ปลัด มท. ประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาล และภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ปลุกพลังทุกจังหวัดนำ Soft Power เผยแพร่อัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

ปลัด มท. ประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาล และภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ ปลุกพลังทุกจังหวัดนำ Soft Power เผยแพร่อัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 เม.ย. 2566) เวลา 13:30 น. ที่ห้องประชุมพระศรีศาสดา (POC) ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายรัฐบาล และภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายพชรเสฏฐ์ บุญศิริสาริศา นายทรงพล วิชัยขัทคะ นายวาทิต ปัญญาคม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS) ไปยังห้องประชุมราชบพิธ กระทรวงมหาดไทย และศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ โดยมี ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญของชาติเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครบ 418 ปี ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้ร่วมกับข้าราชการและภาคีเครือข่าย จัดรัฐพิธี พิธีสงฆ์ และพิธีบวงสรวง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติฯ การจัดแสดงวัตถุมงคล เหรียญพระพุทธชินราช เหรียญสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และภาพถ่ายสำคัญ อันแสดงถึงแรงศรัทธาและการเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยที่ถือได้ว่าเป็น Soft Power อันน่าหลงใหลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ศรัทธาทั่วทุกสารทิศให้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดพิษณุโลก เฉกเช่นเดียวกับทุกจังหวัดที่มี Soft Power อย่างหลากหลายทั้งทางประวัติศาสตร์ โบราณสถาน สถานที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งหากแต่ละจังหวัดดึงสิ่งเหล่านี้ให้น่าสนใจขึ้นมา ก็จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้กับประเทศไทย เพื่อเกิดประโยชน์อย่างหลากหลายต่อส่วนรวม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันสำคัญของชาติไทย ซึ่งในแต่ละวันจะมีประวัติ ที่มา ความเป็นมาที่แตกต่างหลากหลาย จึงขอให้ทุกจังหวัด ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมที่เป็นการกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ได้ทราบประวัติศาสตร์ ได้รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ที่สะท้อนผ่านการจัดงานรัฐพิธี ด้วยการเปิดพื้นที่มีเวทีให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์วันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์อื่น ๆ เช่น ในวันฉัตรมงคล ก็เปิดโอกาสส่งเสริมให้ประชาชนในจังหวัดได้รู้จักแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ เรียนรู้พระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ ผ่านการประกวดประขันแข่งขันเรียงความ สุนทรพจน์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อันเป็นการสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ท่านทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการให้คนไทยไม่ลืมรากเหง้าของบรรพบุรุษของเรา และขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รณรงค์เชิญชวนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ ทำให้สะอาดเรียบร้อย สวยงาม อยู่เสมอ และขอให้พัฒนาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็น Landmark แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่ทุกจังหวัดต้องบูรณาการภาคีเครือข่ายในพื้นที่พุ่งเป้าดำเนินการ ได้แก่ 1. การขับเคลื่อนหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยนำเจตนารมณ์ 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย รวมถึง MOU บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ระหว่างฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และ สจล. และ MOU โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข ระหว่างฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และนายอำเภอ ทั้ง 878 อำเภอ ต้องทำงานแบบ Partnership ตามเป้าหมายที่ 17 ของ SDGs เป็น “ผู้นำทีม” ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน เพื่อนำไปปฏิบัติ ภายใต้โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญกับนายอำเภอด้วยการให้นายอำเภอรายงานผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และต้องนำทีมนายอำเภอลงพื้นที่ ลงไปรู้ปัญหาจริง ผลักดันให้ทุกคนเห็นความสำคัญ ด้วยการติดตาม ซักถาม ลงพื้นที่ไปดู ต้องบูรณาการภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทุกมิติ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอจึงเป็นผู้นำ (Leadership) ที่มีแรงปรารถนา (Passion) เป็น Change Agent สร้างทีมบูรณาการกับภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ไปทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้คนในพื้นที่ตื่นตัวว่าเราให้ความสำคัญ โดย “หมู่บ้านยั่งยืน” ได้กำหนด KPI คือ 1) ทุกครัวเรือนมีที่พักอาศัยที่มั่นคงแข็งแรง มีห้องน้ำห้องส้วมที่ถูกสุขลักษณะ 2) ทุกครัวเรือนมีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” น้อมนำหลักปรัญชาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหมู่บ้านต้นแบบที่ ต.โก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ซึ่งมีการปลูกพืชผักครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนทุกครัวเรือน 3) การดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการขยะ มีการคัดแยกขยะ ตามหลัก 3Rs คือ Reduce Reuse Recycle และต่อยอดไปเป็น “ตลาดนัดขยะทองคำ” เช่นที่ ต.โก่งธนู ซึ่งเงินที่ได้จากการขายขยะนั้นนำไปเป็นทุนสวัสดิการหมู่บ้าน รวมถึงการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน บริหารจัดการน้ำเสียที่เกิดจากครัวเรือน 4) การทำให้เกิดความสามัคคีโดยการให้หมู่บ้านจัดแบ่งการบริหารจัดการดูแลซึ่งกันและกัน เป็นกลุ่ม หย่อม ป๊อก คุ้ม รื้อฟื้นระบบบ้านในอดีต และให้มีการพบปะพูดคุย วางแผน ช่วยเหลือ ดูแล กลุ่มบ้านของตน เสริมสร้างความสามัคคี 5) จิตอาสา ช่วยกันทำหมู่บ้าน ชุมชน ด้วยจิตใจอาสา 6) ปฏิบัติตามหลักศาสนกิจ วัฒนธรรมประเพณี ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดี สืบทอดส่งต่อไปยังลูกหลานและเยาวชน 7) ครัวเรือนมีความมั่นคงปลอดภัยโดยปราศจากยาเสพติด มั่นคงในทรัพย์สิน ช่วยกันสอดส่องดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน/ชุมชนของเรา ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่สิ่งที่พวกเราทุกคนตั้งใจช่วยกันทำให้สำเร็จ คือ เราจะทำให้ 7,255 หมู่บ้านเป้าหมาย จาก 7,255 ตำบล 878 อำเภอ ใน 76 จังหวัด เป็นหมู่บ้านยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา 8 มกราคม 2566 2. การคืนคนดีสู่สังคม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอและทีมงาน ได้ให้ความสำคัญ ติดตามและให้กำลังใจ รวมทั้งวางระบบในการตรวจเยี่ยมทั้งผู้ที่อยู่ระหว่างอบรม และผู้ที่ผ่านการอบรมกลับคืนสู่ครอบครัวแล้ว ให้เกิดขึ้นตลอดทุกสัปดาห์ และมีระบบติดตามต่อเนื่องไปจนถึง 5 ปีด้วยการให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. กรรมการหมู่บ้าน และสมาชิกในครอบครัว ช่วยกันดูแล เสริมสร้างอาชีพให้คนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และคัดแยกประเภทของผู้เข้ารับการอบรม ผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง สีเขียว เพื่อให้การช่วยเหลือที่ถูกต้อง รวมถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาจเป็นผู้ป่วยด้านจิตเวช พร้อมทั้งให้กรมการปกครองขยายผล “เก้าเลี้ยวโมเดล” ไปยังทุกจังหวัด 3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 14 พ.ค. 2566 ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องย้ำเตือนข้าราชการและบุคลากรในจังหวัด รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ ท้องที่ ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง แม้ว่าเราจะมีสิทธิเสรีภาพในการเลือก แต่ในฐานะข้าราชการเราต้องวางตัวเป็นกลาง 4. เรื่องการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพื่อแก้ไขในสิ่งที่ผิด จึงขอให้ทุกคนช่วยกันมุ่งมั่นทำงานด้วยความตั้งใจ ให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องมีการติดตาม การสอดส่องดูแล สำหรับแหล่งน้ำเดิมที่ได้ปรับปรุงแล้วก็ดูแลให้อยู่ในสภาพดีควบคู่การปรับปรุงแหล่งน้ำแห่งใหม่ และเพื่อให้เกิดการดูแลคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบังคับเรื่องสิ่งปลูกสร้างใหม่ต้องกำหนดเรื่องการบำบัดน้ำเสีย บ่อดักไขมัน เพื่อให้มีระบบบำบัดน้ำเสียในทุกครัวเรือน
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการที่ 5. การส่งเสริมสุขภาวะเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และการคลอดก่อนกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ร่วมประชุมหาแนวทางลดผลกระทบการตั้งครรภ์ในพื้นที่ ด้วยการฝากท้องกับโรงพยาบาล เพื่อดูแลและให้ความรู้ วางแผนการดูแลตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์กระทั่งคลอดออกมาและได้รับสารอาหารตามวัย และ 6. การส่งเสริมการใช้ผ้าไทยที่นอกจากเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาของคนไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับพระดำริ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่มุ่งส่งเสริมให้ช่างทอผ้าได้เกิดแนวคิดและลงมือออกแบบตัดเย็บผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของคนทุกเพศ ทุกวัย สามารถสวมใส่กันได้ทุกโอกาส เป็นต้น
.
“นอกจากนี้ หลายจังหวัดได้มีตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถบูรณาการงานอย่างหลากหลายและท้ายที่สุดผลประโยชน์เกิดกับพี่น้องประชาชน เช่น จังหวัดนครราชสีมา ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดได้จัดกิจกรรมแสดงแบบผ้าไทยการกุศลนำรายได้เข้ากองทุนการกุศลของแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด แล้วนำเงินดังกล่าวไปวางแผนสร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสตามเป้าหมายแก้ไขปัญหาความยากจน รวมถึงจังหวัดพังงา โดยโกไข่ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ได้จัดกิจกรรมการกุศล “พี่ร้องให้น้องได้เรียน” นำเงินรายได้เป็นกองทุนพี่ร้องให้น้องได้เรียนช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาสทางทุนทรัพย์ให้ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ อันแสดงให้เห็นว่า คนมหาดไทยและภาคีเครือข่ายสามารถบูรณาการงาน บูรณาการความคิด บูรณาการคน เพื่อสร้างงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงขอให้ทุกจังหวัดได้ดำเนินกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ในลักษณะดังกล่าวให้ทั่วถึง เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความรัก ความสามัคคี ผู้คนมีความเมตตากัน โอบอ้อมอารี ช่วยเหลือเกื้อกูล อันจะเป็นสังคมที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอย่างยั่งยืน” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย