ปลัด มท.ประชุม VCS ติดตามการทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นย้ำ “ทำงานแบบ Partnership และต้องทำจริง รายงานข้อมูลที่เป็นจริง”

ปลัดมหาดไทย ประชุม VCS ติดตามการทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นย้ำ “ทำงานแบบ Partnership และต้องทำจริง รายงานข้อมูลที่เป็นจริง” เพื่อกำหนดวางแผนบริหารจัดการเป็นไปอย่างถูกต้อง สร้างโอกาสในการร่วมรับประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน

วันนี้ (24 ก.พ. 66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวง หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานของกรม รัฐวิสาหกิจ และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาพวกเราชาวมหาดไทยได้ร่วมกันมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การน้อมนำพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีความมุ่งมั่นในการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “สืบสาน รักษา และต่อยอด” แนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยพระราชทานพระอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทย อัญเชิญพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ไปขับเคลื่อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา วันที่ 8 มกราคม 2566 ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งพาตนเอง การสร้างความรัก ความสามัคคีของผู้คนในชุมชน การอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ค่านิยม ประเพณี และสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน โดยมุ่งเน้นพัฒนาหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุดของทุกตำบล ตำบลละ 1 แห่ง รวม 7,255 หมู่บ้าน ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ อาทิ การส่งเสริมน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” ขยายผลสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนใช้พื้นที่รอบบ้านปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ปลูกผักอย่างน้อย 10 ชนิด เพื่อให้มีผักไว้บริโภคในครัวเรือน และหากมีปริมาณมากก็นำไปแจกจ่ายให้คนในชุมชน ไปถวายเจ้าอาวาสวัดไว้ทำโรงทาน หรือไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ รวมไปถึงการส่งเสริมความยั่งยืนทางอาชีพให้กับช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย อันเป็นสิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นทุ่มเทศึกษา วิจัย กระทั่งพระราชทานแนวทาง “การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ” ตั้งแต่ต้นทาง คือ การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกไม้ให้สี กลางทาง คือ ตัดเย็บเสื้อผ้าโดยใช้หลักการทางวิชาการควบคู่งานศึกษาวิจัยที่พระองค์ได้ทรงศึกษาแนวโน้มของแฟชั่นนิยมและพระราชทานผ่านหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยฯ (THAI TEXTTILES) และการพระราชทานผ้าลายพระราชทานลวดลายต่าง ๆ กระทั่งส่งผลอย่างชัดเจนและเป็นที่ประจักษ์ว่า ในปัจจุบัน พี่น้องประชาชนเกิดความมั่นคงทางอาชีพทอผ้า อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ล้วนเกิดจากน้ำพระทัยที่ทรงเมตตาและพระราชทานให้กับประชาชนทุกคน โดยมีพวกเราชาวมหาดไทยเป็นกลไกสำคัญในการรับพระกรุณาธิคุณไปขยายผลจนเกิดผลดังกล่าว

“ด้วยเพราะพระกรุณาธิคุณที่พวกเราชาวมหาดไทยได้น้อมนำมาขยายผล ทำให้ผลผลิตผ้าไทยได้รับความสนใจและคำชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติ ภายใต้การนำของคุณกีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ที่ได้ร่วมลงนาม MOU กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม UN SDGs ทั้ง 17 ข้อ ภายใต้แนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งล่าสุด คุณกีต้า ได้ร่วมลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพัทลุง ในการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการผ้าไทยที่มาเฝ้ารับเสด็จเพื่อถวายรายงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามพระดำริ ท่านได้ชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดทุกท่านที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมทำให้ผู้ประกอบการผ้าได้สร้างสรรค์ผลงานที่ล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับคำว่า “ความยั่งยืน” ทั้งผ้าสีธรรมชาติ ผ้าที่มีลวดลายสวดสดงดงาม การตัดเย็บที่มีรูปแบบน่าสนใจและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค กระทั่งเร็ว ๆ นี้ นายออสการ์ เฟอร์นานเดซ-ตารันโก (Mr. Oscar Fernandez-Taranco) ผู้ช่วยเลขาธิการ UN ฝ่ายประสานการพัฒนา มีกำหนดจะลงพื้นที่ติดตามและศึกษาแนวทางการสร้างความยั่งยืนด้านเครื่องนุ่งห่มตามพระดำริ เพื่อพิจารณานำผลงานของพี่น้องประชาชนไปนำเสนอต่อประเทศสมาชิกของ UN ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศไทยในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนตาม UN SDGs” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีในพื้นที่จังหวัด ด้วยการเป็นผู้นำในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงแบบบูรณาการที่ครอบคลุมครบถ้วนทุกกระบวนงาน ทั้งที่เป็นฟังก์ชั่นของทุกกระทรวงและงานในระดับพื้นที่ โดยส่งเสริมบทบาทของท่านนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีอำเภอ ให้สามารถเป็นผู้นำของทีมในพื้นที่ ลงไปพูดคุย ทำให้ทีมมีความสนิทสนมคุ้นเคย มีการพูดคุยหารือกันบ่อยครั้ง สร้างความเข้มแข็งของทีมทั้ง 2 ลักษณะ (DUO TRACK) ได้แก่ 1) ทีมที่เป็นทางการตามกฎหมาย ทั้งกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ ข้าราชการผู้รับผิดชอบประจำตำบล นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการ คณะทำงานอื่น ๆ ตามกฎหมาย และ 2) ทีมจิตอาสา โดยรวมผู้มีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละ จาก 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ มาพบปะพูดคุยร่วมประชุมหารือกันอย่างสม่ำเสมอ “ร่วมคิด” “ร่วมวางแผน” เพื่อให้เกิดการระดมสมอง เกิดความรัก ความสามัคคี การรับรู้แลกเปลี่ยนข้อมูล และ “ร่วมทำ” ผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่ดีทำให้เกิดผลสุดท้าย คือ พี่น้องประชาชนได้ “ร่วมรับประโยชน์” ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำให้ทีมในจังหวัดทุกทีมให้เข้มแข็ง เพื่อสามารถอำนวยการ สั่งการ ติดตาม แนะนำ ให้กำลังใจ กับทีมอำเภอ ทีมตำบล ทีมหมู่บ้าน ด้วยการทำให้นายอำเภอทุกคนที่ได้ฝึกอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข นำผลการขับเคลื่อน หรือพาทีมงาน มาพบปะพูดคุยนำเสนองานกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัด ในที่ประชุมกรมการจังหวัด และการประชุมต่าง ๆ เพื่อติดตามว่าได้ขับเคลื่อนไปถึงระดับหมู่บ้านหรือยัง เช่น ทีมที่เป็นทางการและทีมจิตอาสามีครบถ้วนทุกหมู่บ้านแล้วหรือยัง และสำหรับทีมที่เป็นทางการนั้นมีความเข้มแข็งหรือไม่ ด้วยการหมั่นลงไปคลุกคลีตีโมงคุยกับพี่น้องประชาชน ดังแนวทางการทำงานขององค์ปฐมเสนาบดีที่ว่า “รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด”

“ประการที่สำคัญ ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่มีการทำงานที่โปร่งใส รายงานและนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่สักแต่รายงานข้อมูลตัวเลขที่ไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริง (Fake News) ด้วยการทำงานเชิงคุณภาพ อย่าทำเพียงแค่ว่าให้งานเสร็จ แต่ต้องทำงานให้ “สำเร็จ” และลงพื้นที่ไปติดตามไป Recheck ผลการทำงาน เช่น ติดตามการรายงานข้อมูล จปฐ. ติดตามการรายงานข้อมูลถังขยะเปียกลดโลกร้อน ติดตามการรายงานข้อมูลยาเสพติด เป็นต้น เพื่อให้การวางแผนพัฒนา และการวางแผนแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุด “ต้องทำจริง พูดข้อมูลจริง” อันจะส่งผลทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีทิศทางทำงานที่จะเกิดประโยชน์ทำให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างยั่งยืน ต้องส่งเสริมบทบาทของ “ทีมสื่อสารสังคม” โดยมีภาคีเครือข่ายที่ 7 คือ ภาคีเครือข่ายสื่อสารมวลชน ลงไปทำงานร่วมกับทีมในพื้นที่ ซึ่งทีมภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนอาจจะพาลูกหลานของคนในทีมที่มีความสนใจและความสามารถด้านการผลิตสื่อโซเชียลมีเดีย TIK TOK Instagram เพื่อทำให้เกิดการซึบซับ และริเริ่มสร้างสรรค์สื่อที่ดีนำเสนอต่อสาธารณชนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้ายว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้วางระบบการติดตามขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมากำหนดพิกัดการพัฒนาตามโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะ Real Time ที่มีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ตรงตามพิกัด (Location) เพื่อทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ และนายอำเภอ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลาง ได้รับข้อมูลการดำเนินงานที่ครบถ้วนถูกต้อง ทั้งรู้พิกัดของพื้นที่ ของสถานที่ที่ได้ไปพัฒนา หรือพิกัดของชุมชน/หมู่บ้านที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อให้สามารถบริหารจัดการการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้นำแนวทางการทำงานตามบันทึกข้อตกลงที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ บันทึกข้อตกลง “โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข” ที่ได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม บันทึกข้อตกลง บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่าง วัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ที่ได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม และล่าสุด บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมเชิงพื้นที่” กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไปขยายผลขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน