เร่งปั้นคนการบินหลังโควิด-19 หลังคนในวงการเริ่มขาดแคลน

หลังจากช่วงปลายปี 2562 และ ต้นปี 2563 ที่โลกเราได้รู้จักกับเชื้อไวรัสโควิด-19  อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกพบวิกฤตอย่างหนักทุกประเทศไม่ว่าจะประเทศไหนก็ล้วนโดนหมด  ซึ่งในประเทศไทยเองพนักงานทั้งฝ่ายสนับสนุนและปฏิบัติการต่างก็ถูกลดเงินเดือน ถูกปลด และพักงาน อย่างที่ข่าวออกโดยทั่วไปว่าพบนักบิน กัปตัน ปลดปีกออกมาขับไรเดอร์ส่งอาหาร สจ๊วตและแอร์โฮสเตสหันมาค้าขาย รับจ้าง ซึ่งในปี 2563 พบว่าบุคลากรโดยตรงในสายการบินกว่า 2 แสนคน ลดลงเหลือแค่ 8 หมื่นกว่าเท่านั้น และจำนวนเที่ยวบินลดลงถึงกว่า 50% จาก 1.07 ล้านเที่ยว เป็น 5 แสนเที่ยว และเหลือเพียง 258,000 เที่ยวในช่วงแพร่ระบาดหนักในปี 2564 ที่ผ่านมานี้ยังไม่นับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ ที่ลดหลั่นตามไปด้วยเป็นโดมิโนแม้ตัวเลขไม่แน่ชัด

อย่างไรก็ตามในปี 2566 นี้ หลายประเทศผ่อนปรนมาตรการและต่างเปิดประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เปิดให้กรุ๊ปทัวร์ท่องเที่ยวได้แล้วช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก่อกระแสคนจีนพร้อมปักธงเที่ยวล้างแค้น (Revenge Travel) เที่ยวให้หนำใจแบบเชื่อว่าจะมาแบบชุดใหญ่กว่า 11 ล้านคน หลัง 6 ก.พ. นี้ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ เมื่อนับรวมแล้ว คาดว่าอาจจะแตะไปถึง 70-80 ล้านคนในปีนี้ ทำให้วงการอุตสาหกรรมการบินหลายภาคส่วนทั้งการบินไทยและท่าอากาศยานไทย ประกาศรับสมัครพนักงานฝ่ายปฏิบัติการและสนับสนุนเพิ่มเติมด่วนกว่า 1 พันคน ซึ่งตอนนี้กลุ่มผู้บริหารในวงการต่างกังวลที่จะต้องรีบหาพนักงานใหม่เข้ามาเตรียมไว้ เพราะหากพนักงานมีน้อย จะเกิดคิวรอรับบริการ เกิดความล่าช้า และ จะส่งผลต่อการที่ลูกค้าโพสภาพร้องเรียนอย่างที่เห็นในข่าวกันว่า มีกรณีเกิดขึ้นมากมาย ทั้งรอรถมารับลงจากเครื่องบิน รอกระเป๋าเดินทางนาน หรือ รอเช็คอินขึ้นเครื่องไม่ทัน อุตสาหกรรมการบินในวันที่ฟ้าเปิดจะรุ่งแค่ไหน ในยุคหลังโควิด-19 จะทำรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ความมั่นใจในสายงานอาชีพนี้ในอนาคตจะเป็นไปอย่างไร ‘คำตอบ’ เรา Take off ขึ้นไปฟังจากปากของผู้เชี่ยวชาญด้านการบินอย่าง น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน หรือ  CADT: College of Aviation Development and Training มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้ในบรรทัดถัดไปนี้

ฝ่ายไทยยังไม่ขาด  สายการบินต่างชาติยังไม่แน่  เติมคนต้องรีบทำ

“อย่างที่เรารู้กันดีในภาคอุตสาหกรรมการบินไม่ใช่มีเพียงนักบิน สจ๊วต แอร์โฮสเตส เท่านั้น ยังมีฝ่ายอื่นๆ อีกมากมายกว่าถึง 9 ลักษณะงานอาชีพ โดยแบ่งเจ้าหน้าที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายปฏิบัติการบินและฝ่ายสนับสนุนการบิน ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยเราได้ผ่อนปรนให้บินและท่องเที่ยวในรูปแบบอย่าง ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อก’ เป็นพื้นที่นำร่อง โดยเรารู้และเตรียมรับมือมาซักระยะแล้วหลัง ล่าสุดที่เกิดความล่าช้าเล็กน้อยในเรื่องของพวกกระเป๋าสัมภาระของนักท่องเที่ยวที่สนามบินสุวรรณภูมิ อันนั้นเราขาดแคลนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการภาคพื้น ซึ่งไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ  อย่างประเทศอังกฤษกระเป๋าตกค้างเรียงกองพะเนินนับพันๆ ใบ จากการที่นักท่องเที่ยวจองเที่ยวบินปุ๊บปั๊บและจำนวนมาก” น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ บรรยายถึงสภาพทั่วไปของวงการการบินให้เราฟัง

“แต่เราผ่านมาแล้วและแก้ไขแล้วซักระยะหนึ่ง ไทยคือเป้าหมายการเดินทางของคนทั้งโลก เป็น HUB ของภูมิภาค องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเตรียมคนเข้าบรรจุ องค์กรฝ่ายไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องการจัดหาคนได้ว่องไว รู้สถานการณ์หน้างาน ส่วนสายการบินต่างชาติอาจจะต้องเร่งเตรียมการด่วน  ไทยไม่ใช่แค่ที่เที่ยวของคนแถวนี้  แต่บอกเลยว่า ที่หมายในใจของคนทั่วโลก ที่หนึ่งคือ กรุงเทพมหานครของเรา  ทุกคนในวงการการบินเราก็ต้องเตรียมตัว ไม่ว่าเรื่องสนามบิน บุคลากรด้านการบิน  ที่เรากังวลกันคือการขาดแคลนพนักงานฝ่ายสนับสนุนอาจจะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้”

ทว่าในปี 2567 หรือในปีหน้าเชื่อว่า  ‘ความขาดแคลน’ เจ้าหน้าที่ฝ่ายภาคพื้นขึ้น คงจะเกิดขึ้นแน่ ยิ่งหากคำนวณย้อนจากยอดนักท่องเที่ยวเดิมเมื่อ 3 ปีที่แล้วก่อนการแพร่ระบาดมีผู้โดยสารทุกสนามบินรวมกันสูงถึง 165 ล้านคน คณบดีวิทยาลัย CADT จึงอยากให้ทุกคนเตรียมตัวไว้ก่อนเลย

“องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดการณ์ไว้ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเป็นปกติในปี 2567 อันนี้คนการบินก็อาจจะขาดแคลน ดังนั้นหากเรารู้และเตรียมรับมือไว้ก่อนแล้ว จะช่วยแก้ปัญหาได้  จึงเห็นข่าวการบินไทยรับสมัครพนักงานภาคพื้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมากว่า 1 พันตำแหน่ง หรือล่าสุดท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดรับสมัครสอบเป็นพนักงาน 829 อัตรา ก็เป็นที่ยืนยันได้ว่าเรารู้และเตรียมรับมือในเรื่องบุคลากรดังกล่าว อย่างตอนนี้  ณ วันนี้ จำนวนผู้โดยสารทั้งหมดทุกสนามบินมีประมาณ 300,000 คนในหนึ่งวัน ไฟลต์บินวันเดียว 2,000 กว่าเที่ยวบิน ก็สามารถทำออกมาได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นในเรื่องของเจ้าหน้าที่ภาคพื้นตอนนี้ไม่น่าจะมีปัญหา”

“ที่นี้มองไปยังต่างประเทศ เพราะก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางของนักศึกษาที่จะเข้าทำงาน เพราะวงการการบินทั้งองค์กรไทยหรือต่างประเทศ ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกัน เพราะไทยเป็น HUB ให้บริการทุกสายการบินทั่วโลก  ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาตัวเลขผู้เรียนทางด้านการบินนี้ลดลง อย่างในปี 2563-2564 คนคาดการณ์ไม่ถูกว่าควรเรียนด้านนี้อยู่ไหม ทำให้ยอดผู้เรียนด้านนี้ทุกมหาวิทยาลัยลดลง และ ขาดช่วง ทำให้หลังจากนี้ เราต้องเร่งรับและพัฒนาบุคลากรมาเติมเต็มวงการนี้”

“การผลิตบุคลากรทางการบินระดับความรู้ ปริญญาตรี อย่างถ้าเริ่มเร่งในปีนี้กว่าจะเติมเต็มเข้ามาก็ต้องใช้เวลาพอสมควร  ตอนนี้เสนอให้ใช้การฝึกอบรมคนในวงการเดิม หรือ คนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาเริ่มงานก่อน ส่วนกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีก็ควรเน้นให้เรียนแบบ 2 ภาษาเป็นอย่างน้อยซึ่ง DPU เราเองก็ดำเนินการอยู่ จะทำให้สามารถทำงานในองค์กรต่างชาติได้ ตำแหน่งงานทางองค์กรต่างชาติจะต้องการมาก เงินเดือนก็สูง การพูดได้ 2 หรือ 3 ภาษา ทำให้มีโอกาสที่จะได้ทำงานในสายงานนี้ก็มีเพิ่มมากขึ้น เหมือนนักศึกษาเราที่จบไปปีที่ผ่านมา 100 กว่าคนทำงานในสายงานตรงได้กว่า 40% เพราะเราเปิดแบบครบวงจร เน้นเรื่องภาษา และ สอนงานหลากหลายมิติ  รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่เป็นสมาชิกสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA โดยได้การรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมด้านการบินประจำประเทศไทย รวมถึงยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ TPQI อีกด้วย” น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวย้ำถึงเรื่องการผลิตบุคลากร

“นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ช่างซ่อมบำรุง” เป็นที่ต้องการ

“หากจำข่าวกัปตันไปขายก๋วยเตี๋ยวหรือไปขับไรเดอร์ส่งอาหารได้ หลายคนในวงการ พอหยุดแล้ว ก็หยุดไปเลยไม่ได้กลับมา โดยจำนวนตัวเลขในช่วงที่วิกฤตหนักๆ ปลายปี 2563 ถึงกลางปี 2564  บุคลากรโดยตรงทางด้านนี้มี 3 แสนคน ลดลงเหลือเพียง 8-9 หมื่นคนเท่านั้น   การทำงานเป็นกะเป็นผลัดมันเหนื่อย ช่วงที่หลุดออกจากวงการไป กลับไปเจออาชีพที่ชอบ เจอรายได้ที่พอๆ กัน หรือครอบครัวดูแลเขาได้ เขาก็ไม่กลับมา ตรงนี้ทำให้บุคลากรขาดแคลน แต่ ก็เป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามา   สำหรับบุคลากรที่พักไป หากจะกลับมา ก็ใช่ว่าจะสามารถปฏิบัติงานได้เลยในทันที ณ ตอนนั้น พอประเทศไทยเรากลับมาบินได้อีกครั้ง ก่อนจะกลับเข้ามาทำงานจะต้องมีการฝึกอบรมก่อน เพราะเป็นอาชีพที่ต้องมีไลเซนส์ (license) ต้อง Maintain การฝึกอบรมตามระยะเวลามาตรฐานสากลที่กำหนด”

น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวว่า อาชีพที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในวงการนี้ 3 อันดับ คือ  ‘นักบิน’ เป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ‘พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน  และ ‘ช่างบำรุงอากาศยาน’ เนื่องจากได้เริ่มก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน เพื่อเดินหน้ายกระดับ “สนามบินอู่ตะเภา” สู่มหานครการบินอย่างครบวงจร เชื่อมโยง EEC ภาคตะวันออก ไปแล้วในปี 2565 ทำให้ทั้ง 3 งานอาชีพนี้ที่เป็นที่ต้องการ ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวอย่างเต็มที่แล้วอาชีพอื่นๆ เช่น พนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ และ พนักงานอำนวยการบิน จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“อย่างแรกในส่วนของนักบินที่บอกเด็กการบินจำนวนเรียนลดลง  ทำให้ในอนาคตก็อาจจะเกิดการขาดแคลนนักบินขึ้นได้  ปกติหากเรียนจบจะมีชั่วโมงการบินราวๆ 200 กว่าชั่วโมง ซึ่งในการเป็นนักบินพาณิชย์จะต้องมีความชำนาญในการบินในฐานะนักบินกับเครื่องบินมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 ชั่วโมงบิน ซึ่งยอดนักเรียนทางด้านนี้ก็เพิ่งจะถูกกระตุ้นขึ้นมานิดหนึ่งในปี 2565  ส่วนปี 2566 นี้ก็เพิ่มขึ้นมาอีกนิดเดียว ขณะที่จากการคาดการณ์ทั้งการท่องเที่ยวปี 2566 ทั้งจากข่าวการเปิดประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนบอกอนุมัติกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศหลังวันที่ 6 ก.พ. นี้ ทำให้เกิดเที่ยวบินนับร้อยในเดือนหน้าที่จะบินมาไทย”

“หากอุตสาหกรรมการบินโลกเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะเกิดการขาดแคลนแย่งกันขึ้นได้แต่ไม่ถึงขั้นไม่มีนักบินเลย เราจะรับมือได้ เพราะอย่างทางมหาวิทยาลัยเราเองก็ได้มีคอร์การฝึกด้วย Flight Simulator เพื่อฝึกอบรมให้กับนักบินช่วงโควิด-19ที่ผ่านมาด้วย ในด้านอื่นๆ อาทิ พนักงานควบคุมจราจรทางอากาศ และ พนักงานอำนวยการบิน เป็นสิ่งที่อยากจะนำเสนอหากสนใจเรียนทางด้านการบิน หากสนามบินอู่ตะเภาแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้ใช้บริการ นักศึกษาสาขาวิชาด้านนี้ก็จะเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น”

‘AIR CARGO’ ดาวรุ่งงานการบิน เพราะคนยังติดส่งของ

“ดาวเด่นงานการบินที่น่าจับตามอง ‘AIR CARGO’ อยากให้เด็กรุ่นใหม่สนใจด้านนี้ด้วย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเราก็พลักดันและสอนในเรื่องนี้ เพราะในช่วงโควิดเกิดทุกอย่างชะงักงันไปหมด แต่คนทำงานทางสายงานส่งของนี้กลับงานชุกเลย เพราะการขายของออนไลน์เกิดขึ้นแบบเยอะมาก และต้องการขนส่งทางอากาศ ต้องการความเร่งด่วนเทียบเท่าคนเดินทางไปเอง  ดังนั้นการขนส่งยังต้องดำเนินการต่อและต้องทำตลอดแม้คนเดินทางไม่สะดวก อย่างบริษัทใหญ่ๆ เช่น DHL หรือ FedEx รายได้ดีมาก และหลายๆ สายการบินช่วงนั้นก็ปรับตัวจากขนคนมาเป็นคนสินค้า ซึ่งสินค้าที่รอการส่งมีมากมาย” น.ต.ดร.วัฒนา เผย ช่องทางคนการบินในการเลือกประกอบอาชีพที่จะช่วยสร้างอนาคตและความมั่นคงทางด้านอาชีพเฉพาะ

“การทำงานในส่วนนี้ไม่เพียงจะมีรายได้ดี เงินเดือนมากกว่าสายงานอื่นตั้งแต่เริ่มแรก  ยิ่งพอเติบโตมีตำแหน่งที่สูงขึ้น เป็นผู้จัดการบริษัท เป็นหัวหน้างาน บางคนเงินเดือนสูงสุดได้เป็นแสนบาท หรือจะเป็นตัวแทนรับงานขนส่ง หรือ ขายของเองก็ยังได้  เพราะคนที่เรียนเรื่องนี้ จะมีความรู้ทั้งหมดของการขนส่งทั้งทางบก น้ำ อากาศ ประสานงาน งานศุลกากร จะได้เรียนหมด ใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างมาก ก็เป็นช่องทางอาชีพที่สามารถทำได้หลากหลายและสามารถทำได้ควบคู่ทั้งงานประจำและงานส่วนตัว เหมือนสมัยนี้ที่นิยมทำกัน 2 งาน 3 งาน เป็นงานเสริมเพื่อรองรับความมั่นคง”

“ในเรื่องศักดิ์และศรี วงการการบินเองก็สร้างคุณประโยชน์มากมาย อย่างการขนส่งวัคซีนให้คนในประเทศได้ใช้จนสถานการณ์คลี่คลาย  ทุกแผนกทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายสนับสนุนและปฏิบัติงานก็มีส่วนร่วมเสมือนกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะกัปตัน นักบิน สจ๊วต แอร์โฮสเตส  งานด้านการบิน ไม่มีตำแหน่งใดสูงหรือต่ำ ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งขาดกันไปได้ มันต้องหลอมรวมทำงานด้วยกัน  งานแต่ละด้านขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล คือเราก็พยายามและผลักดันให้มองว่าอุตสาหกรรมทางการบินคือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มีส่วนประกอบมากมาย เป็นแขนเป็นขากันและกัน มันจะเดินไปได้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ ต้องประกอบกัน อย่างนักบินไม่มีช่างซ่อมบำรุงก็ไม่ได้ ไม่มีสายงานบริการก็ไม่ได้  ทุกสาขาอาชีพก็มีความสำคัญของตัวเอง” น.ต.ดร.วัฒนาระบุก่อนจะกล่าวทิ้งท้าย