ปลัดมหาดไทยตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานข้าราชการ พร้อมพบปะพี่น้องประชาชนผู้รับบริการ ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เน้นย้ำ มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน

ปลัดกระทรวงมหาดไทยตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานข้าราชการ พร้อมพบปะพี่น้องประชาชนผู้รับบริการ ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เน้นย้ำ มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน

วันนี้ (10 พ.ค. 66) เวลา 10:00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอบ้านแพง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและติดตามการปฏิบัติราชการของผู้ปฏิบัติงานที่ทำการปกครองอำเภอบ้านแพง และส่วนราชการประจำอำเภอ พร้อมพบปะพี่น้องประชาชนผู้รับบริการงานทะเบียนและบัตร โดยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางสงวน จันทร์พร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นางสาวกนกพร ไชยศล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครพนม ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายอดิศักดิ์ นามวงค์ นายอำเภอบ้านแพง พร้อมด้วยปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย และการขับเคลื่อนงานสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ในบริเวณพื้นที่ที่ว่าการอำเภอบ้านแพง และตรวจเยี่ยมส่วนราชการซึ่งมีที่ตั้งภายในที่ว่าการอำเภอบ้านแพง เช่น สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาบ้านแพง สำนักงานสัสดีอำเภอบ้านแพง สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบ้านแพง พร้อมทั้งพบปะพี่น้องประชาชนผู้มารับบริการงานทะเบียนและบัตร ที่ทำการปกครองอำเภอบ้านแพง และเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้ดาวน์โหลด Application ThaiD เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล โดยมีนายอำเภอบ้านแพง และปลัดอำเภอบ้านแพง เป็นผู้แนะนำวิธีการดาวน์โหลดและการใช้งานให้กับพี่น้องประชาชน จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอบ้านแพง โดยมีนายอำเภอบ้านแพง พร้อมด้วยปลัดอำเภอ และข้าราชการในสังกัด ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำอำเภอบ้านแพงทุกท่าน โดยจากการเดินสำรวจตรวจเยี่ยมพื้นที่บริเวณที่ว่าการอำเภอบ้านแพง ร่วมกับท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และท่านนายอำเภอบ้านแพง พบว่ามีพื้นที่บางจุดที่ท่านนายอำเภอต้องบูรณาการทั้งทีมงานข้าราชการ และภาคีเครือข่าย ช่วยกันปรับปรุงพัฒนาให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงาม ให้เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองของอำเภอ อันจะทำให้พี่น้องประชาชนผู้มารับบริการ ได้มีพื้นที่ที่ร่มรื่น เป็นระเบียบเรียบร้อย และยังสามารถใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สันทนาการ เป็นพื้นที่ที่เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนชาวอำเภอบ้านแพง เช่น การใช้ไม้ไผ่ที่มีอยู่จำนวนมากในบริเวณพื้นที่ของอำเภอ มาจัดทำเป็นเสวียนไม้ไผ่ ใช้ในการบริหารจัดการขยะ การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้พบเห็นและใช้เป็นต้นแบบในการปลูกพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้านเรือนทุกครัวเรือน รวมทั้งบริเวณถนนภายในที่ว่าการอำเภอ และตัวอาคาร สถานที่ทำงาน สถานที่บริการพี่น้องประชาชน ต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดระเบียบตามหลัก 5ส ให้พร้อมสำหรับการให้บริการพี่น้องประชาชน หากพื้นที่ส่วนใดที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณของทางราชการ ขอให้ได้แจ้งไปยังท่านอธิบดีกรมการปกครอง เพื่อจะได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณใช้ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสถานที่ราชการที่สามารถบริการพี่น้องประชาชนได้อย่างมีความสุข สุขทั้งผู้ปฏิบัติราชการและผู้มาติดต่อราชการ ถ้าที่ว่าการอำเภอรั่ว รกรุงรัง ไม่สะอาด ห้องน้ำชำรุดทรุดโทรม คนที่ทำงานก็ไม่มีความสุข คนที่มาติดต่อราชการก็จะไม่สะดวกสบาย ได้รับบริการที่ไม่มีความสุข

“นอกจากนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดนครพนม ได้จัดฝึกอบรมหลักสูตรทบทวนความเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองและคนมหาดไทย เพื่อหนุนเสริมเติมเต็มให้ข้าราชการฝ่ายปกครอง ได้รับการบ่มเพาะทักษะประสบการณ์ วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมองค์กร ของการเป็นฝ่ายปกครอง รู้จักการ “ครองตน ครองคน และครองงาน” มีระเบียบวินัย ยึดระเบียบแบบแผน รักษาจรรยาบรรณ รักษาคุณธรรมนักปกครอง เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองที่สามารถเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี เป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อุทิศทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน ตลอดจนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ดังนิทาน เรื่อง “แขนงไม้ไผ่” ที่หากมีทั้ง 7 แขนงก็จะแข็งแกร่งมีพลัง ถ้ามีแขนงเดียวก็หักง่าย เราต้องทำให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันทำสิ่งที่ดี ร่วมกัน Change for Good ให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชน” ปลัด มท. กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ ของข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมทั้งทีมอำเภอ อันประกอบด้วยทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และข้าราชการประจำอำเภอ และทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย นั่นคือ การทำให้หมู่บ้านในพื้นที่นั้น เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” อันเป็นแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน โดยทรงเน้นย้ำว่า “หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย คือ การทำ Sustainable Village การสร้างหมู่บ้านยั่งยืน” ซึ่งพระองค์ได้ทรงเป็นผู้นำในการทำเป็นต้นแบบเป็นแบบอย่างแล้ว ผ่านแนวพระดำริเรื่อง Sustainable Fashion อันเป็นการต่อยอดแนวพระราชดำริการส่งเสริมผ้าไทยของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีจุดกำเนิดเริ่มต้นที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนมแห่งนี้ โดยพระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริ ด้วยการใช้หลักวิชาการสมัยใหม่ หลักการตลาด หลักส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้ผู้ประกอบการ ช่างทอผ้าได้มีหลักการพึ่งพาตนเอง รู้จักปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ให้สีธรรมชาติ ทำทุกกระบวนการผลิตผ้าครบวงจรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การที่เราทุกคนจะทำให้หมู่บ้านในพื้นที่อำเภอบ้านแพง เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ได้นั้น มีปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ 1) ทุกครัวเรือนต้องมีความมั่นคงดานอาหาร ด้วยกันน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” โดยทุกคนต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” เป็นต้นแบบความมั่นคงด้านอาหาร ใช้บ้านพัก ใช้ที่ว่าการอำเภอเป็นที่เริ่มต้น เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนนำไปเป็นแบบอย่างในการปลูกผักสร้างความมั่นคงด้านอาหารในทุกครัวเรือน 2) บ้านเรือนทุกหลังมีความสะอาด มีการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน 3) บ้านเรือนมีความแข็งแรง ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ 4) สร้างทีม สร้างพลัง ด้วยการสร้างและขับเคลื่อนทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ เป็นผู้นำในการบริหารจัดการงานทุกกระทรวงในพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จและประโยชน์ ได้แก่ ทีมที่เป็นทางการหรือทีมตามกฎหมาย และทีมที่ไม่เป็นทางการหรือจิตอาสา ที่เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละ จาก 7 ภาคี เครือข่าย 5) นำระบบคุ้มบ้านมาแบ่งกลุ่มย่อยในการดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดการทำงานที่เกิดประโยชน์กับประชาชน อาจเรียกว่า ป๊อก หมวด หย่อมบ้าน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้การบริหารจัดการชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะ 1 คุ้ม จะดูแลสมาชิกประมาณ 25 ครัวเรือน ทำให้ดูแลได้อย่างใกล้ชิด มีผู้นำคุ้มช่วยงานหมู่บ้านเพิ่มขึ้น ทำให้คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมปรึกษา และมีการถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานให้รู้จักเคารพผู้ใหญ่ ฯลฯ 6) ทุกคนในหมู่บ้าน มีความรู้รักสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูล ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน สืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน 7) ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบตำบล ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดี ทำความดีด้วยการเท้าติดดิน ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น ไปติดตามคนที่ผ่านการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด ติดตามการขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน การรณรงค์ส่งเสริมคนใช้แอปพลิเคชั่น ThaiD เป็นต้น

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนในทุกมิติของพื้นที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของพี่น้องประชาชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ถ้าเรารอรับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนกลางอย่างเดียว อาจต้องรอหลักเดือน หลักปี ดังนั้นขอให้ทุกท่านได้ปลุกพลังในตัวเอง ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำต้องทำก่อน บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ ลงขันปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะภาคีเครือข่ายในสังคมล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความปรารถนาดีต่อพื้นที่แทบทั้งสิ้น และหลังจากนี้สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการทำสิ่งที่ดีของท่านนายอำเภอ ท่านปลัดอำเภอ และข้าราชการในอำเภอ และแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่อำเภอ ด้วยการจัดประกวด “อำเภอสะอาด” ซึ่งจะได้แจ้งแนวทางและหลักเกณฑ์ต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ท่านนายอำเภอ ท่านปลัดอำเภอ และข้าราชการทุกคนช่วยกันเติมหัวใจการทำงาน ลงไปใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาดเป็นข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่น ความมั่นคง ให้สมกับการเป็นข้าราชการที่มีภาษีอากรของพี่น้องประชาชนเป็นเงินเดือน ด้วยการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน