ปลัด มท. ปลุกเร้าชาวราชสีห์เมืองสองแคว มุ่งมั่น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”

ปลัด มท. ปลุกเร้าชาวราชสีห์เมืองสองแคว มุ่งมั่น “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ย้ำ ต้องวางตัวเเบบรวงข้าวสุกที่โน้มเข้าหาประชาชน

วันนี้ (25 มกราคม 2566) เวลา 14.00 น. ณ ศาลาการเปรียญ วัดจุฬามณี ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการปฏิบัติราชการโครงการ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) โครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน 93 หมู่บ้านของจังหวัดพิษณุโลก และโครงการสำคัญอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยนายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และนายบุญธรรม หอไพบูลย์สกุล รองอธิบดีกรมที่ดิน ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายภูษิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางประจำจังหวัด หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับมอบนโยบายฯ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ การขับเคลื่อนปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกของพี่น้องข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้บริหาร อปท. ตลอดจนอาสาสมัครต่าง ๆ และพี่น้องภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทุกท่านทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงแข็งขันในการขับเคลื่อนงานกันอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานโครงการ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) โครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน 93 หมู่บ้านของจังหวัดพิษณุโลก และโครงการสำคัญอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ตลอดจนการรับฟังเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อทำให้การขับเคลื่อนขยายผลการดำเนินภารกิจของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งเน้นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้เกิดการ Chang for Good สามารถช่วยเสริมสร้างการพัฒนาเมืองพิษณุโลกให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

“จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดที่สำคัญในเเง่ของประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร วัดโพธิญาณ หรือวัดจุฬามณี ที่ล้วนเเต่เป็นโบราณสถานที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของจังหวัดพิษณุโลก มีความเป็นมาที่น่าภาคภูมิใจ และมีคุณค่าแก่การรักษา โดยสิ่งสำคัญ คือ การถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รับรู้และรับทราบ เพื่อเป็นการปลูกความรักและหวงแหนความเป็นชาติ ที่ถูกผนวกเข้ากับศาสนาอย่างลงตัว เป็นแหล่งอารยธรรมและประวัติศาสตร์ที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณและวิถีชีวิตที่งดงามของประชาชนชาวพิษณุโลก เเละคนไทยทุกหมู่เหล่านับแต่ในอดีตจวบจนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงควรค่าอย่างยิ่งแก่การบูรณะ การบำรุงดูแลรักษา การฟื้นฟู และการต่อยอดขยายผล ให้อยู่คู่คนไทยสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การมอบนโยบายการปฏิบัติราชการในวันนี้มีเรื่องที่สำคัญที่ต้องเน้นย้ำพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน คือ พวกเราที่เป็นชาวราชสีห์ผู้เป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นคนมหาดไทย ที่มีภาระรับผิดชอบสำคัญในการมุ่ง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า และสร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม ให้ประชาชน ทำให้เขามีความทุกข์น้อยลงจนหมดไป มีแต่ความสุข ซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อันมีปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ รู้จักพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐานความรู้คู่คุณธรรม ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีเหตุมีผล นอกจากนี้ ต้องน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาขยายผลในพื้นที่เพื่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้คนในชุมชน โดยสิ่งเหล่านี้ทำคนเดียวอาจสำเร็จแต่ไม่ยั่งยืน จึงต้องอาศัย “การสร้างทีม” เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองของเราได้อย่างเข้าใจ เข้าถึงตามบริบทภูมิสังคม จึงจะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง 17 ประการ ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้คำมั่น “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทยกว่า 66 ล้านคน ร่วมกับสหประชาชาติ “โลกนี้เพื่อเรา”

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ เพื่อพี่น้องประชาชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาวะ “ผู้นำ” ที่มีลักษณะคล้าย ๆ รวงข้าวสุกที่โน้มลงสู่แผ่นดิน เป็นผู้นำที่มีจิตใจเมตตา คำว่า “มหทย” แปลว่า เมตตายิ่ง กรุณายิ่ง คนมหาดไทยจะต้องมีใจ มี Passion และเข้าอกเข้าใจบริบทความต้องการของพี่น้องประชาชน ดังนั้น ท่านผู้ว่าฯ ท่านนายอำเภอต้องไปสร้างทีม แล้วนำกลไกการทำงาน 3 5 7 ตามศาสตร์พระราชา มาขยายผลให้ได้ และในฐานะผู้นำตามกฎหมาย ต้องเร่งบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เน้นการสร้างสรรค์ร่วมงานกันแบบ “แขนงไม้ไผ่” ที่เมื่อมัดรวมเข้าด้วยกันจะมีความเเข็งเเรง รวมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมแก้ไขปัญหา วางแผน พัฒนาต่อยอด และร่วมรับผิดชอบ โดยยึดเป้าหมายพี่น้องประชาชนเป็นศูนย์กลาง

“นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รวมถึงโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวาระทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 นี้ ซึ่งถือเป็นการน้อมนำเอาแนวพระดำริ เรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ของพระองค์มาดำเนินการขับเคลื่อน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)/คณะกรรมการกลางของหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)/คณะกรรมการชุมชน ขับเคลื่อนร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เกิดผลเป็นรูปธรรม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

.

ด้าน นายภูษิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวรายงานโดยสรุปว่า จังหวัดพิษณุโลก ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับพื้นที่ พร้อมทั้งคณะทำงานติดตามประเมินโครงการฯ แล้ว และคณะทำงานติดตามประเมินโครงการฯ ได้มีการจัดประชุมคณะทำงานฯ เพื่อวางแผนการดำเนินงานและแนวทางในการติดตามการขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับอำเภอเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดกรอบระยะเวลา แผนปฏิบัติการ กำหนดรูปแบบ และแนวทางในการติดตามการขับเคลื่อนโครงการฯ ในระดับอำเภอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาหมู่บ้าน ที่ได้มีการคัดเลือก พบว่าปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาหมู่บ้านมีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำ โดยมีแนวทางแก้ไขที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน ในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเป็นสำคัญ นอกจากนี้ จังหวัดพิษณุโลก จะเร่งรัดดำเนินโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนและเป็นโครงการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและกรมในสังกัดต่าง ๆ อาทิ ศูนย์บำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้แก่ผู้ป่วยยาเสพติด โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน โครงการผังน้ำชุมชน โครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง อย่างเร่งด่วนต่อไป พร้อมทั้งขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ตาม MOU 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เป็นเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการที่ทำงานภายใต้กลไกการบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่ายอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง โดยเน้นการสร้างทีมเพื่อพัฒนาคน ให้คนไปพัฒนาจังหวัดอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป