เปิดใจ ปลัด มท.หมู่บ้านยั่งยืนจะช่วยแก้ปัญหาทุกมิติ! พร้อมรวมใจคนไทยสวมใส่ผ้าไทย เฉลิมพระเกียรติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึง รายละเอียดเพิ่มเติม  โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน Sustainable Village ที่ทางกระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา วันที่ 8 มกราคม 2566 ดังที่ได้กล่าวถึงที่มาในตอนที่แล้ว ว่า จากการที่ผม และทางนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ  ได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่าน พร้อมน้อมนําแนวพระดําริเรื่อง “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) ของพระองค์ท่านมาดําเนินการขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมขับเคลื่อน สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ด้วยการน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ภายใต้เป้าหมายการสร้างความยั่งยืนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง โดยคัดเลือกหมู่บ้านที่ต้องการการดูแลพัฒนามากที่สุดก่อน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ท่านนายอำเภอไปดำเนินการคัดเลือกหมู่บ้านที่แย่ที่สุดของทุกตำบล มาตำบลละ 1 หมู่บ้าน เพื่อเอามาเป็นพื้นที่เป้าหมายทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความเข้มแข็ง

เดิมทีเรามีข้อมูลจากระบบ บริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผลการสํารวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากระบบ ThaiQM ที่พัฒนาโดยกรมการปกครอง รวมถึงข้อมูลจากภาคประชาสังคม ภาคประชาชน องค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นฐานข้อมูลในการคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนที่จะดําเนินการขับเคลื่อนหมู่บ้านเร่งรัดพัฒนาอันดับ 1 หรือเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนมีปัญหาความเดือดร้อนมาก หรือเป็นหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติเร่งด่วน ให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” (Sustainable Village) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีรายได้มีอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว สร้างความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พร้อมทั้งร่วมแรงร่วมใจดูแล ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้อุดมสมบูรณ์ ในการนี้ กรมการปกครอง โดยสํานักบริหารการปกครองท้องที่จึงได้เสนอ “โครงการหนึ่งตําบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ขึ้น

ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามแต่งตั้ง คณะทํางานหลายชุด ระดมสรรพกำลังทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่าย รวมถึงส่วนราชการในสังกัดกระทรวง กรม อื่น ๆ ทั้งราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค เพื่อบูรณาการ สนับสนุนความร่วมมือในระดับพื้นที่ให้มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องในทุกระดับ มาบูรณาการแผนงาน ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ และประสานงานในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานนี้ พร้อมผู้นํานักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นําการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประชาชนได้น้อมนําแนวพระดําริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านอย่างยั่งยืน

สำหรับผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ภายในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว จะทำให้ประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนมีความสมัครสมาน สามัคคี ร่วมมือร่วมใจ ประกอบกิจกรรม สาธารณะ สร้างค่านิยมความเสียสละ จิตอาสา เพื่อให้เกิดความรัก ความผูกพันใน 4 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน รวมทั้งเกิดการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค ส่งผลให้เกิด การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก และแก้ไขปัญหาความยากจน ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย

ปลัด มท. ระบุว่า การที่เรากำหนดให้เลือกหมู่บ้านที่แย่ที่สุดขึ้นมาพัฒนาก่อน เพราะปกติหน่วยงานต่างๆ อาจจะคัดเลือกหมู่บ้านที่พร้อมที่มีศักยภาพในการทำการพัฒนามาทำ แต่ผมมองว่าไม่ท้าทายและทำให้เราเสียโอกาสในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง การหมู่ที่บ้านที่เขามีพร้อมอยู่แล้ว เราจะทำได้แค่หน้าที่ “บำรุงสุข” แต่หัวใจสำคัญของปณิธานพวกเรา ต้อง “บำบัดทุกข์” ด้วย ดังนั้นเราต้องเริ่มจากหมู่บ้านที่แย่ๆ และทำให้มีการบำรุงสุขควบคู่กันไป ส่วนหมู่บ้านอื่นๆท่านนายอำเภอมีหน้าที่ทำให้คณะกรรมการหมู่บ้านของทุกหมู่บ้านลุกขึ้นมาแข่งขันกับหมู่บ้านที่แย่ที่สุดในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ในวาระพิเศษครั้งนี้ ทำเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน

ที่สำคัญถือว่าพวกเราทุกคนได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านในการให้เรายึดเป้าหมายที่สำคัญของการทำงานว่าต้องทำให้เกิดหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งพระองค์ท่านใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Sustainable Village  เราก็หวังว่าความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ที่จะช่วย Change for Good ทำสิ่งดีๆ นี้ให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศไทย อย่างเป็นรูปธรรมและการพัฒนานี้ยั่งยืน เติบโตอย่างก้าวกระโดด พระองค์ท่านได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้ ว่าให้พวกเราไปทำให้ได้ เพราะฉะนั้นเรามีจุดมุ่งหมายสำคัญ ที่จะทำเพื่อถวายพระพรพระองค์ เพราะคนมหาดไทยในฐานะที่เราถือว่าเราคือคนของพระราชา เราคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะยิ่งมีความมุมานะมีความเพียรพยายามที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้  จากคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้จะมีการติดตามประเมินผลและ ปลุกเร้าให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอมีการทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เป็นไฟไหม้ฟาง เป็นเหมือนผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้เราชาวมหาดไทยร่วมกันงานหนึ่งในปี 2566 ที่เราสามารถลงมือทำของเราได้เลย ภายใต้แรงบันดาลใจที่เราได้รับแนวพระดำริจากจากพระองค์ท่าน

อีกเรื่องหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย ได้ขอพระราชทานพระราชอนุญาตจากพระองค์ท่าน ก็คือในทุกวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันเกิดของพระองค์ท่าน อยากให้เป็นจุดที่ทำให้เราได้เชิญชวนให้ประชาชนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในวันพฤหัสบดี โดยขอให้สวมใส่ผ้าไทย ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนก็จะมีกันอยู่แล้ว ส่วนใครที่ยังไม่มียังสามารถหาซื้อได้ อยากให้สวมใส่ทุกวันพฤหัสบดี เท่ากับว่าจากเดิม มติ ครม. จากที่ให้สวมใส่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน ก็จะกลายเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ คือ ตามมติ ครม. 2 วัน และช่วยกันสวมใส่เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านอีก 1 วัน อาจจะเป็นทุกวันอังคารที่ทุกจังหวัดใส่อยู่แล้ว เพราะ ครม. สวมใส่ตลอด บางจังหวัด อาจจะมีการเลือกใส่ในวันศุกร์ ก็อยากให้เพิ่มวันพฤหัสบดีอีกหนึ่งวัน ที่จะชวนกันสวมใส่ผ้าไทย ซึ่งผมได้ทูลขอพระองค์ท่านไปเมื่อ 17 ธันวาคม 2565 ท่านก็มีพระราชอนุญาตให้ทั้ง 2 เรื่องคือเรื่องหมู่บ้านยั่งยืน และเรื่องสวมใส่ผ้าไทยนี้ด้วย