หรือ “ความปรารถนาดี” ซึ่งจะจัดแสดงที่ กระทรวงการต่างประเทศ 2) ถ้วยรางวัลที่มีการสลักชื่อมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ได้รับรางวัล 3) การจารึกชื่อบนแผ่นป้ายเกียรติยศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ 4) ประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ และ 5) เงินรางวัลจำนวน 300,000 บาท/รางวัล

โดยเปิดรับการเสนอชื่อตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2566 ถึง 31 กรกฎาคม 2566 (ระยะเวลา 3 เดือน) คณะอนุกรรมการฯ จะพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อในเดือนสิงหาคม 2566 จากนั้นจะนำเข้าสู่คณะกรรมการมูลนิธิไทยจะประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับรางวัลในเดือนกันยายน 2566 ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-203-5000 ต่อ 11031 หรืออีเมล [email protected]