ปลัด มท. เปิดการอบรมทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 7 สร้างภาคีเครือข่ายไปแล้วกว่า 765 อำเภอ

ปลัด มท. เปิดการอบรมทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 7 สร้างภาคีเครือข่ายไปแล้วกว่า 765 อำเภอ เน้นย้ำ นายอำเภอต้องเป็นผู้นำและสร้างทีมขยายผลเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อย่างยั่งยืน

วันนี้ (28 ก.พ. 66) เวลา 09:00 น. ที่ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง “CAST” ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 7 โดยมี นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง โดย นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอ 112 อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,120 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก สระบุรี ยะลา และชลบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หรือ CAST (Change Agent for Strategic Transformation) for sustainable development goal ครั้งนี้เป็น รุ่นที่ 7 แล้ว ซึ่งเมื่ออบรบรุ่นต่อไป ก็จะทำให้ทั้ง 878 อำเภอ ผ่านการอบรมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดังที่เรียนว่าเราอยากเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกผู้นำสูงสุดของการขับเคลื่อนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เช่นเดียวกันกับในระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีของอำเภอ นายอำเภอจึงต้องทำหน้าที่บูรณาการงานทุกภาคส่วน ทั้งราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตลอดจนถึงบูรณาการงานกับภาคเอกชน ซึ่งทุกงานในระดับพื้นที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือทำงานร่วมกันและต้องทำงานด้วยไฟในหัวใจอย่างแรงกล้า เพราะทุกงานเป็นผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน อีกประการคือการบูรณาการคน การทำงานร่วมกันกับคนในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เพราะว่าในโลกใบนี้ไม่มีทางทำสำเร็จได้ถ้าหากขาดการบูรณาการคน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ที่ทุกท่านมาร่วมอบรมหลักสูตร CAST นี้จะหล่อหลอมรวมจิตใจของทุกคนที่เข้าอบรม ทำให้เกิดสิ่งที่ดี ตอกย้ำทุกคนที่เป็นข้าราชการและพสกนิกรที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความทุกข์น้อยลง มีความสุขมากยิ่งขึ้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ปัจจัยที่สำคัญของการขับเคลื่อนงานทุกชิ้น คือ “คน” ดังที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับ Partnership เช่นเดียวกันกับนักบริหารนักจัดการทั่วโลก โดยเฉพาะ ดร.อินาโมริ อดีตผู้บริหารบริษัท Kyocera และสายการบิน JAL ที่ท่านให้ความสำคัญกับการบริหารคน ปลุกเร้าคนในบริษัท ด้วยการสร้างแรงปรารถนา (Passion) นำคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน ควบคู่กับการปลุกเร้าพนักงานเก่าที่อยู่มานานให้มีใจทำงาน โดยท่านเป็นตัวอย่างของผู้บริหารที่มีความเป็นผู้นำที่ดีและให้ความสำคัญกับลูกค้า เช่น นำผู้บริหารตลอดจนพนักงานไปยืนโค้งคำนับที่ประตูผู้โดยสาร ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างสุภาพนอบน้อม ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจจนทำให้สายการบิน JAL ได้รับความนิยมและมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นภายในระยะเวลา 1 ปี ดร.อินาโมริ ก็สามารถฟื้นคืนสายการบินที่ล้มละลายและกลับคืนสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างว่า “อุดมการณ์และจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ” นายอำเภอนอกจากต้องปลุกไฟในใจตัวเองแล้ว ยังต้องปลุกใจคนในพื้นที่ตัวเองด้วย เพื่อให้เราเดินไปข้างหน้าด้วยความสุข ทิ้งร่องรอยความสุขให้กับประชาชนคนรุ่นหลังได้สัมผัส สิ่งที่สำคัญคือเราต้องมีอุดมการณ์ในการทำงานแบบบูรการเพื่อความสุขของพี่น้องประชาชน โดยการหาทีมงานที่เก่ง มองโลกในแง่ดี มีจิตใจอาสา ดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการเชิญชวนส่งเสริมให้พวกเราทุกคนเข้ามาเป็นจิตอาสา มาทำงานในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และความดีด้วยหัวใจโดยไม่หวังผลตอบแทน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับนายอำเภอ โดยให้นายอำเภอไปสร้างทีม ทำให้เกิดกระบวนการกลุ่มเกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของ “นายอำเภอยอดเยี่ยม” ในปีที่ผ่านมา คือ อำเภอวังเจ้าและอำเภอเทพา จึงต้องขยายผลสู่อำเภออื่น ๆ ให้ครบ 878 อำเภอ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนในพื้นที่จะมีความสุขได้ก็เพราะนายอำเภอ ที่ต้องเป็นนายอำเภอที่ดีและเข้มแข็งเพื่อจะช่วยให้สมาชิกมีโอกาสร่วมพบปะพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีการประชุมประจำเดือนในรูปแบบการพูดคุยกันแบบพี่น้อง เพื่อหา Solution ของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และอีกประการคือ ในการพูดคุยต้องมีพื้นฐานการร่วมกันคิด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หรือสิ่งที่ทำให้ประชาชนเกิดความสุขแบบไม่ยั่งยืนในขั้นต้น เช่น ประชาชนไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็เกิดการเจ็บป่วย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษาหายามารับประทาน ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในขั้นต้นที่ไม่ยั่งยืน โดยเราจะต้องให้ทีมมาช่วยกันแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการต้องสอนให้ลูกหลานของครัวเรือนนั้น ๆ หุงข้าวเป็น หาเลี้ยงชีพได้ ทำให้ลูกหลานสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งการที่เรามาพบปะพูดคุยในเรื่องเกี่ยวกับปัญหารายครัวเรือน รายชุมชน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เราช่วยกันคิดระดมสมองอย่างเป็นระบบ ว่าเราจะทำอย่างไรบ้างเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน เพราะทุกคนที่มาอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่สำคัญ คือ การกลับไปทำสิ่งที่ดีให้กับ อำเภอ ตำบล ชุมชน หมู่บ้าน ต้องคิดให้ครอบคลุมทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นโดยการนำของนายอำเภอ ภายใต้เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้พบปะกันอย่างสม่ำเสมอ หาข้อสรุปที่ดีเพื่อนำไปสร้างความสุขอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้น และประการท้ายที่สุด พี่น้องประชาชนและนายอำเภอจะได้ร่วมรับประโยชน์ในสิ่งที่เราได้ร่วมคิด ร่วมทำ โดยเฉพาะนายอำเภอจะได้ความสุขกายสุขใจได้รับความรักความผูกพันจากคนในชุมชน ได้ชื่อว่าเป็น “ราชสีห์ผู้ภักดีของแผ่นดิน” ด้วยความภาคภูมิและปีติยินดี ในขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนก็มีความสุขกายสุขใจ ประเทศชาติจะเกิดความสามัคคี มีความสุขอย่างยั่งยืน เฉกเช่นปีที่ผ่านมาเราได้มีนายอำเภอยอดเยี่ยม คือ นายอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งท่านเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธลงไปทำงานในพื้นที่ซึ่งพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และใช้แนวทางการทำงานด้วยการลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน โน้มตัวเข้าหาประชาชน ตามแนวทาง “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด” ทำให้ระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ท่านผู้นำภาคีเครือข่ายศาสนา ทั้งโต๊ะอิหม่าม รวมถึงพระสงฆ์ ต่างชื่นชมและให้ความเชื่อมั่นในตัวนายอำเภอ รวมถึงประชาชนก็มีความสนิทสนมกับนายอำเภอ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเป็นนายอำเภอที่ดี

“ที่สำคัญ คือ นายอำเภอต้องไม่ทำงานคนเดียว ต้องไม่เป็น One Man Show แต่ต้องทำหน้าที่เป็น “ผู้นำการบูรณาการ” โดยอาศัยการบูรณาการทีม ทั้งทีมที่เป็นทางการและทีมจิตอาสา ที่รวมผู้นำภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีร่วมกับภาคประชาชนให้สำเร็จได้ ทั้งนี้ นายอำเภอต้องเข้มแข็ง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ทำให้ทีมที่เป็นทางการเข้มแข็ง และทำให้ทีมจิตอาสาเป็นพลังในการขับเคลื่อนและช่วยกันวางระบบให้เป็นทีมงานที่เป็นกึ่งทางการขึ้นมาดูแลพี่น้องประชาชนในลักษณะเป็นคุ้ม เป็นป๊อก หรือเป็นหย่อม มีหัวหน้าอย่างน้อย 1 คนต่อหลังคาเรือน ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเข้าไปพูดคุยให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืนได้ ซึ่งคำว่า “ความยั่งยืน” ประกอบด้วย ประการแรก คือ ความมั่นคงแข็งแรงของที่อยู่อาศัย ประการสอง คือ ไม่เป็นแหล่งเชื้อโรค เหมาะกับการเป็นที่อยู่อาศัย ประการสาม คือ มีความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการน้อมนำพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” หรือ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” และต้องคัดแยกขยะ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และทำธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นระบบปิดไม่ให้น้ำเป็นขี้ซัง โดยการแก้ไขให้น้ำระบายลงใต้ดิน ทำให้เป็นอาหาร ให้ต้นไม้มาดูดซึม ที่กล่าวมานั้นเป็นกายภาพที่เราสามารถมองเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้มีการปลูกผัก มีบ้านสะอาด มีผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์ เราก็สามารถอนุมานได้เลยว่ามันเป็นผลมาจากความรักสามัคคีของคนในบ้าน ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งต้องเกิดจากกระบวนการกลุ่ม เพราะฉะนั้น ครอบครัวที่มั่นคงยั่งยืนต้องมาจากการได้รับการพัฒนาของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ต้องมีกลุ่มบริหารจัดการอย่างแข็งแรง ช่วยกันจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ และยิ่งไปกว่านั้น ต้องร่วมกันส่งเสริมการแต่งกายด้วยผ้าไทย เพราะว่า เราจะได้ช่วยให้คนไทยมีรายได้ ลูกหลานอยากเรียนรู้ เพราะเมื่อคนจำนวนมากสวมใส่ผ้าไทย ผ้าไทยก็จะกลายเป็น “อาชีพ” ที่สร้างรายได้ ทำให้เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็น “หมู่บ้านเข้มแข็งอย่างยั่งยืน”” ปลัด มท. กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า นายอำเภอต้องเป็น Key Success การเป็นผู้นำ ด้วยการลงไปพูดคุย ไปเป็นผู้นำความคิด นำแนวทางที่ดี ไปรายงานกับผู้บังคับบัญชา ปลัดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในทุกโอกาส เพื่อจุดไฟ โน้มน้าว ให้ท่านลงพื้นที่ไปทำให้หมู่บ้านและภาคีเครือข่ายทั้ง 7 มีความเข้มแข็ง “เพราะการสื่อสารคือการสร้างการรับรู้” ก่อให้เกิดแรงผลักดันการพัฒนาเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังที่กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ UN ประจำประเทศไทย พร้อมกับ ผู้ว่าราชการทั้ง 76 จังหวัด ตามข้อตกลง “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นำไปสู่การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของน้องประชาชน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมภายใต้ “นายอำเภอ” ที่เป็นขุนศึกพร้อมทำงาน ตอบแทนคุณแผ่นดิน สมดั่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และขอเป็นกำลังใจในการสร้างสิ่งที่ดีตอบแทนบุญคุณประเทศชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป