ปลัด มท.พบปะผู้เข้ารับการอบรม “นายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข”เน้นย้ำ “สร้างทีมที่เข้มแข็ง ด้วยใจและอุดมการณ์

ปลัดมหาดไทยพบปะผู้เข้ารับการอบรม “นายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เน้นย้ำ “สร้างทีมที่เข้มแข็ง ด้วยใจและอุดมการณ์ที่อยากเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน”

วันนี้ (20 ม.ค. 66) เวลา 14:00 น. ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมผู้เข้ารับการอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ อย่างยั่งยืน โดยได้รับเมตตาจาก พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมตรวจเยี่ยม โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหารกรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ อย่างยั่งยืน จำนวน 300 คน และผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ ร่วมรับฟังผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล

ทั้งนี้ ก่อนการพบปะผู้เข้ารับการฝึกอบรม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมปลูกต้นขนุนแดงสุริยา บริเวณแปลงโคก หนอง นา ตากะยาย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี โดยมี พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหาร ร่วมในกิจกรรมด้วย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหารหลักสูตรนายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ อย่างยั่งยืน ที่ได้ทำให้ท่านนายอำเภอและทีมอำเภอได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนงาน ทำให้เกิดการเสริมสร้างสิ่งที่ดี Change for Good ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งผมได้เอาใจใส่ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร เพราะผมฝากความหวังไว้กับท่านนายอำเภอและทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนที่เป็นจิตอาสารวมทั้ง 10 คน จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้เกิดสิ่งที่ดีเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อประเทศชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นหลักชัยของบ้านเมือง โดยมีข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจับมือร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนภารกิจที่มีเป้าหมายเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน เฉกเช่นผลสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการนายอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ท่านวุฒิสมาชิกได้ไปจัดโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนโดยได้ตรวจเยี่ยมอำเภอแม่ใจ จ.พะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งท่านวุฒิสมาชิกต่างยกย่องชื่นชมท่านนายอำเภอแม่ใจ และทีมอำเภอแม่ใจ พร้อมทั้งให้กำลังพวกเราชาวมหาดไทยว่า ควรส่งเสริมงบประมาณโครงการนี้เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เกิดการขยายผลอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า การจัดฝึกอบรมโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ อย่างยั่งยืน ได้คัดเลือกใช้พื้นที่ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมของทางราชการด้วยเหตุผลความจำเป็นหลายประการ ได้แก่ 1) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนมีพื้นที่ต้นแบบความยั่งยืน คือ มีการบริหารพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา 2) สามารถบริหารจัดการงบประมาณการฝึกอบรมได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพ 3) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ถูกออกแบบให้มีการจัดฝึกอบรมที่ทำให้เกิดการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมที่เสริมสร้างความรัก ความผูกพันของทีมที่เหนียวแน่น ด้วยการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน มีความสุขร่วมกัน ทุกข์ร่วมกัน เคี่ยวกรำลำบากร่วมกัน ดังทฤษฎีเตาหลอมเหล็ก ที่จะทำให้เกิดความเป็นทีมที่มีความรัก ความสามัคคี อันจะทำให้เกิดการหล่อหลอมและถ่ายทอดพลังแห่งความเป็น “ราชสีห์ผู้มีความจงรักภักดี” ที่เกิดจากหัวใจที่อยากเป็น “คนมหาดไทย” ผู้มี Passion มีความปรารถนาที่จะทำงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่อยากเห็นพสกนิกรของพระองค์ท่านมีความสุขให้สำเร็จลุล่วง ด้วยการทำงานเป็นทีม ซึ่งชาวราชสีห์ ชาวมหาดไทยจะต้องทำงานเป็นทีม “เมื่อใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ก็จะลงมือทำเต็มที่ แสดงออกด้วยความจริงใจ” เป็นผู้นำทีมที่เข้าไปนั่งในหัวใจของพี่น้องทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนทีมไปด้วยกัน

“ท่านนายอำเภอและทีมอำเภอทุกท่าน “ทุกคนคือความหวัง” สังคมต้องมีผู้นำ เพราะที่อำเภอนอกจากมีนายอำเภอแล้ว “ทีมอำเภอ” ก็เป็นผู้นำเคียงข้างท่านนายอำเภอ ทุกคนต้องจับมือกันเหมือนแขนงไม้ไผ่ที่ถูกมัดรวมกันให้แน่น แล้วดึงพลังความตั้งใจออกมาใช้ให้เต็มที่ ทำในสิ่งที่พี่น้องประชาชนอยากให้เกิดขึ้น ด้วยการบูรณาการทั้งบูรณาการคนและบูรณาการงาน โดยน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง และร่วมกันพัฒนา” ด้วยการ “ครองตน” โดยยึดมั่นในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นคนมีคุณธรรม ซื่อตรง และรับผิดชอบในการทำหน้าที่ “ครองคน” ด้วยการใช้ความใกล้ชิด การมีน้ำใสใจจริง หมั่นลงพื้นที่ไปพบปะไปพูดคุย ไปประชุม ลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด และ “ครองงาน” โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปลงนามกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย มีเป้าหมายว่า “หนึ่งจังหวัด หนึ่งคำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีความมุ่งมั่นดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป” รวมทั้งพระบรมราชโองการองค์ถัดมา คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อนำพาพี่น้องประชาชนให้ไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เราต้องช่วยสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเข้าใจ ความเห็นดีเห็นงาม และความเชื่อมั่น ว่าสิ่งที่ทำมันดี” ด้วยการรณรงค์ชักชวนกันให้ “ทำทันที” และกระตุ้นปลุกเร้าให้ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันหยุด เช่น การบริหารจัดการขยะ เป็นมนุษย์ 3ช ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ ขยะแห้งนำมา reuse นำมาเป็นขยะ recycle ขยะเปียกก็รณรงค์จัดทำและใช้ “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดปุ๋ยหมักเป็นสารบำรุงดินแล้ว ยังช่วยทำให้เกิดการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อทำให้ลูกหลานได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี อยู่ในอากาศที่ดี รวมทั้งน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อลดรายจ่าย และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน เพราะเขาจะมีผักไว้บริโภคในครัวเรือน ซึ่งเป็นผักปลอดสารพิษ มีกิน มีใช้ มีแบ่งปัน เมื่อมีจำนวนมากก็แบ่งปันเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ พวกเราทุกคนโชคดีที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อันทำให้เกิดการกระตุ้นเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการช่างทอผ้า ให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการถักทอผ้า ออกแบบ ตัดเย็บ ให้มีความหลากหลายรูปแบบ หลายหลายลวดลาย ที่ตรงใจกับผู้บริโภค รวมทั้งทรงส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้วยการให้พี่น้องผู้ประกอบการได้ใช้สีธรรมชาติ ปลูกพันธุ์ไม้ให้สี ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้าย โดยพวกเราทุกคนต้องช่วยกันรณรงค์สวมใส่เสื้อผ้าไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมหัตถศิลป์หัตถกรรมแล้ว ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม และยังทำให้ลูกหลานของพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ได้เห็นตัวอย่างและอยากทำต่อ เพราะเห็นพ่อแม่ทำแล้วมีรายได้ และประการสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เงินทองที่เราจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อหาผ้าไทยก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ ไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ อันจะทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และท้ายที่สุดขอให้พวกเราทุกคนได้เห็นความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ชีวิตทุกนาทีให้มีคุณค่าต่อสิ่งแวดล้อม ต่อโลกใบนี้ เพราะเราไม่มีแผน 2 สำหรับโลกใบนี้ เพราะเรามีโลกใบนี้เพียงใบเดียว No Plan B Because We have only One planet