เด็กกว่าแล้วไง! เปิดทิศทางการจ้างงาน 2566 “บัณฑิตป้ายแดง” คนรุ่นใหม่ร้อนแรงและเป็นที่ต้องการ

เด็กกว่าแล้วไง! เปิดทิศทางการจ้างงาน 2566 “บัณฑิตป้ายแดง” คนรุ่นใหม่ร้อนแรงและเป็นที่ต้องการ

ม่วนคักตลาดแรงงานเปลี่ยนทิศจ้าง “คนรุ่นใหม่” กลุ่มคน Gen-Z มีตำแหน่งงานเกินกว่าครึ่งที่องค์กรต้องการ เพราะเกิดในยุคดิจิทัล มีทักษะเท่าทันเทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ และ เงินเดือนเฉลี่ยกลุ่มนี้ยังไม่สูงเกินไป  โดยจากหน้าข่าว นสพ.ธุรกิจจากประเทศในอาเซียนอย่างสิงค์โปร์ และ มาเลเซียพบว่ามีกระแสความนิยมที่องค์กรธุรกิจชั้นนำนิยมจ้างงานนิสิตนักศึกษาเด็กจบใหม่มากกว่า 70% ของตำแหน่งงานที่เปิดรับ ด้วยเหตุผลว่า  เด็กจบใหม่มีทักษะด้านดิจิทัล การเปิดรับเรียนรู้  และ การค้นคว้าข้อมูลที่ดี  อีกทั้งค่าจ้างที่ต่ำกว่าพนักงานที่มีประสบการณ์

“เป้าหมายหลักของธุรกิจคือกำไรเป็นที่ตั้ง  ดังนั้นการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ก็เป็นในเรื่องที่ต้องมองทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล มองทั้งสิ่งที่องค์กรจะได้รับและสิ่งที่องค์กรต้องจ่ายไป อีกเหตุผลหนึ่งคือข้อได้เปรียบ ที่ว่าเด็กจบใหม่มักเพิ่งเริ่มต้นสร้างชีวิตทำให้ค่าครองชีพต่างๆ ยังไม่สูง อย่างการเริ่มทำงานที่แรกเงินเดือนก็อยู่ระหว่าง 15,000 ถึง 25,000 บาท ก็พึงพอใจกันแล้ว นอกจากนี้ข้อดีประการที่สำคัญที่สุด คือ เด็กรุ่นใหม่มีทักษะด้านดิจิทัล ด้านการเรียนรู้ ด้านการค้นคว้าข้อมูล ฯลฯ ที่ดีมาก  ซึ่งโลกทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแข่งขันในทุกธุรกิจก็สูง เวลาต้องติดตามเทคโนโลยี ใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ใหม่ๆให้คล่อง จับกระแสเทรนด์อะไรใหม่ๆ ให้ไว กลุ่ม Gen-Z นั้น สามารถตามได้ทันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังกล้าแสดงออกกล้าตั้งคิดคำถาม ก็เป็นส่วนที่ช่วยให้องค์กรนั้นๆ มีความทันสมัย สร้างการมีส่วนร่วม เสริมความสมดุลในการทำงาน และได้เติมพลังสดใสของวัยรุ่นเข้าไปในองค์กร” ดร.ไอซ์  วริศ ลิ้มลาวัลย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี-CIBA  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ระบุเหตุผลเริ่มต้น

 “คนรุ่นใหม่” มอง Career Path ตัวเองเสมอ

เมื่อมองคนรุ่นใหม่ในเชิงบวก ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรได้ สามารถช่วยพัฒนาและช่วยในเรื่องการจับตาโลกอนาคตต่อไปจากยุคนี้ได้ บันไดขั้นต่อมาที่จะต้องเข้าใจคนรุ่นใหม่ ยังมีอีกหลายประการที่เราควรทำความเข้าใจกัน อาทิ

1.ทัศนคติของคนรุ่นใหม่จะมีเรื่อง Growth mindset (พร้อมที่จะเรียนรู้) และ Resilience (การปรับตัวยืดหยุ่น) เป็นนักสู้  ชอบการเติบโต ชอบเรียนรู้พัฒนาตนเอง หากองค์กรไหนไม่มีงบให้ไปอบรมพัฒนาตัวเอง คนรุ่นใหม่จะไม่สนใจเลย

2.ทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) คนรุ่นใหม่จะมีทักษะมากกว่าแค่การใช้โปรแกรมขั้นพื้นฐาน อย่างผูกสูตรใน Ms Excel ในคอมพิวเตอร์นั้นถือว่าธรรมดามาก แต่คนรุ่นใหม่จะใช้โปรแกรมและแอปพลิเคชันได้หลากหลาย โดยทั้งหมดจะใช้บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน หรือ หากไม่ถูกใจบางคนสามารถเขียนโปรแกรมเองอย่างง่ายได้ทันที ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถช่วยองค์กรได้มากเลยทีเดียว

3.การตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ วินัย (Discipline)  ในการทำงาน ในนิยามของคนรุ่นใหม่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม ไม่ใช่ระบบโรงงานอุตสาหกรรมแบบแต่ก่อน  คุณค่าเรื่องนี้มีความหลากหลายตามแต่ละสายงานและรูปแบบองค์กร อย่างถ้าเป็นบริษัทโฆษณา คนรุ่นใหม่ในนั้นก็พร้อมทำงานจนเสร็จแม้จะโต้รุ่ง แต่จะไม่ยอมตื่นเช้าโดยเด็ดขาด

4.คนรุ่นใหม่มี Soft Skill ต่างๆ ในรูปแบบของตนเอง เช่น การสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ การยอมรับความแตกต่างหลากหลายทั้งทางเพศ การเคารพเพื่อนร่วมงานทุกระดับด้วยฐานะที่เท่าเทียม รู้จักการจัดการข้ามวัฒนธรรม เป็นต้น

“สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นเรื่องทัศนคติชอบเรียนรู้ คิดบวก คนรุ่นใหม่มีเรื่องการยอมรับสิ่งใหม่ๆ ชอบเรียนรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต  แม้ตอนแรกจะยังไม่รู้ หรือยังตามหลัง แต่ไม่ใช่ว่าจะตามไม่ทันหากเป็นคนชอบการเรียนรู้  ดังนั้นทัศนคติที่ดี ชอบเรียนรู้ จึงควรที่จะมีติดตัวไว้ให้ดีก่อนจะดีที่สุดในมุมมองขององค์กรยุคใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าคนรุ่นใหม่ชอบระบบ Career Path ที่ชัดเจน ไม่ชอบเรื่องเส้นสาย หรือ ใครพวกใคร  คนรุ่นใหม่ชอบวัดกันที่ฝีมือ ผลงาน และ ตัวชี้วัดแบบแฟร์ๆ   ถ้าองค์กรมีความโปร่งใส ระบบการวัดผลดี ก็จะมัดใจคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรต่อไป  อย่างไรก็ตามข้อเสียของเด็กจบใหม่ คือเขาจะมองในเรื่องของตัวคุณค่าในงานมาก และ ชอบหาโอกาสใหม่ๆ ที่ดีกว่า หรือได้มากกว่าอยู่เสมอ ดังนั้นหากมีอะไรไม่ดี คนรุ่นใหม่จะไหลออกจากองค์กรทันที องค์กรที่ต้องการคนรุ่นใหม่เป็นพลังขับเคลื่อนพัฒนาต้องมีการปรับรูปแบบการบริหารงานเพื่อดึงดูดใจพวกเขาเหล่านี้” ดร.ไอซ์ วริศ กล่าว

ดร.ไอซ์ วริศ ในฐานะที่เป็นอาจารย์หลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ได้ยกกรณีศึกษาใกล้ตัวเป็นการสรุปว่า “ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา วงการโลจิสติกส์ต้องเปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามามาก ซึ่งการจะหาคนรุ่นใหม่มาทำงานจำนวนมาก และการสร้าง engagement ให้เขาอยู่กับองค์กร เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับสายงานโลจิสติกส์เนื่องจากงานด้านนี้เป็นงานที่ต้องให้บริการต่อเนื่อง ต้องแม่นยำ ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความตั้งใจ ทั้งงานวางแผน งานคลังและงานขนส่ง ดังนั้นการหาคนรุ่นใหม่เข้าไปในองค์กรจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  ทางองค์กรธุรกิจประเภทนี้จำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับทางมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านการบ่มเพาะบัณฑิตป้ายแดงให้มีคุณสมบัติพร้อมใช้และเข้าใจในธรรมชาติของสายงาน องค์กรต้องเข้าใจธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ หัวหน้างานและคนรุ่นใหม่เองก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งหลังๆ องค์กรด้านโลจิสติกส์เข้ามาร่วมมือออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการองค์กร ทั้งเข้ามาเจอคนรุ่นใหม่ในโครงการสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน หรือ CWIE  นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่เองก็ได้เข้าไปปฏิบัติงานและทำโครงงานในองค์กรธุรกิจจริงก่อนที่จะจบการศึกษา ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสายงาน และ องค์กรก็ได้เรียนรู้ธรรมชาติของเด็กรุ่นใหม่ไปพร้อมกันอีกด้วย”