รมว.สุชาติ ส่ง ‘โฆษก’ ลงพื้นที่จันทบุรี เยี่ยมแรงงานนอกระบบ ฝึกทักษะฝีมือ ช่วยชาวบ้านบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ

รมว.สุชาติ ส่ง ‘โฆษก’ ลงพื้นที่จันทบุรี เยี่ยมแรงงานนอกระบบ ฝึกทักษะฝีมือ ช่วยชาวบ้านบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจผู้เข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงานหลักสูตรการทำน้ำพริกแกง การจัดดอกไม้ในงานพิธี และการตัดผมชาย เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดจันทบุรี และผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะฝีมือแรงงานให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้ได้รับความรู้ทักษะฝีมือ สร้างความเข้มแข็งและมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนของประเทศ และในวันนี้ดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มแรงงานนอกระบบผู้เข้ารับการฝึกทักษะฝีมือแรงงานตามโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ ซึ่งโครงการนี้จะเน้นการเพิ่มพูนศักยภาพและการผลิตภาพแรงงานที่หลากหลาย กิจกรรมที่ให้การช่วยเหลือ 2 รูปแบบ ได้แก่ กิจกรรมการจ้างงานเร่งด่วน กิจกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนหรือกำลังแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ภัยธรรมชาติ จากเหตุอุทกภัย หรือภัยแล้ง รวมทั้งโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ โดยเฉพาะด้านการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานและขาดรายได้ในการดำรงชีพ

นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของจังหวัดจันทบุรี กำลังแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่เป็นแรงงานนอกระบบ โดยที่ผ่านมามีประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยบางส่วนอาจทำให้ประสบปัญหาการประกอบอาชีพ หรือบางส่วนที่รอฤดูกาลทำให้ขาดรายได้ จึงได้มีการจัดการฝึกทักษะอาชีพให้กับประชาชน
ในพื้นที่ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จำนวน 3 หลักสูตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการต่อยอดให้มีทักษะหลากหลายมากยิ่งขึ้น ได้แก่ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ต้องการฝึกทำน้ำพริกแกง เดิมทำน้ำพริกสำเร็จรูปที่ทานได้เลย เช่น น้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง แต่ต้องการขยายตลาดจึงต้องการเพิ่มทักษะการทำน้ำพริกแกงสูตรต่าง ๆ กลุ่มที่ 2 ฝึกหลักสูตรการจัดดอกไม้ในงานพิธี เป็นกลุ่มที่มีทักษะด้านการผูกผ้าตามงานพิธีต่าง ๆ แต่ต้องการทักษะการจัดดอกไม้ร่วมด้วยเพื่อจะเป็นจุดขายให้กับลูกค้า โดยในสองกลุ่มแรก ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 20 – 22 กุมภาพันธ์ 2566 และกลุ่มสุดท้าย ฝึกอาชีพตัดผมชาย ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 20 – 24 กุมภาพันธ์ 2566 รวมผู้เข้ารับการฝึกทั้งสิ้น จำนวน 52 คน

“โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ เป็นการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ มีทักษะฝีมือ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้น และในระยะยาว ได้รับความคุ้มครองและมีหลักประกันทางสังคม และผู้ที่ผ่านโครงการนี้นอกจากจะสามารถนำความรู้ทักษะฝีมือไปสร้างอาชีพได้แล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกทางหนึ่งด้วย” นางเธียรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย