แม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดปักษ์ใต้ สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” จัดแสดงแบบผ้าไทย ถ่ายทอดอัตลักษณ์

แม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดปักษ์ใต้ สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” จัดแสดงแบบผ้าไทย ถ่ายทอดอัตลักษณ์ความหลากหลายผ้าพื้นถิ่น เมืองใต้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

วันนี้ (19 ม.ค. 66) เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรม “การแสดงแบบผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในการประชุมสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจร ครั้งที่ 4 พื้นที่ภาคใต้ ประจำปี 2566 โดยมี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด และภาคีเครือข่ายสมาคมแม่บ้านมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมแสดงแบบผ้าไทย โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมตัดสินการแสดงแบบ ได้แก่ นายศิริชัย ทหรานนท์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นางนฤมล ล้อมทอง นางสุจิตรา ศรีนาม นางประเสริฐสุข เพฑูรย์สิทธิชัย ที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางกุลทรัพย์ ชื่นโกสุม นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นางวรสุดา รัตนสุคนธ์ อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และกระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงเป็นหลักชัยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทย ได้รับการพัฒนาทักษะและฝีไม้ลายมือในการออกแบบและตัดเย็บผ้าไทยให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนผู้บริโภค สามารถสวมใส่ได้ทุกโอกาส ดังพระปณิธานที่มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อต่อลมหายใจให้ผืนผ้าไทย ทำให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้า ได้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่สืบสานถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ผสมผสานต่อยอดด้วยหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของประชาชน เป็นผลงานที่ร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้กับครอบครัว ชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านการออกแบบลวดลายผ้าไทย และทรงมีน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ พระองค์ได้พระราชทานผ้าบาติกลายพระราชทาน จำนวน 3 ลาย ได้แก่ “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” สื่อถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม “ท้องทะเลไทย” ด้วยแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย และ “ป่าแดนใต้” สื่อถึงวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อพี่น้องผู้ประกอบการผ้าบาติก ซึ่งนอกจากเป็นลวดลายที่งดงาม สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพที่เป็นเลิศแล้ว ประการที่สำคัญที่สุด ทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้ประกอบการผ้าบาติก และผ้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นของจังหวัดภาคใต้ เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้บริโภค สร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนและครอบครัว” ดร.วันดี กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กิจกรรมแสดงแบบ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สมาคมแม่บ้านมหาดไทยร่วมกับชมรมแม่บ้านมหาดไทย 14 จังหวัดภาคใต้ สนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และทุกจังหวัด ขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน และเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไทยในทุกโอกาส

“การแสดงแบบผ้าไทยในวันนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันคัดเลือกการนำเสนอผลงานผ้าไทย “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของคณะกรรมการแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด โดยมีทีมจังหวัดที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลผู้แสดงแบบชุดผ้าไทยใส่ให้สนุกยอดเยี่ยม 3 รางวัล ได้แก่ ชนะเลิศ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช รองชนะเลิศ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี และรองชนะเลิศ ลำดับ 2 ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนราธิวาส และรางวัลพิเศษ 2 รางวัล คือ 1) รางวัลขวัญใจนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้แก่ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสงขลาและจังหวัดตรัง และ 2) รางวัลขวัญใจปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ ทีมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดปัตตานี” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอขอบคุณชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายทุกท่านที่ได้ช่วยกันมีส่วนร่วมในการสร้างความตื่นตาตื่นใจในการแสดงแบบผ้าไทยที่มีความหลากหลายลวดลาย หลากหลายรูปแบบ หลากหลายเทคนิคตัดเย็บ ซึ่งทุกท่านจะเห็นได้ว่าผ้าไทยพับเดียวกันสามารถออกแบบตัดชุดหลากหลายลักษณะ ซึ่งบรรยากาศในวันนี้เป็นบรรยากาศการเกิดกระแสแห่งความคึกคักของ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมีจุดมุ่งหมายในการที่จะทำให้คนทุกเพศ ทุกวัย ได้คิดคำนึงถึงการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่อยู่ในชนบทผู้สืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่คู่กับแผ่นดิน ด้วยการนำผ้าไทยมาตัดเย็บสวมใส่ให้สนุก สวยงาม ถูกใจผู้บริโภค ในทุกโอกาส ทุกงาน ทุกฤดูกาล ทั้งชุดพิธีการ ชุดไปเที่ยวทะเล ชุดกีฬา ชุดลำลอง เป็นต้น

“ขอให้ภาคภูมิใจว่าทุกครั้งที่หยิบผ้าไทยมาสวมใส่ ทุกครั้งที่ได้อุดหนุนผ้าไทย นั่นหมายความว่า ท่านได้เป็นคนดีที่หนึ่งของชาติ ของประเทศไทย เพราะท่านทำให้เงินทองไม่สูญหายออกไปจากประเทศ และท่านเป็นผู้ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนช่วยเหลือเจือจุนครอบครัวอีกเป็นล้าน ๆ ครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และขอให้พวกเราช่วยกันอุ้มชูผ้าไทยให้ไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการไปยุยงพี่น้องที่ประกอบกิจการผ้าไทย ผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในจังหวัด ให้สามารถพึ่งพาตนเอง ทั้งเรื่องวัตถุดิบ ทั้งการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การปลูกพืชให้สีธรรมชาติ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำผ้าได้ด้วยตนเอง เช่น ผ้าใยสับปะรด ผ้าต้นตาล หรือหากในพื้นที่ไม่สามารถทำได้ ก็ขอให้ได้ไปอุดหนุนพี่น้องผู้ประกอบการในประเทศ เช่นในจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ในขณะนี้มีการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกพันธุ์พืชให้สีธรรมชาติ ส่งให้กับผู้ประกอบการช่างทอผ้ากลุ่มต่าง ๆ อันจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเงินทองก็หมุนเวียนในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย