รองประธานวุฒิสภา นำคณะ กมธ.แรงงานและไอซีที เยี่ยมชมบริษัทหัวเหว่ย ศึกษาเทคโนโลยีชั้นนำของจีน

รองประธานวุฒิสภา นำคณะ กมธ.แรงงานและไอซีที เยี่ยมชมบริษัทหัวเหว่ย ศึกษาเทคโนโลยีชั้นนำของจีน

วันที่ 28 มีนาคม 2566 นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นหัวหน้าคณะนำคณะกรรมาธิการการแรงงาน และคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา พร้อมด้วย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม วุฒิสภา เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อศึกษาภาพรวมธุรกิจของหัวเหว่ย ณ สำนักงานใหญ่ บริษัทหัวเหว่ย ตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีชั้นนำของจีน โดยมี ดร.ชวพล จริยวิโรจน์ ประธานบริษัทหัวเหว่ยประเทศไทย และคุณปิยพร กิตศิรินันท์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคนไทยที่ทำงานกับบริษัทหัวเหว่ย ร่วมให้การต้อนรับ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมธุรกิจของบริษัทหัวเหว่ย ที่เมืองเซินเจิ้นของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ในครั้งนี้เพื่อศึกษาภาพรวมธุรกิจของหัวเหว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และติดตั้งงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของโลก โดยบริษัทได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
เพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ขณะเดียวกันบริษัทยังเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีเซลลูลาร์ไร้สายยุคที่ 5 หรือ 5G ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันหัวเห่วยมีพนักงานทั่วโลกกว่า 270,000 คน
ซึ่งพนักงานของที่นี่มีความท้าทายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ ในส่วนของบริษัทหัวเหว่ยที่ประเทศไทยปัจจุบันมีพนักงานประมาณ 2,700 กว่าคน ได้มีการทำงานร่วมกันกับกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการฝึกอบรมทักษะเพื่อผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีรองรับการเข้าสู่ยุคสังคมดิจิทัล

สำหรับภาพรวมของสถานการณ์ด้านแรงงานของจีน พบว่า เมื่อปี 2565 มณฑลกวางตุ้งจ้างงานเพิ่มสูงที่สุดในจีน จำนวน 1.32 ล้านตำแหน่ง การว่างงานเฉลี่ยทั้งปีร้อยละ 5.5 ในปี 2566 มณฑลกวางตุ้งกำหนดเป้าหมายการจ้างงานในตำแหน่งใหม่จำนวน 1.1 ล้านตำแหน่ง ส่วนภาคอุตสาหกรรมบริการมีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 53.1 ของการจ้างงานทั้งหมดในมณฑลกวางตุ้ง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเกษตรจ้างงานร้อยละ 10.6 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจ้างงานร้อยละ 36.3 มณฑลกวางตุ้งมีบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางและบุคลากรที่มีศักยภาพทางเทคนิค มากที่สุดในจีน ที่ 8.91 ล้านคน และ 18.5 ล้านคน ตามลำดับ ส่วนการพัฒนาการด้านไอซีที มณฑลกวางตุ้งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีที่ล้ำหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยเมืองเซินเจิ้น เมืองฮุ่ยโจว และเมืองตงก่วน เป็นฐานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมไอซีทีที่สำคัญระดับโลก
และเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านไอซีทีอย่างบริษัทหัวเหว่ยอีกด้วย