สมเด็จพระมหาธีราจารย์ นำพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์ขับเคลื่อนงาน “เกื้อหนุนให้ชุมชนพ้นทุกข์” ร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย เป้าหมายให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

 

“นับเป็นความโชคดีของประชาชนคนไทยที่คณะสงฆ์ได้มีเมตตาในการขับเคลื่อนงานสาธารณสงเคราะห์ซึ่งสอดคล้องกับงานในหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการทุกคนในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน โดยในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย ภายหลัง เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการอบรมประชาชนกลาง (อ.ป.ก.) เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน คือ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ บูรณาการภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เช่น ภาควิชาการ คือ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน หรือปราชญ์ชาวบ้านในสังคม รวมถึงผู้นำศาสนาด้วยการนิมนต์พระสังฆาธิการทุกระดับ รวมถึงผู้นำศาสนาอื่น ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

บทบาทที่ผ่านมามีทั้งงานเฉพาะหน้า (ระยะสั้น) คือ การสงเคราะห์ ช่วยเหลือเวลาตกทุกข์ได้ยาก เช่น บ้านไฟไหม้ ก็นำข้าวอาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่หลับที่นอนมอบให้ และช่วยกันสร้างบ้าน ช่วยกันทำให้เขามีที่อยู่อาศัย หรือเป็น “ยาฝรั่ง” และอีกส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การทำงานแบบยั่งยืน หรือ “ยาไทย” คือ การพัฒนา เกื้อกูล บูรณาการ และเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระศาสนา เพื่อทำให้คนเป็นคนดีอย่างถาวร พร้อมทั้งส่งเสริมการน้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการให้คนไทยได้ตื่นตัวและมีจิตสำนึกที่จะเป็นผู้มีจิตอาสา ดังโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ”

รวมไปถึงพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” อันจะทำให้คนในชุมชนช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชน มีความรัก ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลกัน โดยขอให้ทุกจังหวัดได้นำ MOU ที่กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามเป็นกรอบในการจัดทำ MOU ในระดับพื้นที่ เพื่อจะได้มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่มาเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนภายใต้กรอบของบันทึกข้อตกลง ทำให้เกิดมรรคผลทั้งในเชิงสัญลักษณ์ และในทางปฏิบัติ คือ การล้อมวงนั่งปรึกษาหารือและวางแผนการขับเคลื่อนงานเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือฯ ในระดับจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัด และระดับอำเภอ ณ ที่ว่าการอำเภอ รวมถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ในสถานที่ที่เหมาะสม

พร้อมทั้งนิมนต์พระสังฆาธิการเพื่อจับคู่ 1 พระสังฆาธิการ 1 ภาคราชการ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนประชาชน ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) อันจะเป็นการสนองพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งขณะนี้มี 7,255 หมู่บ้านเป้าหมายที่เป็นวิชาบังคับ และหมู่บ้านที่เหลือเป็นวิชาเลือก ที่ต้องทำให้ทุกครัวเรือนมีที่อยู่อาศัยถูกสุขลักษณะ มั่นคง แข็งแรง มีส้วมถูกสุขลักษณะ มีบ้านเรือนที่สะอาด มีการบริหารจัดการขยะ มีถังขยะเปียกลดโลกร้อน ประชาชนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มดูแลช่วยเหลือกัน ร่วมคิด ร่วมปรึกษาหารือ ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ช่วยกัน Change for Good ทำสิ่งที่ดี ให้เกิดขึ้น

ด้าน สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวว่า“พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เนื่องด้วยชนชาติไทยนับตั้งแต่มีประวัติความเป็นชาติมาได้นับถือและยกย่องเทิดทูนพระพุทธศาสนาเป็นสรณะแห่งชีวิต พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ที่ผ่านมาคณะสงฆ์ได้ดำเนินงานด้านสาธารณสงเคราะห์ ในหลักการ 4 ด้าน คือ 1. การสงเคราะห์ 2. การเกื้อกูล 3. การพัฒนา และ 4. การบูรณาการ โดยมีแนวทางการสร้างภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานร่วมกันให้เกิดผลดีกับสังคม ซึ่งฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมจะส่งเสริมใน 8 ประการ คือ 1. เผยแผ่หลักธรรมคำสอนในการเสริมสร้างให้คนมีจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 2. ช่วยสงเคราะห์พุทธศาสนิกชนให้มีขวัญกำลังใจในการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ “โคก หนอง นา” 3. สนับสนุนให้ประชาชน ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม มีจิตอาสาความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน 4. ดำเนินกิจกรรมการช่วยเหลือและการพัฒนาสังคมทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ 5. ส่งเสริมสนับสนุนพระสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ องค์กรพระพุทธศาสนา ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง” 6. ขับเคลื่อนพันธกิจฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ด้านการสงเคราะห์เพื่อสังคม 7. พัฒนางานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์และพัฒนางานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล (อ.ป.ต.) สร้างสังคมสุขภาวะสู่นโยบายระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ 8. พัฒนาระบบกลไกการบูรณาการการทำงานด้านสาธารณสงเคราะห์ร่วมกันระหว่างองค์กรสงฆ์ ภาคีเครือข่าย สร้างการรับรู้และเชื่อมประสานการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ พระสังฆาธิการ พระสงฆ์นักพัฒนา และประชาชน เพื่อพัฒนาการทำงานสาธารณสงเคราะห์ การสงเคราะห์ชุมชน และพัฒนาการเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ”

อีกทั้งได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อเป็นไปตามบันทึกข้อตกลง ฯ เพิ่มเติม ได้แก่ 1) ให้ทุกจังหวัดร่วมดำเนินการสาธารณสงเคราะห์ร่วมกับศูนย์ประสานงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 19/2565 ที่ได้มีมติให้เจ้าคณะจังหวัดและคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัดคัดเลือกพื้นที่จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ประจำจังหวัด” เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานภาคีเครือข่ายในการช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่ อันจะส่งเสริมความร่วมมือเกื้อหนุนระหว่างวัด ชุมชน และภาคีเครือข่าย ให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ

 

2) ให้พระสงฆ์ร่วมบูรณาการทำงานกับฝ่ายปกครองและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งเสริมภูมิปัญญาการหาเลี้ยงชีพ ด้านจิตอาสาเพื่อสังคม ด้านเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง และด้านอื่น ๆ ตามบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ ทำให้ทุกชุมชนมีแบบแผนมีส่วนร่วม มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตและคุณค่าความเป็นมนุษย์

3) ให้ฝ่ายปกครอง จัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาการให้ความช่วยเหลือบูรณาการระหว่างฝ่ายปกครอง ได้แก่ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับพระสงฆ์ จัดตั้งหน่วยฝึกอบรม ศูนย์เรียนรู้ โดยใช้สถานที่ภายในวัดเป็นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ .

4) ร่วมถอดบทเรียนวัดที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งเป็นต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนให้เกิดคุณประโยชน์กับวัดอื่นต่อไป ซึ่งการประชุมร่วมกันในวันนี้เป็นการประสานพลังความร่วมมือเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกันโดยใช้หลักแห่งความเมตตาธรรม คือ “ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อกัน” ในการจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ธรรม ให้วิชาชีพ  มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของวิชาการและการพัฒนา ระหว่างคณะสงฆ์ ฝ่ายบ้านเมือง และทุกภาคีเครือข่ายในสังคมต่อไป

ปลัด มท. กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญของการขับเคลื่อน คือ การมุ่งมั่นปฏิบัติงานโดยมี “ผู้นำ” คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้นำการบูรณาการขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่พวกเราทุกคนตั้งใจ พร้อมทั้งหมั่นสื่อสารให้กำลังใจภาคีเครือข่าย และสื่อสารกับสังคมให้ได้รับรู้รับทราบการขับเคลื่อนงาน เพื่อเสริมสร้างพลังแห่งความช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในหมู่บ้านที่ยั่งยืน และตำบลที่ยั่งยืนทั่วประเทศ”