ปลัด มท.ร่วมกับนายกแม่บ้านมหาดไทย มอบแนวทางขับเคลื่อนงาน “แม่บ้านมหาดไทย” เน้นย้ำ“บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน”

ปลัดมหาดไทยร่วมกับนายกแม่บ้านมหาดไทยมอบแนวทางขับเคลื่อนงาน “แม่บ้านมหาดไทย” ในการประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจรภาคใต้ เน้นย้ำ แม่บ้านมหาดไทยเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนงานชาวมหาดไทยเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน” ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันนี้ (19 ม.ค. 66) เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประจำปี 2566 ในการประชุมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคใต้ ประจำปี 2566 โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางพิชานันท์ เผือกผ่อง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางปวีณ์ริศา เกิดสม นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางนฤมล ล้อมทอง นางสุจิตรา ศรีนาม นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ เธียเตอร์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด คณะกรรมการชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ รวม 250 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ภายใต้การนำของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ได้จัดกิจกรรมแม่บ้านมหาดไทยสัญจรขึ้น ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นภาคสุดท้ายของการจัดกิจกรรมฯ ซึ่งกิจกรรมแม่บ้านมหาดไทยสัญจรเป็นการเสริมสร้างพลังความรัก ความสามัคคี ของหมู่คณะชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และพี่น้องชาวกระทรวงมหาดไทยที่ปฏิบัติงานเพื่อพี่น้องประชาชนอยู่ในพื้นที่จังหวัด/อำเภอ โดยมี “แม่บ้านมหาดไทย” เป็นผู้สนับสนุนและอยู่เคียงข้างขับเคลื่อนงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชนไปด้วยกัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญในการเสริมสร้างพลังการขับเคลื่อนงานของพวกเราทุกคน นั่นคือ “เราต้องเป็นราชสีห์ผู้องอาจที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และเป็นผู้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน” เพราะพระองค์ท่านทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป ซึ่งพวกเราในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะชาวมหาดไทยผู้เป็นราชสีห์ผู้จงรักภักดีต้องแสดงออกด้วยการปฏิบัติบูชาผ่านการขับเคลื่อนงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อประเทศชาติ อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน และที่สำคัญที่สุด นอกจากจะทำหน้าที่เพื่อให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุขแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างและสืบสานความเป็น “สถาบันนักปกครอง” ที่สืบสานจิตวิญญาณของชาวมหาดไทยในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อประชาชนเป็นอย่างดี ตั้งแต่คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัคร อส. อปพร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนากร พัฒนาการ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ฯลฯ ให้อยู่คู่กับสังคมไทย เพื่อทำให้ประชาชนซึ่งเป็นพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีความสุขอย่างยั่งยืนยาวนาน

“ราชสีห์ผู้องอาจ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือเพศใด นับถือศาสนาอะไร ไม่ใช่ข้อจำกัดที่จะทำให้สมรรถนะหรือขีดความสามารถของพวกเราทุกคนลดลง แต่เรื่องใหญ่อยู่ที่ “ใจ” อยู่ที่ “Passion” อยู่ที่ “อุดมการณ์” ที่ทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ซึ่ง “ใจ” เป็นใหญ่ทางด้านการบริหาร ถ้าใจไม่รุกรบ ไม่คิดทำสิ่งที่ดีตอบแทนบุญคุณบ้านเกิดเมืองนอน พฤติกรรมก็จะเป็นไปตามใจ แต่ทั้งนี้
สมาคมแม่บ้านมหาดไทยและชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดและเหล่ากาชาดจังหวัดซึ่งเป็นคู่สมรสของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ทุกคนล้วนมีความสำคัญในการขับเคลื่อน งานไปเคียงข้างกับจังหวัด เพราะชมรมแม่บ้านมหาดไทยของทุกจังหวัด วางเป้าหมายในการทำงานไว้อย่างชัดเจนว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อประชาชน” อันสอดรับสอดคล้องกับภารกิจในการที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนของกระทรวงมหาดไทย เช่น การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” “ทหารพันธุ์ดี” หรือโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารห่างไกล ซึ่งล้วนแล้วแต่ทรงส่งเสริมการปลูกพืชผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร การรู้จักเลี้ยงสัตว์ที่จะเป็นแหล่งอาหาร โดยวันนี้เราได้เห็นตัวอย่างแล้วที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช “นางจรรยา กิมิฬาร์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลนาทราย” สามารถนำอาสาสมัครพลังของสตรีในพื้นที่ ด้วยหัวใจของการเป็น “ผู้นำ” ที่กล้าแกร่ง มีความปรารถนาที่จะให้ผู้คนมีความสุขมีความมั่นคงในคุณภาพชีวิต พัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น ถังขยะเปียกลดโลกร้อน 100% บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเองก็ 100% ทำให้ครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น ซึ่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจรรยา ได้สะท้อนว่า การปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานในบ้านนอกจากจะลดรายจ่ายอย่างน้อยวันละ 50 บาทแล้ว ยังทำให้มีผักปลอดภัยที่ไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีสารเคมีตกค้างบริโภค อันเป็นประโยชน์กับสุขภาพ และไม่เพียงลดรายจ่ายค่าพืชผักสวนครัว ยังเป็นการลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพราะได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ถูกสุขอนามัย ซึ่งหากเราคิดทั้งปี 50 บาท x 30 วัน เท่ากับ 1,500 บาท x 12 เดือน สามารถประหยัดได้ครัวเรือนละ 18,000 บาท ถ้านับเป็น 10 ปี สามารถประหยัดเงินได้ถึงครัวเรือนละ 180,000 บาท อันจะทำให้ได้มีเงินทุนสำหรับไปประกอบสัมมาชีพ ไปส่งลูกเรียนหนังสือ ไปอดออมไว้เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วยในอนาคต” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ก็ได้มีความตั้งใจในการน้อมนำแนวพระราชดำริในการดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ด้วยการดูแลพัฒนาเด็กเล็ก ที่เป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงมหาดไทยที่มีเป้าหมายปลายทางในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพราะเมื่อเด็กคลอดมามีน้ำหนักตามเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ ได้รับนมแม่และสารอาหาร ได้รับวัคซีนที่ครบถ้วน ได้รับการดูแลสุขภาพอนามัย เมื่อเติบโตขึ้นมาก็จะกลายเป็นเด็กที่มีศักยภาพในการดูแลช่วยเหลือตนเอง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในการเรียนหนังสือ เป็นวัยทำงานที่มีคุณภาพ และดูแลพัฒนาครอบครัวต่อไปในอนาคต ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่พวกเราทุกคนตั้งใจจะบังเกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพได้นั้น “ต้องสร้างทีม” ขึ้นมา เพื่อให้เกิดพลังความร่วมมือ โดยมีทุกท่านเป็น “ผู้นำทีม” ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ปลุกเร้า ปลุกพลังทีม ช่วยกันทำอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับการน้อมนำพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไทย ที่พวกเราทุกคนต้องภาคภูมิใจว่า ทุกคนคือผู้มีส่วนสำคัญในการต่อการสร้างปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านในชนบทลุกขึ้นมาทอผ้า มาทำผ้าบาติกกันอย่างคึกคักมากกว่าเก่า เพราะพวกเราทุกคนรู้ดีว่ากลไกที่สำคัญที่จะทำให้การส่งเสริมผ้าไทยเกิดขึ้นได้ คือ “เราต้องสวมใส่ผ้าไทย” ทั้งผ้าบาติก ผ้ายกดอก ผ้ายก ผ้ามัดหมี่ ผ้าขิด ผ้าแพรวา ผ้าปัก และผ้าอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทยที่กระจายในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อันเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงลงเล็งเห็นมาเมื่อ 60 ปีที่แล้วในการโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2513 เกิดเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกที่บ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม โดยทรงเพียรพยายามทำให้อาชีพทอผ้าเป็นอาชีพเสริมให้ประชาชนได้มีรายได้ เกิดเป็นแนวคิด “ขาดทุนคือกำไร” และทรงเป็นต้นแบบในการนำผ้าไทยมาเป็นชุดฉลองพระองค์ เดินทางไปต่างประเทศ รับแขกบ้านแขกเมือง และเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณีกิจต่าง ๆ

“การที่พวกเราทุกคนลุกขึ้นมาสวมใส่ผ้าไทยและเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ ญาติ มิตร มาสวมใส่ผ้าไทย จนเกิดเป็นกระแสสังคม จะกลายเป็นความต้องการของผู้บริโภค (Demand Side) ช่วยผลักดันส่วนที่เป็นภาคการผลิต (Supply Side) ให้เติบโตขึ้นได้ และเกิดเป็นความยั่งยืน เพราะคนรุ่นต่อไปได้เห็นว่าคุณตา คุณยาย ทำแล้วขายได้ มีรายได้ ภาคภูมิใจที่เห็นท่านผู้ว่าฯ เห็นข้าราชการสวมใส่ผ้าที่ตนเองทำ ตนเองทอ ตนเองเขียน ตนเองวาดลาย ตนเองตัด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราไปรับราชการที่จังหวัดไหน ขอให้สวมใส่ผ้าไทยของจังหวัดนั้น เพราะนอกจากจะทำให้คนในจังหวัดท่านได้มีเศรษฐกิจที่ดี มีความภาคภูมิใจแล้ว ยังช่วยทำให้มีการเผยแพร่อัตลักษณ์ประจำจังหวัด ให้ได้รับการเพิ่มคุณค่า และประการสำคัญที่สุด เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม เพราะผ้าไทยเกิดขึ้นโดยน้ำมือของชาวบ้าน เงินก็หมุนเวียนในประเทศ ในชุมชน ไม่ว่าสังคมโลกจะพลวัตเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร “หลักการพึ่งพาตนเอง” ด้วยการมีผ้าไทยเป็นของเราเอง ก็ทำให้พวกเราทุกคนมีความมั่นคงด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของพวกเราเอง โดยชาวมหาดไทยและแม่บ้านมหาดไทยทุกคนต้องเป็นผู้นำของ 7 ภาคีเครือข่าย ในการที่จะไป Change for Good ให้เกิดขึ้น บนข้อจำกัดของชีวิตนี้ที่เรามีเวลาจำกัด ตราบใดที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ขอให้พวกเราทุกคนเอาสิ่งที่อยู่ในใจที่อยากจะทำ มาเป็นพลังในการสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง คือ ทีมงานที่มีหัวใจเป็นผู้ที่ต้องการ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ช่วยกันทำให้เต็มกำลังก่อนที่พวกเราจะไม่มีโอกาสได้ทำให้กับแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเราให้เกิดความยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานเคียงข้างชาวกระทรวงมหาดไทยทุกท่าน เดินไปด้วยกันเพื่อ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนทุกคน ซึ่งด้วยพลังของแม่บ้านมหาดไทยและท่านผู้นำของชาวมหาดไทย คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ท่านนายอำเภอทุกอำเภอ จะทำให้สิ่งที่พวกเราทุกคนตั้งใจบรรลุผลสำเร็จได้ โดยในปีนี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทยมีแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมการน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ถ้าทุกครัวเรือนปลูกผักไว้บริโภคเอง ดังที่ท่านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจรรยาฯ ได้คิดว่าประหยัดวันละ 50 บาท 10,000,000 ครัวเรือน ใน 1 ปี มี 365 วัน ก็จะประหยัดถึงปีละ 182,500 ล้านบาท 2) การส่งเสริมสุขอนามัยแม่และเด็ก ให้เด็กเล็กได้รับสารอาหารและดูแลสุขภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 3) การส่งเสริมการใช้ผ้าไทยโดยน้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ขยายผลอย่างต่อเนื่อง และ 4) การส่งเสริมการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตามโครงการครอบครัวมหาดไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการประเมินผลการทำงานของแม่บ้านมหาดไทยเพื่อรับรางวัลเพชรดอกแก้ว ประจำปี 2566 ต่อไป ดังนั้น ขอให้พวกเราผู้เป็น “แม่บ้านมหาดไทย” ได้ร่วมกันสนับสนุนบทบาทของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และชาวมหาดไทย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติให้กับพี่น้องประชาชน อันจะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีความสุขที่แท้จริงส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างยั่งยืน