พาณิชย์เชิงรุก บริหารจัดการผลไม้2566 กรมการค้าภายใน เดินหน้า 22 มาตรการ ชาวสวน-ผู้ค้า-ผู้บริโภค สะท้อนเสียง’ชื่นชม’

กระทรวงพาณิชย์  เดินหน้ามาตรการบริหารจัดการผลไม้ โดยในปี 2566  เตรียมความพร้อม ผ่าน  22 มาตรการ ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต 1 มาตรการ ด้านตลาดในประเทศ 12 มาตรการ ด้านตลาดต่างประเทศ 8 มาตรการ  และด้านกฎหมาย 1 มาตรการ 5 กฎหมาย

ประกอบด้วย มาตรการ 1. เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP(การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี)  เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง มาตรการ 2. ใช้อมก๋อยโมเดล ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า เป้าหมาย 100,000 ตัน มาตรการ 3. ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกร กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท เป้าหมายปริมาณ 90,000 ตัน มาตรการ 4. สนับสนุนให้มีรถเร่และรถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก เป้าหมาย 30,000 ตัน มาตรการ 5. เปิดจุดจำหน่าย ตามห้าง ร้านสะดวกซื้อและสถานนีให้บริการน้ำมัน เพื่อเป็นพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร เป้าหมาย 100,000 ตัน มาตรการ 6. รณรงค์บริโภคผลไม้ไทย ผ่านจัดงาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กก. เป้าหมาย  42,000 ตัน

มาตรการ 7. สนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป้าหมาย 3,000 ตัน หรือ 300,000 กล่อง มาตรการ 8. ส่งเสริมการแปรรูป โดยอบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ทำการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค รวมถึง อบรมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้นจำนวนไม่อย่างน้อย 2,500 ราย เป้าหมาย 220,000 ตัน มาตรการ9. ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องในการเคลื่อนย้ายแรงงาน มาตรการ10. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพล ช่วยเก็บเกี่ยว คัดแยกและขนย้ายผลไม้ ในบางช่วงที่หากมีปัญหาแรงงาน

มาตรการ 11. เชื่อมโยงผลไม้ โดยทีมเซลล์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ มาตรการ 12. ส่งเสริมการแปรรูปช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้ เช่น ลำไยอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็งเพื่อการส่งออก มาตรการ 13. เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรม เปิดพรีออร์เดอร์ผลไม้ กว่า 15,000 ตัน ใน 60 นิคม 30,000 โรงงาน มาตรการ 14. เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้กิโลกรัมละ 4 บาท ปริมาณ 100,000 ตัน มาตรการ15. เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์ มุ่งเน้นตลาดใหม่ มาตรการ 16. จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ เช่น ส่งออกผลไม้สู่ตลาดจีนในโครงการ Thai Fruits Golden Months การขายผ่าน TV Shopping (ไทเป)  มาตรการ 17. ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น THAIFEX-Anuga Asia และ GULF FOOD

มาตรการ 18. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย เช่น Country Brand ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย มาตรการ19. จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค มาตรการ 20. มุ่งเจรจาผ่านคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า มาตรการ 21. ตั้งวอรูม คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงานแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ผลักดันส่งออกไป 3 ตลาดศักยภาพ ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และ กลุ่มประเทศCLMV มาตรการ 22. ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 08.00 น. หรือทันทีที่เปิดทำการรับซื้อ กระทรวงพาณิชย์และจังหวัดยังคงบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ให้เกษตรกรขายผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้ราคาดี ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายชั่งตวงวัดโดยเคร่งครัด

โดยที่กระทรวงพาณิชย์ วางเป้าหมายไว้ว่า 22 มาตรการข้างต้น จะดูดซับผลผลิตสู่ผู้บริโภคประมาณ 700,000 ตัน จากคาดการณ์ผลผลิตผลไม้สำคัญๆปี 2566 นี้จะออกสู่ตลาดรวม 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.22 ล้านตัน หรือเพิ่มประมาณ 3% จากปี 2565  ซึ่งผลไม้สำคัญที่มีผลผลิตสูงขึ้น อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย เงาะ ลองกอง เป็นต้น และผลผลิตที่เพิ่มกระจายไปทุกภาค

มาตรการบริหารจัดการผลไม้  เป็นหนึ่งใน”พาณิชย์ จัดการเชิงรุก” โดยกรมการค้าภายใน ที่ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เตรียมพร้อมตลาดล่วงหน้ารองรับผลผลิตก่อนออกสู่ตลาดตามฤดูกาล จึงนำไปสู่การประชุมหารืออย่างต่อเนื่อง โดยกรมการค้าภายใน ดึงความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกร บนเป้าหมายรักษาสมดุลและเป็นธรรมแบบวินวินของทุกฝ่าย  เร่งขจัดปัญหาเผชิญหน้า เพิ่มช่องทางและรายได้ ผลักดันเป้าหมายการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป เพิ่มมูลค่าปีนี้อีก 10% ไม่น้อยกว่า 2.89 แสนล้าน หรือเพิ่มจากปีก่อน 2.6 หมื่นล้านบาท

แนวปฎิบัติพาณิชย์จัดการเชิงรุก กรมการค้าภายเพิ่มความเข้มข้นต่อเนื่อง นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดี แม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนบริหารจัดการผลไม้ผ่าน 18 มาตรการเชิงรุก ครอบคลุมแก้อุปสรรคการส่งออก เร่งรัดปิดด่านชายแดน เร่งรัดส่งออกจับคู่ส่งผลไม้ออกนอกประเทศ ส่งผลให้สามารถรักษาระดับราคาผลไม้ในประเทศ ปริมาณผลไม้ส่งออกเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาดได้จนสำเร็จ ทำให้ราคาผลไม้ปี 2565 เกือบทุกชนิดสูงกว่าปี 2564  เฉลี่ยกว่า  44%  อาทิ  ทุเรียนเกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 142.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ลำไย ช่อส่งออก AA ราคาเฉลี่ย 35-45 บาทต่อกก. มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดส่งออก ราคาเฉลี่ย 45 บาทต่อกก. ลองกองเกรดคละ ราคาเฉลี่ย 26 บาทต่อกก.

ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ยังแสดงความพอใจและชื่มชมต่อมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 สะท้อนจากการบอกเล่าเหล่านี้

นายพสิษฐ์  สุขสวัสดิ์ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วง จ.ลำพูน เล่าว่า  อมก๋อยโมเดล ที่นำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้เกษตรกรมีทางเลือกไม่ถูกกดราคา ขณะที่ นายธนกฤต  ตันวัฒนากูล นายกสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ เล่าเสริมว่า  จากที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาช่วยเหลือให้โรงอบมีศักยภาพในการอบแห้ง ทำให้ราคาตลอดทั้งฤดูอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,200-1,400 บาทต่อราย หรือ คิดเป็นมูลค่า 1,440 ล้านบาท

นายสุวิทย์  รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ระบุว่า ชื่นชมที่นายจุรินทร์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน ที่ได้เดินทางไปตะวันออกกลาง เร่งเจรจาต่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ ให้สามารถบรรลุข้อตกลงและนำมาขับเคลื่อนจนเป็นผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรวดเร็ว ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยในปี 2565 ที่ปลายทางเต็มไปด้วยมาตรการตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังสามารถเปิดเจรจาและเข้าตะวันออกกลางและแอฟริกาได้ และกลายเป็นตลาดที่มีการขยายสูงในปีนี้   เป็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาควบคู่ไปกับการขยายตลาดผลไม้

นายไพบูลย์  วงศ์โชติสถิต ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย  เล่าอย่างมั่นใจถึงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ไว้ว่า มาตรการที่จัดเตรียมไว้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาผลไม้ในแต่ละปี โดยเฉพาะปีที่มีปัญหามากๆ  ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก มีกำลังใจและมั่นใจว่ามีภาครัฐที่พร้อมจะดูแลแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยทุกเสียงสะท้อนขอให้คงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป