CIM DPU แนะแนวทางตะลุยซัมเมอร์ด้วยน้ำสมุนไพรดับไฟธาตุ

ในช่วงมีนาคมและเมษายนถือเป็นฤดูร้อนของเมืองไทย ปีนี้ ขนาดเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น ก็ร้อนขนาดนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรไม่ให้ป่วยไข้จากสภาพอากาศที่จะระอุสูงถึง 40 องศา ซึ่งอากาศร้อนจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ โมโห หัวร้อน กระสับกระส่าย ร้อนใน และลมจับเป็นไข้แดดได้ง่ายๆ

 ดร.ปพิชญา เทศนา หรืออาจารย์มิ้นท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดทำมาตรฐานสมุนไพร ควบคุมคุณภาพ และวิเคราะห์ปริมาณสารออกฤทธิ์สำคัญในผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เรียกอาการที่เกิดขึ้นเหล่านั้นตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยว่าเป็นอาการของ “ธาตุไฟกำเริบ” ซึ่งแม้ไม่ร้ายแรงแต่ก็รบกวนชีวิต ความสนุก หรือการพักผ่อนในวันหยุดยาว

“มนุษย์คนเราล้วนมีสัดส่วนธาตุในร่างกายทั้ง ดิน น้ำ ลม ไฟ สมดุลกันตามธาตุกำเนิด และสามารถผันเปลี่ยนไปได้ตามพฤติกรรมกิจวัตรประจำวัน สาเหตุของการเจ็บป่วยในช่วงฤดูร้อนก็คือ ความร้อน หรือ ธาตุไฟ อาการที่แสดงนั้น ได้แก่ เป็นไข้ มีแผลร้อนในในปาก โมโหง่าย กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ส่งผลให้ร่างกายเสื่อมโทรม แก่เร็ว เราจึงต้องปรับลดธาตุไฟให้สมดุล โดยเริ่มจากการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น” ดร.ปพิชญา เริ่มต้นบทสนทนาเพื่อแนะนำเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงซัมเมอร์

น้ำสมุนไพร 5 ชนิดตัวช่วยชั้นดี

สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็นสามารถช่วยป้องกันร่างกายให้ไม่เสียสมดุลและลดการเกิดอาการป่วยไข้ดังกล่าว ดร.ปพิชญาแนะนำสมุนไพรที่สามารถหาได้ง่ายๆ ในท้องตลาดและต้มรับประทานเองได้แก่ 1.น้ำใบเตย 2.น้ำเก็กฮวย 3.น้ำใบบัวบก 4.น้ำว่านหางจระเข้ 5.น้ำมะตูม โดยปริมาณการดื่มน้ำสมุนไพรนั้นสามารถดื่มได้ในทุกมื้ออาหาร แต่มีข้อควรระวังที่สำคัญคือ น้ำดื่มสมุนไพรนั้นควรเติมน้ำตาลทรายน้อย ๆ หรือ ไม่เติมได้เลยยิ่งดี หากใช้สมุนไพรแห้ง ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด และระวังเรื่องเชื้อรา นอกจากนั้น ควรระวังเรื่องยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในวัตถุดิบสด ควรล้างน้ำสะอาดมาก ๆ ก่อนที่จะนำไปปรุงหรือเตรียมเป็นเครื่องดื่ม และควรจะต้องสลับสับเปลี่ยนชนิดของน้ำสมุนไพรให้หลากหลาย ตัวอย่างเช่น วันจันทร์ดื่มน้ำใบเตย วันอังคารเปลี่ยนมาเป็นน้ำเก็กฮวย และวันพุธต่อด้วยน้ำใบบัวบก เป็นต้น

“สรรพคุณในการรักษาโรคต่าง ๆ ของสมุนไพรนั้น ส่วนใหญ่ล้วนมาจากตำรายาที่ประกอบจากสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดรวมกัน สรรพคุณที่เขียนไว้ก็ได้จากตัวยาหลัก โดยเสริมฤทธิ์หรือลดฤทธิ์ด้วยตัวยารอง และตัวยาอื่น ๆ ที่ประกอบกันในตำรับ เพราะฉะนั้น การบอกว่าสมุนไพรหนึ่งตัวนั้นมีฤทธิ์รักษาโรคต่าง ๆ และนำมาต้มดื่มเอง หรือใช้เป็นยาเดี่ยว ๆ ในการรักษาโรคนั้น ยังเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจผิดอยู่มาก เช่นเดียวกันกับการต้มน้ำสมุนไพรดื่ม หรือการนำไปประกอบอาหาร ควรใช้สมุนไพรให้หลากหลาย ไม่จำเจ สลับสับเปลี่ยนเมนูเพื่อให้ธาตุในร่างกายสมดุล สมุนไพรไม่ได้ปลอดภัยขนาดนั้น รับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็ส่งผลให้ธาตุในร่างกายแปรปรวน เสียสมดุล และทำให้ป่วยได้” ดร.ปพิชญาแนะนำ

ได้ความสวยเพราะผิวดีเปล่งปลั่ง

เพราะส่วนประกอบของน้ำสมุนไพรมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลักกว่า 90 % ดังนั้นผลดีนอกจากการป้องกันและดูแลธาตุในร่างกายให้สมดุลแล้ว ยังได้ข้อดีของ “น้ำ” ที่เข้าสู่ร่างกายในหน้าร้อนที่ช่วยหลายเรื่อง แม้แต่ในเรื่องของความสวยความงามอีกด้วย

“การดื่มน้ำเป็นผลดีต่อร่างกาย เพราะร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณร้อยละ 70 ซึ่งเป็นส่วนประกอบของกระบวนการการย่อยอาหาร กระบวนการดูดซึมอาหาร และกระบวนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย และยังส่งผลให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งอีกด้วย ซึ่งปริมาณน้ำที่ร่างกายควรได้รับต่อวันอยู่ที่ 3 – 5 ลิตร โดยรวมทั้งจากการดื่มน้ำและการรับประทานอาหาร”

“ส่วนกรณีผู้ที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า บอกว่าน้ำเปล่าไม่อร่อย ลองใช้เทคนิคการหยด “น้ำยาอุทัย” ที่สาว ๆ เคยนิยมมาทาแก้มทาปาก สัก 2 – 3 หยดลงในน้ำดื่มช่วงหน้าร้อน ก็ช่วยให้สดชื่น ดื่มน้ำได้มากขึ้น หรือใส่ดอกเก๊กฮวยเพื่อดื่มเป็นชาดอกเก๊กฮวยแทนการดื่มน้ำเปล่าก็ได้ แต่ข้อควรระวังคือ ดอกเก๊กฮวยจะกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะ อาจจะทำให้ปวดท้อง ท้องอืดได้ง่ายมากขึ้น” ดร.ปพิชญา กล่าว

หลีกเลี่ยงน้ำตาล

สิ่งสำคัญของการดื่มน้ำสมุนไพรที่ต้องระวังคือเรื่องของ “น้ำตาล” ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะนิยมต้มแล้วใส่น้ำตาลในปริมาณที่มากเพื่อให้มีรสหวาน ดื่มง่ายและอร่อย ซึ่งจุดนี้แทนที่จะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง กลับได้การเจ็บป่วยแทน

“ผศ.ดร.นพ. พัฒนา เต็งอำนวย คณบดีวิทยาลัย CIM ท่านสอนพวกเราเสมอว่า “น้ำตาล คือ ยาพิษ” น้ำตาลเป็นต้นกำเนิดของโรคหลาย ๆ ชนิด รวมถึง “ภาวะอ้วนลงพุง” หรือ “Metabolic syndrome” ด้วยเช่นกัน ภาวะอ้วนลงพุงนั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ในที่สุด”

องค์การอนามัยโลกแนะนำปริมาณน้ำตาลที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยแบ่งง่าย ๆ คือ วัยรุ่นและคนวัยทำงาน ไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา (24 กรัม) ส่วนเด็กและผู้สูงอายุขึ้นไป ไม่ควรเกิน 4 ช้อนชา (16 กรัม) เป็นโควตาต่อวัน

“ถ้าเราไม่ได้ต้มน้ำสมุนไพรดื่มเองก็ดูฉลากข้างขวดว่าระบุปริมาณน้ำตาลไว้เท่าไหร่ แล้วนำมาควบคุมดูแลในมื้ออาหารและเครื่องดื่มต่อไปในวันนั้น เช่น ตอนเช้าดื่มน้ำชาไข่มุกที่เติมน้ำตาลไปแล้ว 4 ช้อนชา สำหรับคนทำงานและวัยรุ่น ก็เหลือโควต้าน้ำตาลอีก 2 ช้อนชา ของอาหารและเครื่องดื่มที่เราต้องรับประทานในวันนั้น แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ ลดปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันได้มากเท่าไหร่ สุขภาพก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น” ดร.ปพิชญา ระบุทิ้งท้าย