ปลัด มท. แถลงข่าวการแสดงโขน พระราชทาน เชียงราย ตอน “หนุมานชาญกำแหง”

ปลัด มท. แถลงข่าวการแสดงโขน พระราชทาน เชียงราย ตอน “หนุมานชาญกำแหง” เชิญชวนประชาชนชาวเชียงราย และจังหวัดภาคเหนือ ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันหาชมยาก 14-15 กุมภาพันธ์ 66 เวลา 1 ทุ่มตรง ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ไม่มีค่าใช้จ่าย

วันนี้ (2 ก.พ. 66) เวลา 17.00 น. ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) ตำบลเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดเชียงราย ประจำปี 2566 ตอน “หนุมานชาญกำแหง” แสดงโดยคณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายวันชัย จงสุทธนามนี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชนและสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีหลวง ที่จะช่วยทำให้ประเทศชาติของเรามีความมั่นคง ทำให้ประชาชนมีความสุข ดังปรากฏในพระบรมราชโองการในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

“ศิลปวัฒนธรรมมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมการแสดงโขน ซึ่งเป็นศิลปะชั้นสูงของไทยที่มีความโดดเด่นในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการแต่งกายที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติ มีอัตลักษณ์ที่มีความเฉพาะตัว มีวัฒนธรรมทางภาษา มีเนื้อหาการขับร้องและเครื่องดนตรีชั้นสูง และที่งดงามยิ่ง คือ การแต่งกาย เครื่องพัสตราภรณ์ และการร่ายรำที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม และการแสดงโขน จะนำเสนอวรรกรรม เรื่อง รามเกียรติ์ ที่มีคติสอนใจ เพราะ ผลลัพธ์ของรามเกียรติ์ทุกตอน จะสื่อให้เห็นว่า “ฝ่ายธรรมะย่อมชนะอธรรม” อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะส่งผลไปถึงการทำให้ประเทศชาติมั่นคงประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืนได้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า การจะทำให้โขนมีพื้นที่การแสดงก็จะส่งผลดีทั้งต่อครูนาฏศิลป์ ทั้งผู้ประพันธ์ ผู้เขียนบทเขียนกลอน ตลอดจนถึงการสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทย และช่างเครื่องประดับอัญมณีต่าง ๆ จะได้มีส่วนมีพื้นที่ที่จะช่วยรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษของเราส่งผ่านมาถึงพวกเราซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์โดยตรงต่อครอบครัว ในการช่วยกันรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นชุบชีวิตผ้าไทยมาให้พวกเรา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงช่วยสนองงาน ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ทำให้ชุมชนมีรายได้ มีความเข้มแข็ง ส่งผลต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ การแสดงโขนพระราชทานฯ ครั้งนี้ เป็นสิ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มพูน ซึ่งจังหวัดเชียงรายมีโอกาสดีเพิ่มขึ้น คือ นอกจากจะช่วยทำให้ลูกหลานคนจังหวัดเชียงรายได้มีโอกาสสัมผัสการแสดงที่มีความวิจิตรงดงามจนเกินคำบรรยายก่อนคนจังหวัดอื่น ๆ แล้ว ด้วยชื่อเสียงของจังหวัดเชียงรายในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ จะทำให้จังหวัดเชียง มีบทบาทที่จะช่วยส่งเสริมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เปิดพื้นที่ในการจัดแสดงโขนพระราชทานฯ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีต่อคนไทยตลอดมา

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสานไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศ โดยการพระราชทานพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับการอนุรักษ์โขน ซึ่งพระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยได้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ และร่วมกันในการนำเสนอการแสดงโขนต่อองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNESCO ให้ประกาศรับรองโขนเป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List Of The Intangible Heritage of Humanity) ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา” ดร.วันดีฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายพุฒพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ในนามของชาวจังหวัดเชียงรายรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานโอกาสในการรับชมศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้กับประชาชนชาวเชียงราย และชาวจังหวัดภาคเหนือ โดยมีท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ท่านปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และท่านกรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 761 ปีของจังหวัดเชียงรายที่พญามังรายทรงสถาปนาเมืองเชียงราย และบูรณาการในวาระครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของจังหวัดเชียงราย โดยได้เตรียมความพร้อมหอประชุมตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2566 พร้อมตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ครอบคลุมในทุกด้าน ซึ่งจะมีการซ้อมเสมือนจริงในวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2566 และมีการแสดงในวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 19.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดแสดงโขนพระราชทานในครั้งนี้ อันเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพราะโขนไม่มีโอกาสได้ออกมาแสดงในต่างจังหวัดเนื่องจากเป็นศิลปะชั้นสูง ซึ่งการครบรอบ 50 ปีของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเป็นการบ่งบอกถึงการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องดูแลประชาชนและพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องศิลปวัฒนธรรมที่เราต้องผลักดันให้เกิดเพื่อให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้ทราบ ได้เห็นถึงความงดงามและนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของชาติไทยและความเป็นไทยซึ่งไม่มีที่ใดในโลกเหมือนกับประเทศไทย

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขอขอบคุณคณะทำงานที่เกี่ยวข้องที่ให้โอกาสองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายได้มีส่วนร่วมในการผลักดันและทำให้เกิดการฟื้นฟู การอนุรักษ์ การจัดงานโขนพระราชทาน ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่แต่เดิมนั้นเราเรียนแต่ในหนังสือและดูผ่านจอทีวีและยังไม่เคยได้เห็นโขนพระราชทานที่สวยสดงดงาม ซึ่งการแต่งกาย ท่วงท่านาฏลีลา งดงาม จึงถือเป็นความโชคดี เป็นบุญ และเป็นโอกาสของคนเชียงรายที่จะได้มีโอกาสได้ชมโขนพระราชทานฯ โดย อบจ.เชียงราย ได้มีโอกาสสนับสนุนในด้านสถานที่การจัดการแถลงข่าว และในด้านการจัดทำเวทีและแสง เสียง ตลอดการจัดงานเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม ในการสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้ยาวนานต่อไป

นายวันชัย จงสุทธนามนี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พวกเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า “โขน” มาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งที่ผ่านมาทางเทศบาลนครเชียงรายได้มีการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีด้านโขนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำการแสดงโขนมาแสดงในโรงเรียนของเทศบาลนครเชียงราย ให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รับชมกัน ซึ่งเรามุ่งมั่นจะทำให้เป็นแบบอย่าง เพื่อส่งเสริมในการท่องเที่ยว ส่งเสริมเรื่องการแต่งกาย เสื้อผ้าต่าง ๆ และยินดีที่ได้โอกาสและให้ความร่วมมืออย่างในการจัดการแสดงโขนครั้งนี้

นางนฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง กล่าวว่า การแสดงโขนพระราชทาน จังหวัดเชียงราย เรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานชาญกำแหง แสดงโดยคณะนักแสดงจากโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง อำนวยการแสดงโดย นฤมล ล้อมทอง กรรมการผู้จัดการโรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง ควบคุมการแสดงโดย รศ.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ) กำกับการแสดงอาจารย์เฉลิมศักด์ ปัญญวัตวงศ์ บรรเลงดนตรีไทยโดยวงโรหิตาจล จับตอนตั้งแต่กำเนิดหนุมาน จนได้เป็นข้าทหารของพระราม ช่วยพระรามรบกับทศกัณฐ์จนชนะ และได้รับประทานสมญาศักดิ์เป็นพระยาอนุชิตจักรกฤษณ์พิพรรธพงศาครองเมืองนพบุรี ซึ่งโขนศาลาเฉลิมกรุง เป็นคณะโขนที่ได้คัดเลือกนักแสดงกว่า 100 คน ที่ได้รับการฝึกฝนนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทย จากหลากหลายสถาบันเข้าร่วมแสดง โดยรักษาอัตลักษณ์แห่งโขนไว้อย่างครบถ้วน ทั้งด้านขนบจารีตในการแสดงและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่อง (Authenticity) คุณค่าแห่งศิลปะชั้นสูงอันเป็นส่วนหนึ่งของมรดกไทย (Thai Heritage) และความเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิง (Entertainment) ธำรงไว้ซึ่งความงดงามตามจารีตดั้งเดิม ทั้งลีลาและท่วงท่าการแสดงล้วนเน้นความประณีตอ่อนช้อย การแสดงมีกระบวนท่าที่สวยงาม รวดเร็ว กระชับ ดนตรีไทยบรรเลงสด ถ่ายทอดผ่านการแสดงอันวิจิตรงดงาม ดำเนินเรื่องด้วยการพากย์และเพลงหน้าพาทย์แบบโบราณ เรื่องราวสั้นกระชับด้วยการพากย์เจรจา ชมท่วงท่าความสง่างามของกระบวนทัพของพระรามและทศกัณฐ์ และสนุกสนานตื่นเต้นไปกับลีลากระบวนท่าของลิง ที่หาชมยากยิ่งในปัจจุบัน นอกจากผู้ชมจะได้รับชมวิจิตรงดงามของกระบวนทัพพระรามกับทศกัณธ์แล้ว ยังจะได้รับความสนุกสนานตื่นเต้นไปกับลีลากระบวนท่าของลิงที่หาชมยากยิ่ง นอกจากนี้ยังแฝงข้อคิดมากมายผ่านตัวละครหนุมาน ที่เปรียบเสมือนเป็นผู้แทนของข้าราชบริพารที่มีความจงรักภักดีต่อพระราชา มีความกตัญญู ซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ต้องพึงปฏิบัติ โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเชียงรายและชาวจังหวัดภาคเหนือ ร่วมแต่งกายด้วยชุดย้อนยุค หรือผ้าไทย ชมการแสดงโขน พระราชทาน เชียงราย ตอน “หนุมานชาญกำแหง” 14-15 กุมภาพันธ์ 66 เวลา 19.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ไม่มีค่าใช้จ่าย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย