ปลัด มท. เปิดสวนสามวัย “เด็ก-รุ่น-ใหญ่” เทศบาลตำบลปริก จ.สงขลา มุ่งส่งเสริม ร่างกาย ปัญญา จิตใจและอารมณ์ที่ดี

ปลัด มท. เปิดสวนสามวัย “เด็ก-รุ่น-ใหญ่” เทศบาลตำบลปริก จ.สงขลา มุ่งส่งเสริมร่างกาย ปัญญา จิตใจ และอารมณ์ที่ดี เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (5 มี.ค. 66) เวลา 10.00 น. ที่สวนสนุกสามวัย สนามกีฬากลางเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดสวนสนุกสามวัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนสามวัยของเทศบาลตำบลปริก พร้อมเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ภายในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา โดยมีนายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายวรณัฎฐ์ หนูรอต นายมาหะมะพีสกรี วาแม และนายเอกชัย เลิศวิบูลย์ลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายยงยุทธ สุวรรณบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายดิสสกร กุนธร ประธานกรรมการมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา (มสสป.) คณะผู้บริหาร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลปริก พนักงาน เจ้าหน้าที่ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลปริกในพื้นที่ตำบลปริก จำนวน 500 คน เข้าร่วมในกิจกรรม
.
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมที่ตน รวมถึงท่านนายกเทศบาลตำบลปริก คณะผู้บริหารและพี่น้องประชาชนทุกคน ณ ที่เเห่งนี้มีความตั้งใจ มีหัวจิตหัวใจเดียวกัน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น เเละวัยผู้ใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้ลูกหลานได้มีพัฒนาการ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และด้านอารมณ์ ช่วยเสริมสร้างวิสัยทัศน์ต่อการใช้ชีวิต ให้มีการมองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ดี ซึ่งในปัจจุบัน เด็ก เยาวชน วัยรุ่น มักจะเคยชินอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่แต่หน้าจอโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเครื่องเล่นเกม ส่งผลให้ขาดการใช้ชีวิตกับสังคม ธรรมชาติ ส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายที่น้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงดำรงพระองค์เป็นต้นแบบของแม่ ของครู ด้วยทรงให้การอุปถัมภ์ ส่งเสริม ดูแลพระธิดาและพระโอรส จนกลายเป็นปรัชญาที่เป็นรากฐานการเลี้ยงดูลูกหลานที่สำคัญ คือ การผสาน ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม และธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน อันเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเราได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คือ เน้นให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ มีอิสระ เฉกเช่นพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทุกคนเคยผ่านช่วงชีวิตแบบนี้มา อาทิ ช้อนปลากัด ปีนต้นไม้ กระโดดลงเล่นคลอง ขุดดินเล่นดินขายของ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ซึ่งในปัจจุบันหาได้ยากเเล้ว” ปลัด มท. กล่าว

ปลัด มท. กล่าวต่ออีกว่า การดูแลบุตรหลานในปัจจุบัน ผู้ปกครองปรารถนาที่จะให้ความรัก ความอบอุ่น ความเป็นห่วงบุตรหลาน จึงเลี้ยงดูลักษณะให้ลูกหลานอยู่ในสายตา ทำกิจกรรมภายในบ้าน ดูจอทีวี เล่นมือถือ ส่งผลให้เด็กปัจจุบันนี้สมาธิสั้นและเข้าสังคมไม่เป็น มักมีนิสัยชอบเก็บตัว มีโลกส่วนตัวสูง ซึ่งการมี “สวนสนุกสามวัยหรือสวนเด็กเล่นนี้” จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีพัฒนาการในทุกด้าน รู้จักเข้าสังคม เคารพซึ่งกันเเละกัน มีการต่อคิวรอเล่นเครื่องเล่น มีระเบียบวินัย กฎกติกา มีน้ำใจนักกีฬา ฯลฯ จึงเชิญชวนทุกท่านได้ช่วยกันขยายผล สานต่อแนวคิดของอาจารย์ดิสสกรฯ ที่ช่วยทำให้เกิดสนามเด็กเล่นที่ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในโรงเรียน แต่สร้างให้เกิดในที่สาธารณะที่ออกแบบมาให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกฐานะ ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เด็กและเยาวชนได้รับความสนุกสนาน และมีพัฒนาการทุกด้าน เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ดิน น้ำ ทราย และต้นไม้ กิจกรรมตะลุยฐานต่าง ๆ จะช่วยสร้างจิตใจให้เป็นคนที่กล้าหาญ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ เพราะกิจกรรมต่าง ๆ มีทั้งการปีนป่ายขึ้นไปในที่สูง ซึ่งอาจตกลงมาแล้วได้รับบาดเจ็บ แต่ก็เป็นการฝึกความกล้าหาญ การเรียนรู้ของเด็ก แบบ No pain, No Gain. นอกจากนี้ ยังมีฐานที่ช่วยส่งเสริมจินตนาการของเด็กให้มีโอกาสได้เขียน วาดรูป สร้างสรรค์งานศิลปะ งานปั้น งานจักสาน งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม เป็นการกระตุ้นจินตนาการและแรงบันดาลใจพัฒนาตัวของเด็ก

“นโยบายของกระทรวงมหาดไทย คือ การเสริมสร้างรากฐานที่เป็นความมั่นคงในทุกมิติซึ่งได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นหลักคิดที่สำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทักษะที่ต้องเพิ่มในสวนสนุก คือ เรื่องของการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้มีการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีคำอธิบายประโยชน์ที่ได้จากการคัดแยกขยะในแต่ละชนิด ต่อมา คือ การบริหารจัดการน้ำให้มีธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด รวมถึงนำน้ำไปรถน้ำต้นไม้แปลงผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร อยากให้มีการสร้างรั้วที่มาจากแปลงผักปลอดสารพิษ เพื่อให้เกิดประโยชน์และปลูกฝังในการปลูกผักสวนครัว เพื่อนำมาลดรายจ่ายซึ่งสามารถน้อมนำโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และโครงการ ทางมีผลผู้คนรักกันของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มาประยุกต์ใช้ได้” ปลัด มท กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายที่แท้จริงของ SDGs ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่มีนัยที่สำคัญคือการรักษาสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม โดยไม่แยก เพศ วัย ฐานะ หรือ ชนชั้น โดยตนขอสนับสนุนให้ขยายผลสนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้ไปทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่เป็น Open Space มีลานกิจกรรม ลานกีฬา ลานวัฒนธรรม แปลงโคก หนอง นา ที่มีป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างรวมอยู่ด้วย ให้คนทุกเพศทุกวัยได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อให้โลกใบเดียวของเราได้อยู่อย่างยั่งยืน เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้เที่ยวและได้ทั้งความรู้ พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในครัวเรือน ทำให้เกิดความมั่นคงและความเข้มแข็ง ความรัก ความสามัคคี อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญของสังคมไทย ทั้งนี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ Partnership หรือการเป็นหุ้นส่วน ซึ่งสนามเด็กเล่นนี้ได้แสดงให้เห็นว่ากระทรวงมหาดไทยมีหุ้นส่วนภาคประชาสังคม คือ มูลนิธิฯ และภาครัฐ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง และขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ในการขยายผลโครงการดี ๆ แบบนี้ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุขต่อ ๆ ไป เพราะความสุขที่แท้จริงคือ ความสุขที่เกิดขึ้นจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เด็กและเยาวช ร้อยพวงมาลัย การทำอาหาร การรำวง การศึกษาต้นไม้ พืชพรรณนานาชนิด รวมถึงสมุนไพร ยารักษาโรค จึงขอเชิญชวนทุกท่านช่วยขยายผลเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ คือ ทำให้บ้านเรือนสะอาด เรียบร้อย สร้างความมั่นคงทางอาหาร มีการปลูกผักสวนครัว การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการคัดแยกขยะ มีความรัก ความสามัคคี ภายในครัวเรือนชุมชน มีใจเป็นจิตอาสา ที่ทำความดีด้วยหัวใจ ผ่านการช่วยส่งเสริมกิจกรรมสาธารณะ เสียสละทั้งแรงกาย แรงใจ หรือทรัพย์สิน เพื่อให้เกิดสิ่งดีดี เป็นการ Change for Good ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะตนเชื่อว่าถ้าทุกคนช่วยกัน บ้านเมืองของเราก็จะดีแน่นอน

นายดิสสกร กุนธร กล่าวว่า กรอบแนวคิดเรื่องการสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญานี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากฐานการละเล่นตามแบบอย่าง “การเล่นตามรอยพ่อ” ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงเลี้ยงดูกษัตริย์ทั้งสองพระองค์และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในช่วงเยาว์วัย โดยมีการออกแบบให้มีฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน ได้แก่ 1) ฐานสระอินจัน 2) ฐานสระทารก 3) ฐานสไปเดอร์แมน 4) ฐานเรือสลัดลิง และ 5) ฐานสระหัดว่ายน้ำ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย โดยใช้เวลากว่า 15 ปี ถอดบทเรียนพัฒนาสนามเด็กเล่นให้เป็น “สวนสนุกสามวัย” เพื่อให้ประชาชนชาวปริกทั้ง 3 กลุ่มวัย ได้ใช้เป็น Open Space ของเมืองและชุมชน เป็นพื้นที่พบปะกัน สามารถมีเวลาร่วมกันทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ทักษะทางสมอง สติปัญญา และทางกายภาพของคน 3 กลุ่มวัย และยังช่วยสร้างพื้นที่แห่งใหม่ให้กับคนในชุมชนได้ใช้ทำกิจกรรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไกลเข้าไปในตัวเมืองหาดใหญ่ ผู้ปกครองสามารถลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ สวนสนุกสามวัย จะทำให้เด็ก ๆ มีการหลั่งสารเคมีที่เรียกว่า โดพามีน เอนโดฟิน เซราโทนีน ฯลฯ ซึ่งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก สามารถลดการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ หรือช่วยบรรเทาอาการป่วยทางด้านจิตใจ ซึ่งเราเรียกหลักการนี้ว่า “ฉันทะศึกษา” คือ ได้ทั้งการเที่ยวเล่น และความรู้ ช่วยให้ผู้ใหญ่มีสุขทั้งจิตใจที่ดี คลายความเครียด ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อลดปริมาณการเข้ารักษาในโรงพยาบาล สำหรับขั้นต่อไปจะต้องขยายผลสู่การ เพิ่มการเรียนรู้ตามแนวคิดทำทันที ให้ฝึกประดิษฐ์ แปรรูป และต่อยอดจากการเรียนรู้ มีความกตัญญู รู้หน้าที่ความเป็นพลเมือง ซึ่งคาดว่า สวนสามวัยนี้จะเป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องภาคใต้ ในการเลี้ยงดูบุตรหลานต่อไป

“สวนสนุกสามวัยเทศบาลตำบลปริก เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากอนุสนธิของโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ทางเทศบาลตำบลปริก ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ได้ดำเนินการ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ให้เป็นพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย จากจำนวน 12 พื้นที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นนำร่องทั่วประเทศ ต่อมาเทศบาลตำบลปริกได้ชับเคลื่อนงานด้านการดูแลเด์กปฐมวัยผ่านกลไกการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างพัฒนาการเด็กภายใต้กรอบแนวคิด (Concept) ที่ว่าด้วยการสร้างพัฒนาการเด็กด้วยการเรียนรู้ผ่านการเล่น (play and Learn : PLEARN หรือ เพลิน) ด้วยวัสดุที่ทำจากเทคโนโลยี เครื่องเล่นพื้นบ้านแบบเรียบง่าย ใช้วัสดุสิ่งของที่หาได้ในท้องถิ่น และประการสำคัญคือวัสดุต่าง ๆ นั้น ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” นายดิสสกรฯ กล่าว

นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า การดำเนินการจัดทำสวนสนุกสามวัยเทศบาลตำบลปริกแห่งนี้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากอนุสนธิของโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่เทศบาลตำบลปริก ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ได้ดำเนินการ เมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทย จากจำนวน 12 พื้นที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นนำร่องทั่วประเทศ ต่อมา เทศบาลตำบลปริกได้ขับเคลื่อนงานด้านการดูแลเด็กปฐมวัยผ่านกลไกการใช้สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเป็นเครื่องมือในสร้างการพัฒนาเด็กภายใต้กรอบแนวคิด ที่ว่าด้วยการ สร้างพัฒนาการเด็ก ด้วยการเรียนรู้ผ่านการเล่น (Play and Learn : หรือ เพลิน) อย่างจริงจัง สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กและเกิดความก้าวหน้าในการพัฒนาการเด็ก ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ภายใต้โครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาเครื่องมือพัฒนาการศึกษาปฐมวัยมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ซึ่งมี อาจารย์ดิสสกร กุนธร เป็นประธานมูลนิธิฯ นั้น ได้เห็นถึงผลงานและการใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาของทางเทศบาลตำบลปริกมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เทศบาลตำบลปริกดำเนินการขยายผลสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาจากเดิมที่เคยอยู่เฉพาะในรั้วโรงเรียน ให้เป็นสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่กระจายตัวออกสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้นวันที่ 5 มี.ค. 66