ปลัด มท. พร้อมด้วยผู้ว่าฯ อ่างทอง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเเปลงโคก หนอง นา ที่ อ.โพธิ์ทองเเละ อ.เเสวงหา ย้ำความยั่งยืนเกิดจากการพึ่งพาตนเอง และขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายควบคู่กับการเเบ่งปัน

ปลัด มท. พร้อมด้วยผู้ว่าฯ อ่างทอง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเเปลงโคก หนอง นา ที่ อ.โพธิ์ทองเเละ อ.เเสวงหา ย้ำความยั่งยืนเกิดจากการพึ่งพาตนเอง และขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายควบคู่กับการเเบ่งปัน

วันนี้ (4 มี.ค. 66) เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงโคก หนอง นา วัดจันทร์ ตำบลทางพระ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง และ “โคก หนอง นา” ฟาร์มเกษตรสุขทวี ม.4 ต.ศรีพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ของนายอักขราพัชร ลายตลับ หรือ คุณกาเหว่า ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเเหล่งเรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญของพี่น้องชาวอ่างทอง โดยมีนายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง นายศักดิ์ดา บรรดาศักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอโพธิ์ทอง นายอำเภอแสวงหา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เเละประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พื้นที่แปลงโคก หนอง นา วัดจันทร์ ตำบลทางพระ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นพื้นที่ตามหลัก บวร หรือ บ้าน วัด ส่วนราชการ มีจุดเเข็ง คือ เป็นพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับเเหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ได้รับประโยชน์ คือ มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ถือว่ามีต้นทุนเชิงภูมิศาสตร์ที่ดี ต่อมาคือการออกแบบพัฒนาพื้นที่ เดิมทีเน้นการปลูกพืชเเบบผสมผสาน แต่จะต้องออกแบบให้ครอบคลุมถึงการเก็บเก็บผลผลิตจากแปลงโคก หนอง นา เพิ่มเติม โดยมีการจัดการใช้หลักภูมิสังคม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน และทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาถ่ายรูปเช็คอิน มีป้ายอธิบายจุดต่าง ๆ ภายในบริเวณแปลง เพื่อให้ความรู้ว่าโซนนี้คืออะไร มีกิจกรรมอย่างไร ผลประโยชน์ที่ได้รับมีอะไรบ้าง ทำให้ผู้ที่มาเที่ยวเยี่ยมชมได้รับความรู้และนำกลับไปประยุกต์ใช้ พัฒนาตัวเองเเละครอบครัว ได้ทั้งเที่ยว ได้ทั้งความรู้ นอกจากแปลงโคก หนอง นา ที่มีระบบนิเวศที่สอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ ทั้งผักหวาน ยอ ถั่ว เเค เป็นต้น รวมไปถึงมีการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาประจำถิ่นแล้ว พื้นที่เเห่งนี้ยังเป็นศูนย์รวมใจ เเละเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านสามารถมาทำกิจกรรมร่วมกับ นำเมล็ดพันธุ์ผัก หรือนำสัตว์น้ำที่แบ่งโซนอภัยทาน กับโซนที่สามารถจับสัตว์น้ำได้ ไปสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารได้ เป็นการเสริมสร้างความเข้มเเข็ง ความรัก และความสามามัคคีของคนในชุมชน เปิดโอกาสให้ เด็กเเละเยาวชนได้มีโอกาสมาร่วมทำกิจกรรมกัน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชนอีกด้วย

