ประวิตร เดินหน้างานอนุรักษ์และจัดการช้าง ให้ช้างกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพา

ประวิตร เดินหน้างานอนุรักษ์และจัดการช้าง ให้ช้างกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพา

วันที่ 4 มกราคม 2566 เวลา10.00 น.พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านโปรแกรมประชุมแบบออนไลน์ (Zoom Meeting) ร่วมกับคณะกรรมการฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และจัดการช้างนำไปสู่การจัดการปัญหาช้างป่าทั้งในพื้นที่อนุรักษ์และในพื้นที่ชุมชน การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า รวมถึงการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน

พลเอกประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และจัดการช้าง จึงได้มีการบูรณาการความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการอนุรักษ์ จัดการ และแก้ไขปัญหาช้างให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว สำหรับการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้เพื่อพิจารณา (1) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า (2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างป่า (3) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานการอนุรักษ์และจัดการช้าง ทั้งช้างป่า และช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน การแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเพื่อให้ชุมชนและช้างป่าได้รับการจัดการได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน
ปัจจุบันช้างในประเทศไทยมี 2 สถานะ คือ ช้างป่า และช้างเลี้ยงหรือช้างบ้าน สำหรับช้างป่านั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ส่วนช้างเลี้ยงจัดเป็นสัตว์พาหนะ ตามพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พุทธศักราช 2482 สถานการณ์ขณะนี้มีรายงานว่าช้างป่าได้อาศัยกระจายอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างน้อย ๖๙ แห่งทั่วประเทศ โดยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างน้อย 49 แห่ง ที่มีชุมชนและประชาชนได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่ออกไปหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร รวมถึงสร้างความเสียหายรุนแรงต่อชีวิต ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในส่วนของช้างเลี้ยงหรือช้างบ้านที่อยู่ในการดูแลครอบครองของผู้เลี้ยง ต้องมีการดูแลสวัสดิภาพและสุขภาพช้างเลี้ยงให้ถูกต้องเหมาะสม จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับการดำเนินงานให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น.