รมว.เฮ้ง ห่วงลูกจ้างเหตุปั้นจั่นล้มทำบาดเจ็บสาหัส ย่านธัญบุรี สั่งหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบและช่วยเหลือทันที

รมว.แรงงาน ห่วงลูกจ้างเหตุเครนล้มทับคนงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารโรคผิวหนังรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ทำให้ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บ 2 ราย สั่งหน่วยงานในสังกัดตรวจสอบสาเหตุและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บทันที โดยเรียกนายจ้างสอบสาเหตุ 12 มกราคมนี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง เหตุเครนล้มทับคนงานก่อสร้างได้รับบาดเจ็บ 2 ราย อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ว่า ตนมีความห่วงใยลูกจ้างที่ได้รับอุบัติเหตุจากเหตุดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกจ้างทันที ในเบื้องต้นได้รับรายงานจากพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 (พระนครศรีอยุธยา) ว่า เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. เกิดเหตุขณะรถปั้นจั่นทำการยกถังบรรจุคอนกรีตสำเร็จรูป เพื่อทำการเคลื่อนย้ายไปเทที่บริเวณต้นเสา ซึ่งมีคนงานคอยทำการเทบริเวณด้านบน แต่ขาของรถปั้นจั่นได้เกิดการทรุดตัวทำให้รถเอียงและล้มลงแขนของปั้นจั่นไปโดนนายกล้า วานนท์ อายุ 49 ปี สัญชาติไทย ตำแหน่งหัวหน้างาน และนายซอ คาน ทุน อายุ 40 ปี สัญชาติเมียนมา ตำแหน่งลูกจ้างทั่วไป ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าว ทำให้นายกล้าฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนนายซอฯ ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยหลังเกิดเหตุเพื่อนร่วมงานได้แจ้งหน่วยงานกู้ภัยเข้ามาทำการช่วยเหลือนำผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองรายส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี 2 (รังสิต) แล้ว โดยพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.ปทุมธานี ได้มีหนังสือเชิญนายจ้างบริษัทผู้รับหมามาให้ข้อเท็จจริงในวันที่ 12 มกราคม 2566 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานีจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือจ่ายสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างผู้บาดเจ็บพึงได้รับต่อไป

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ผมได้กำชับพนักงานตรวจความปลอดภัย สสค.ปทุฒธานี และศุนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 (พระนครศรีอยุธยา) เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 หรือไม่ ซึ่งถ้าหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมได้ตรวจสอบแล้วพบว่าลูกจ้างผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองราย เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมาย มีสิทธิได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนดังนี้ ค่ารักษาพยาบาลตามกฎกระทรวง (สถานพยาบาลรัฐบาล 50,000 บาท ถึงสิ้นสุดการรักษา สถานพยาบาลเอกชน 50,000 – 3 ล้านบาท) ค่าทดแทนกรณีหยุดงาน 18(1) จ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ตามใบรับรองแพทย์ และค่าสูญเสียอวัยวะ 18(2) จ่ายร้อยละ 70 ของค่าจ้าง