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทย มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยที่ยั่งยืนตามประกาศเจตนารมณ์ ภายใต้เเนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา” หนึ่งในภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งมั่นในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข คือ การพัฒนาคน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริต่าง ๆ รวมถึงทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ที่จะต้องเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน คือ การพึ่งพาตนเองให้ได้ พออยู่ พอกิน พอใช้ เเละพอร่มเย็น เเล้วถึงจะขยายผลโดยการทำบุญแบ่งปัน เหลือเก็บแปรรูป นำไปขายเพื่อสร้างรายได้ เเละถ่ายทอดองค์ความรู้ความสำเร็จเป็นวิทยาทานเพื่อสร้างเครือข่าย ขยายผลความยั่งยืนไปสู่สังคมในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อ ๆ ไป ซึ่งจะเกิดการพัฒนาพื้นที่ เเละสิ่งเเวดล้อมที่ดีตามมา ปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนา คือ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ท้องต้องอิ่มก่อนถึงจะไปช่วยคนอื่นได้ ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียงจึงเป็นปรัชญาในการใช้ชีวิตบนวิถีพอเพียงสามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

“วันนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้นำที่เป็นทางการตามกฎหมายกำหนด สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ คือ การสร้างทีมทั้งทีมที่เป็นทางการ และทีมที่เป็นจิตอาสา จากทั้ง 7 ภาคเครือข่าย ซึ่งจะต้องยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามหลักภูมิสังคม ยกตัวอย่างเช่น ที่แปลงโคก หนอง นา วัดจันทร์ พื้นที่ภูมิศาสตร์มีเเหล่งน้ำอยู่เเล้ว หากจะยกระดับแปลงโคก หนอง นา จาก ระดับครัวเรือน หรือ HLM ไปสู่ ศูนย์เรียนรู้ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางการเกษตร ในระดับตำบล หรือ CLM สิ่งที่ต้องออกแบบเพิ่มเติม คือต้องวางเเผนผลผลิต การรักษาหน้าดิน เเละระบบท่อน้ำทางธรรมชาติ หรือ คลองไส้ไก่ ที่มีระบบสูบน้ำได้เอง ซึ่งสามารถลงทุนโดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานเเสงอาทิตย์ (Solar pump) โดยสูบน้ำให้มีระดับเดียวกับคลองไส้ไก่ ทำให้พืชผลในเเปลงมีความชุ่มชื้น ดินมีความร่วนซุยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ มารดน้ำ ประหยัดทั้งเเรง เเละลดการสูญเสียหน้าดินจากการรดน้ำต้นไม้อีกด้วย หรือการวางเเผนออกแบบให้ผลผลิตสามารถเก็บกินได้ตลอดทั้งปี ปลูกให้เหลื่อมเวลากันในแต่ละเเปลง ประมาณ 2 สัปดาห์ ปลูกหลาย ๆ ชนิดตามฤดูกาล เป็นต้น เรื่องสำคัญคือว่า ให้ลงพื้นที่ลงมาดู มาเยี่ยมมาให้กำลังใจ ทำงานแบบรองเท้าสึก ก่อนก้นกางเกงขาด นัยยะที่สำคัญ คือ เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการดี ๆ ถูกปล่อยปละละเลย หรือถูกทิ้งร้างซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ผู้นำต้องทำเป็นตัวอย่าง ทีมงานถึงจะมีกำลังใจ เกิดความเชื่อมั่นเเละศรัทธาที่จะสานต่อโครงการดี ๆ ต่อไป” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

นายอักขราพัชร ลายตลับ หรือ คุณกาเหว่า ผู้นำต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ผมได้แรงบันดาลใจในการทำ “โคก หนอง นา” ณ ฟาร์มเกษตรสุขทวี ม.4 ต.ศรีพราน อ.แสวงหา จ.อ่างทอง จากในหลวงรัชกาลที่ 9 เเละคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงแนวเเน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย สิ่งที่มีในขณะนั้น คือ ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ มีปัญญา และภูมิสังคม ทางกรมการพัฒนาชุมชนได้มาช่วยออกแบบรูปแปลงให้ โดยดูจากแปลงข้างเคียง ทิศ ทางลม สิ่งสำคัญ คือ คนทำต้องถูกใจถึงจะสามารถสร้างสรรค์จากภาพในกระดาษสู่ความจริงที่เป็นผืนดิน จึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ พอมีใจ เปิดใจ ต้นไม้ในพื้นที่ก็จะโต เเละเริ่มเห็นถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สิ่งสำคัญประการต่อมา คือ เราต้องหมั่นเรียนรู้เเละพัฒนาตนเอง ออกไปเรียนรู้ไปศึกษา นำความรู้ที่ได้มาต่อยอด เช่นคำว่า โคก หนอง นา มีนิยามจำนวนมาก ผมมีความมุ่งหวังที่จะรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมด แล้วมาออกแบบในพื้นที่แห่งนี้สู่เเหล่งเรียนรู้ที่ครบวงจร ไม่ต้องเดินทางไปหลายที่ให้จบ ณ พื้นที่เเห่งเดียว สิ่งสำคัญของการทำโคก หนอง นา คือ ต้องทำให้มีความสุข อย่าทำให้มีความทุกข์ ผักที่ปลูกสามารถกินได้ ขายได้ แปรรูปได้ สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือสุขภาพ เช่น กล้วยที่เราใช้เเก๊สบ่มจนสุก เทียบกับ กล้วยที่สุกคาเครือ ความอร่อยเเละสารอาหารที่ได้รับก็เเตกต่างกัน ซึ่งผลผลิตในเเปลงทั้งหมดปลอดสารเคมี ใช้วิถีเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น ในขณะนี้ ที่ฟาร์มเกษตรสุขทวีมีคนดูงานเป็นจำนวนมาก ส่วนตัวต้องการให้เกิดการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนกัน เพราะบางอย่าง คนเกิดก่อนอาจจะได้รู้ทีหลังก็ได้แบ่งปันความรู้กัน ซึ่งความยั่งยืนของเกษตรกรจะเกิดขึ้นได้ คือต้องให้กำลังใจและช่วยเหลือกัน คือ ยุให้ปลูกก็ต้องยุให้ขายด้วย เวลาปลูกปลูกพร้อมกันได้แต่อย่าให้เหมือนกัน ถ้าปลูกแล้วผลผลิตออกพร้อมกันสินค้าก็จะล้นตลาด ตำรามีหลักการเพียงเท่านี้

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ว่ารายการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ต้องช่วยกันสร้างทีมทั้งทีมข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล และทีมจิตอาสา มาร่วมอบรมสร้างเครือข่าย และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องจากปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จ เเล้วช่วยกันขยายผล สร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง โครงการทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และช่วยส่งเสริมสิ่งเเวดล้อมด้วยการคัดเเยกขยะ และจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อนำไปสู่หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่คนในชุมชนมีความสุข มีรอยยิ้ม มีความรักใคร่สามัคคี มีรายได้ที่มั่นคง มีภูมิคุ้มกันต่อภัยทางสังคม เเละภัยธรรมชาติ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตัวอย่างพื้นที่ที่ยั่งยืนมีให้ศึกษาดูงานหลายเเหล่ง ในโซนภาคกลาง เช่นที่ ตำบลโก่งธนู จังหวัดลพบุรี ทุกบ้านมีผักสวนครัวขั้นต่ำ 20 ชนิด มีกินทั้งปี เพราะว่าไม่ได้ปลูกผักอายุสั้น มีมะกรูดมะนาว ฟักแฟง แตงกวา ถั่วพู พริก มะเขือเปราะ มะเขือยาว มีพืชพันธุ์นานาชนิดเต็มไปหมด ควบคู่กับการส่งเสริมระบบนิเวศที่ดี มีการทำปุ๋ยหมัก คัดเเยกขยะ มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สร้างเป็นที่ท่องเที่ยวที่ได้ทั้งความรู้และภาพถ่ายที่ระลึกเช็คอิน เป็นต้น ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบใหัพื้นที่ต่าง ๆ ศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ตามภูมิสังคมของตนได้ ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านทั้งทีมผู้นำที่เป็นทางการเเละทีมจิตอาสาของทุกพื้นที่ในการปฏิบัติภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกมิติให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป