น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จาก Sustainable Fashion สู่ Sustainable Village ปลัด มท. – แม่บ้านลงพื้นที่โค้ชชิ่งผ้าลายดอกรักราชกัญญา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ประชาชนภาคเหนือ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียั่งยืน

น้อมนำพระดำริ “เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” จาก Sustainable Fashion สู่ Sustainable Village ปลัด มท. – แม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่โค้ชชิ่งผ้าลายดอกรักราชกัญญา เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ประชาชนภาคเหนือ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (22 เม.ย. 66) เวลา 10.00 น. ที่ห้องมารีน่าแกรนด์บอลรูม กัซซัน พาโนรามา รีสอร์ท ลำพูน อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าไทย และงานหัตถกรรม (Coaching) “ผ้าลายดอกรักราชกัญญา” จุดดำเนินการที่ 4 จังหวัดลำพูน ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยนางดวงกมล ยิ้มละมัย ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลำพูน นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายโยธิน ประสงค์ความดี ปลัดจังหวัดลำพูน นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และสื่อมวลชน ในเขตพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ กว่า 200 คน ร่วมในพิธีฯ โดยได้รับเกียรติจาก “คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” อาทิ ดร.ศรินดา จามรมาน นักวิชาการอิสระ นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร VOGUE ประเทศไทย ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมทางปัญญาและวิจัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นายตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น VOGUE นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการย้อมสีธรรมชาติ นายกฤติน วงค์สถาน ดีไซน์เนอร์ krit boutique ร่วมเป็นวิทยากร

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบคอมพิวเตอร์ จำนวน 2 เครื่องให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลป่าสักเพื่อใช้สำหรับการศึกษา โดยมี ดร.วิชากร ลังกาฟ้า รองนายกเทศมนตรีตำบลป่าสัก นายไพศาล ยอดมูลดี ผู้อำนวยการกองการศึกษา เทศบาลตำบลป่าสัก รับมอบ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ด้านผ้าและหัตถกรรม ซึ่งปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ในห้วงระยะเวลา 3 ปีที่พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่นในการใช้พระสติปัญญาความสามารถ ทรงโน้มพระองค์ลงมาประทับเคียงข้างพี่น้องช่างทอผ้าและพระราชทานพระวินิจฉัย พระราชทานพระดำริ รวมทั้งพระราชทานลายผ้าพระราชทาน เริ่มตั้งแต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา และล่าสุด คือ ลายดอกรักราชกัญญา พร้อมทั้งแนวทางในการตัดเย็บให้มีความสวยสดงดงามหลากหลาย มีลวดลายสลับกลับด้านผ่านการออกแบบที่ทันสมัย และสร้างความยั่งยืนด้วยการใช้สีธรรมชาติย้อมผ้า ทำให้พวกเราสามารถก้าวข้ามกับดักผ้าไทย เกิดเป็น Outcome ที่สังคมเกิดความเชื่อมั่นว่าผ้าไทยสามารถตอบสนองรสนิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย ใส่ได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่ และสามารถทำให้คนที่สวมใส่และคนที่ได้พบเห็นมีความสุข ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการพระดำริ “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงพระราชทานพระอนุญาตให้ทุกคนสามารถนำไปต่อยอดได้ เพราะทุกโครงการของพระองค์ท่านนั้น ทรงปรารถนาที่จะทำให้พี่น้องคนไทยได้มีอาชีพ มีรายได้ แล้วนำรายได้ที่ได้นั้นไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

“ทั้งหมดทั้งปวงนี้คือพระปณิธานอันแน่วแน่ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อันสอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ทำให้พวกเรามีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ด้วยการที่พระองค์ท่านนำเอาสิ่งที่สมเด็จย่าของพระองค์ หรือ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยพระองค์ได้เสด็จไปทรงงานในจังหวัดต่าง ๆ ด้วยพระปณิธานอันแรงกล้าที่ต้องการต่อยอดผ้าไทย งานหัตถกรรมไทยให้เป็นสากล เป็นที่นิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติ ทุกภาษา และทรงมุ่งมั่นในเรื่องการสร้างความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการใช้สีธรรมชาติ เพราะสีเคมีเต็มไปด้วยสารตะกั่ว โดยทรงแสดงออกด้วยการไม่รับผ้าที่ทูลเกล้าฯ ถวายที่เป็นสีเคมี และพระราชทานคำแนะนำให้ใช้สีธรรมชาติ เพราะสีเคมีเทลงดินดินก็เสีย เทลงน้ำน้ำก็เน่า ต้มเพื่อย้อมสีไอก็ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศพร้อมสารที่ก่อให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจก โลกก็จะอายุสั้นลงด้วยความแปรปรวนของสภาพอากาศทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าในปี 2566 และ 2567 โลกของพวกเรามีสภาพอากาศร้อนที่สุดในรอบ 144 ปี” ปลัด มท. กล่วในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า ด้วยพระวิสัยทัศน์อันแน่วแน่มั่นคงในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน พระองค์ได้พระราชทานหนังสือ Sustainable City ให้กับปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และประธานแม่บ้านพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งพระราชทานพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” เพื่อให้ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้เป็นผู้นำบูรณาการร่วมกับทุกกระทรวง ทำให้ทุกหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านยั่งยืน อันเป็นการขยายผลมาจากที่พวกเราได้น้อมนำพระดำริ Sustainable Fashion อย่างยั่งยืน จากโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ซึ่งประกอบด้วย 1) การพึ่งพาตนเองจากวัตถุดิบ ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย และแลกเปลี่ยนซื้อขายจากเกษตรกรคนไทยในประเทศทั้ง 76 จังหวัดโดยสามารถขอรายชื่อได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทุกจังหวัด 2) ใช้ความเพียรพยายามในการใช้ความรู้ความสามารถ ทำผ้าด้วยแรงกายแรงใจของพวกเรา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับอาชีพ มาใช้ในการดำรงชีวิตให้พึ่งพาตนเอง 3) ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรไปสู่ลูกหลาน เพื่อสร้างโอกาสให้กับเพื่อนสมาชิก ให้กับลูกหลาน ได้รับองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิต 4) นำหลักแฟชั่นสมัยใหม่มาประยุกต์พัฒนางาน ด้วยการเพิ่มเติมบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของผ้าของชิ้นงานที่เราทำ ที่เราเรียกว่า Story Telling เพราะมันเป็นเสน่ห์ที่จะทำให้สินค้าเป็นที่ถูกจดจำ พร้อมทั้งการจัดทำ Packaging ที่ดี และคำนึงถึงความต้องการของผู้ที่สวมใส่ ติดตามข่าวสารการเปลี่ยนแปลง ความนิยมชมชอบของแฟชั่นในอนาคต โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานหนังสือ Trend book และทรงเป็นบรรณาธิการรวบรวมเรียบเรียงและเอาแนวโน้มของวงการแฟชั่นในอนาคต ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงประมวลรวมกันเป็น Sustainable Fashion

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะนำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) อันมีองค์ประกอบ คือ ต้องรวมกลุ่มกันทำงาน ทำงานเป็นทีม ด้วย 7 ภาคีเครือข่าย ช่วยกันคิด ช่วยกันลงมือทำ เพิ่อจะได้ร่วมรับประโยชน์ โดยมีพื้นฐานสำคัญ คือ ปัจจัย 4 คือ 1) น้อมนำพระราชดำริ “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทำในทุกครัวเรือน 2) ดูแลสิ่งแวดล้อม คัดแยกขยะครัวเรือน ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน 3) สืบสานรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา 4) ดูแลที่อยู่อาศัยบ้านเรือนให้มั่นคงแข็งแรง และ 5) มีกระบวนการถ่ายทอดสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาให้กับลูกหลาน ด้วยการให้เขาได้เห็นเราทำและร่วมทำ

“อย่าท้อ และขอให้มั่นใจว่าทุกลวดลายผ้าสามารถดัดแปลงลดย่อปรับลดขนาดได้ ดังที่พระองค์หญิงพระราชทานเป็นต้นแบบให้เห็นแล้วว่า ผ้าไทยสามารถดัดแปลงได้ เราต้องเดินไปข้างหน้า ต้องมีฝีมือดีขึ้น ต้องมีศักยภาพดีขึ้น ดีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อถวายเป็นพระกำลังใจให้พระองค์ท่าน ทำให้ผ้าไทยมีชื่อเสียงทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก ด้วยการนำสิ่งที่พระองค์พระราชทานทั้งองค์ความรู้และลวดลายมาใช้ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกชิ้นงานที่เพิ่มขึ้นหมายถึงรายได้ของพวกเราที่เพิ่มขึ้น และส่งเข้าประกวดพร้อมเชิญชวนเพื่อนทุกกลุ่มได้ส่งผลงานเข้าประกวดโดยพร้อมเพรียงกัน” ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้าย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตรากตรำพระวรกาย ตั้งแต่เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ทรงทำให้ผ้าไทยที่ไม่มีอยู่ในประเทศเราเลย ด้วยการทรงรื้อฟื้นผ้าไทยให้กลับคืนสู่สังคมไทย เปลี่ยนแปลงชีวิตสตรีจากทำไร่ ทำนา อยู่บ้านเลี้ยงลูก ให้ได้มีอาชีพเสริม มีรายได้ แม้ว่าทุกวันนี้พระองค์ท่านไม่สามารถทรงงานได้เหมือนในอดีต แต่พวกเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจทั้งปวง และมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นเสด็จพระราชทานคำแนะนำให้ทุกด้านให้กับพวกเรา ทั้งทรงเป็นพระอาจารย์สอนให้กับนิสิตนักศึกษา “พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์โดยแท้” ทรงมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนคนไทย ดังนั้น จึงขอให้พวกเราในวันนี้ซึ่งอยู่ในอาชีพการทำผ้า ทำให้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำ คือ ทุกคนที่จะได้รับการ coaching จากผู้ที่มีความสามารถ เพื่อไปตอบสนองกลางน้ำ คือ การออกแบบตัดเย็บ เพื่อทำให้ปลายน้ำ คือผู้สวมใส่ ได้เลือกซื้อ เพิ่มมูลค่า เม็ดเงินนำไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคง

“ในโลกนี้ไม่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินประเทศไหนมาออกแบบลายผ้าให้พี่น้องประชาชนในประเทศได้สวมใส่ พระองค์พระราชทานลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มาชุบชีวิตคนทอผ้าในยามวิกฤตโควิด-19 และเกิดประโยชน์กับทุกคนถึงทุกวันนี้ จึงขอให้พวกเราลุกขึ้นก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มที่เราก่อน เราต้องสร้าง branding เราให้ได้ และเมื่อผ้าเรามีลวดลายสวยออกแบบตัดเย็บดี ก็จะทำให้ผ้าของเราเป็นต้นน้ำที่มีค่า จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนมุ่งมั่นออกแบบลวดลายและส่งเข้าประกวดให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาทักษะ พัฒนาผลงาน อันจะทำให้ได้มีรายได้ที่ยั่งยืน” ดร.วันดีฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะส่งผ้าเข้าประกวด ต้องเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP หรือช่างทอผ้า หรือช่างงานหัตถกรรมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่สมัครเข้าประกวด และต้องเป็นผ้าทอมือ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมือเท่านั้น สามารถนำลายโบราณของแต่ละท้องถิ่นมาผสมผสานกับผ้าลายพระราชทาน “ลายดอกรักราชกัญญา” ได้ทุกประเภท เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 4 สิงหาคม 2566 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ ในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร

ดร.ศรินดา จามรมาน กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานความห่วงใยผ่านคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในการให้คำแนะนำกับพี่น้องช่างทอผ้าทุกท่าน จึงขอให้ทุกท่านได้ใช้เวลาที่มีค่าเพื่อร่วมกันสนองพระดำริ ตั้งใจผลิตอย่างดีที่สุด เพื่อให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรผลงานของพวกเรา และขอให้ทุกท่านได้มุ่งมั่นพัฒนา สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพ ยกระดับผลงานให้เป็นที่แพร่หลายออกสู่ตลาดอย่างเต็มกำลังความสามารถต่อไป