รมว.สุชาติ แถลงต่อ ILO มุ่งจ้างงาน วางรากฐานความมั่นคงแรงงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

รมว.สุชาติ แถลงต่อ ILO มุ่งจ้างงาน วางรากฐานความมั่นคงแรงงาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17 ณ Raffles City Convention Centre สาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เข้าร่วมด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า ผมขอแสดงความยินดีกับ ILO และรัฐบาลสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในครั้งนี้ และเห็นด้วยกับแนวคิดในรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ ILO
ที่ได้กล่าวถึงความยุติธรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการพื้นฟูโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้การเจรจาทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขอยกตัวอย่างการดำเนินการที่ดีในประเทศไทย ภายใต้การนำของ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กระทรวงแรงงานได้ดำเนินมาตรการหลายประการ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด – 19 และช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานในการฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด – 19 อาทิ การจัดงาน Job Expo ในปี 2563 ที่สามารถสร้างงานให้กับแรงงาน 2.6 ล้านคน และโครงการ Co – Payment ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการจ้างงานเยาวชน การรับมือกับคลัสเตอร์การติดเชื้อของแรงงาน รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรับมือกับโควิด – 19 ในสถานที่ทำงาน โดยเราสามารถกระจายวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น และเข้าถึงแรงงานทุกสัญชาติ โครงการ Factory Sand Box
ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบของโควิด โดยสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการสาธารณสุข ลูกจ้างในภาคการผลิตได้รับการคุ้มครองการจ้างงานและรายได้ ผ่านการตรวจ ฉีดวัคซีน และการแยกกักตัว โดยโครงการได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการ ป้องกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง และทำให้ประเทศสามารถรักษาการจ้างงานได้มากกว่า 4 แสนตำแหน่ง และสร้างมูลค่าในการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี และการเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้แก่ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง หรือไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากการกักตัว การสนับสนุนเงินเยียวยาให้แก่นายจ้าง 2 แสนแห่ง สำหรับลูกจ้าง 12 ล้านคน โดยให้ความสำคัญกับ SMEs เป็นพิเศษ ซึ่งมาตรการรักษาการจ้างงานสำหรับ SMEs สามารถที่จะสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 4 แสนแห่ง และรักษาการจ้างงานให้กับแรงงาน 5 ล้านคน รวมถึงสร้างงานใหม่อีกกว่า 6 หมื่นตำแหน่ง

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สถิติดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูในเกือบทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการผลิตฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยว IMF ได้ประกาศว่าประเทศไทยมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในโลก โดยมีอัตราการว่างงานในช่วงพีคของโควิด เพียงร้อยละ 1.5% และฟื้นตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อทำให้เกิดการฟื้นฟูที่มีคนเป็นศูนย์กลาง อย่างครอบคลุม ยั่งยืน และยืดหยุ่น นโยบายแนวใหม่ของเรา คือ “เพราะความมั่นคงคือรากฐานของชีวิต” โดยกฎหมายใหม่สำหรับแรงงานนอกระบบ และนวัตกรรมใหม่ด้านสถาบันแรงงาน จะสร้างโอกาส สร้างความมั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่แรงงานทุกคน ซึ่งขอให้ทาง ILO ช่วยให้การสนับสนุนผ่านแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่าของประเทศไทยฉบับใหม่ด้วย

“ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งไปสู่การฟื้นฟูหลังโควิด – 19 โดยเราคาดหวังที่จะสร้างอนาคตที่มีการจ้างานอย่างมีผลิตภาพ และงานที่มีคุณค่า โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” นายสุชาติ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการประชุมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 17 ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในสี่กรอบการประชุมระดับภูมิภาคขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้แก่ เอเชียและแปซิฟิก อเมริกา แอฟริกา และยุโรป ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยหมุนเวียนแต่ละภูมิภาคตามลำดับ การประชุม APRM จึงมีกำหนดจัดขึ้นทุก 4 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีการปรึกษาหารือและการนาเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้แทนสามฝ่ายจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและรัฐภูมิภาคอ่าวอาหรับ จำนวน 47 ประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมในระดับภูมิภาคของ ILO