Andaman Wellness Route สนับสนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย

อีกไม่นานเกินรอที่คนไทยและภูเก็ตจะได้ทราบผลการประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศใดที่จะได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2027/2028 ในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งประเทศไทยได้เสนอให้ภูเก็ตเป็นตัวแทนของประเทศเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านอุตสาหกรรมไมซ์ และยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกนี้ให้มาจัดในประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเป็นสถานที่จัดงาน พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ใน ต.ไม้ขาว จ.ภูเก็ต ที่มีขนาดกว่า 141 ไร่ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการยกระดับเมืองภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก จัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์นานาชาติ หรือ International Medical Hub และหากประเทศไทยได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพ นั่นหมายถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย และส่งผลดีต่อการสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในพื้นที่ และอีก 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน คือระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ที่กำลังตื่นตัวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเช่นกัน

ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สู่การพัฒนา Andaman Wellness Route

จากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ คนทั่วโลกให้ความสนใจกับการดูแลและห่วงใยสุขภาพของตนเองมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพ Healthcare & Wellness เติบโตและกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก โดยสถาบันด้านสุขภาพสากล หรือ Global Wellness Institute (GWI) ระบุว่าในปี 2563 ธุรกิจเพื่อสุขภาพมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 145 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะสูงขึ้นไปอยู่ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 231 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ สถาบันด้านสุขภาพสากลยังคาดการณ์ด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2563-2568 ธุรกิจสปาจะมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี อยู่ที่อัตรา 17.2% ส่วนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเติบโตเฉลี่ยที่อัตรา 20.9%

ตัวเลขดังกล่าวช่วยสนับสนุนแนวทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยกับการยกระดับเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยมีภูเก็ตเป็นเมืองนำร่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของไทย และต่อยอดไปยังกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันอีก 5 จังหวัด ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและสร้างรายได้จากธุรกิจนี้เช่นกัน หากย้อนกลับไปก่อนเกิดสถานการณ์โควิด จากข้อมูลของกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ประจำปี 2562 ได้ระบุจังหวัดที่มีรายได้มากที่สุดจากการท่องเที่ยวคือ 3 จังหวัดในกลุ่มอันดามันที่อยู่ในอันดับท็อป 10 ได้แก่ ภูเก็ต (อันดับ 2) มีรายได้ 313,186 ล้านบาท กระบี่ (อันดับ 4) มีรายได้ 78,653 ล้านบาท และ พังงา (อันดับ 8) มีรายได้ 35,410 ล้านบาท และเมื่อสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายไปแล้ว ภาคใต้ฝั่งอันดามันก็ยังคงได้รับความสนใจจากนักเดินทางโดยนิตยสาร DestinAsian ได้จัดอันดับให้ภูเก็ต และสมุย เป็นเกาะที่ดีที่สุดในอันดับที่ 3 และ ที่ 4 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้นิตยสารคอนเด นาสต์ ทราเวลเลอร์ กับรางวัล Condé Nast Traveler Readers’ Choice Awards 2022 ได้จัดอันดับให้เกาะที่ดีที่สุดในเอเชียนั้น คือเกาะสมุย อยู่ที่อันดับ 3 ภูเก็ตอันดับที่ 5 และหมู่เกาะพีพีอยู่อันดับที่ 10 และถึงแม้ว่าโควิด- 19 จะทำให้เศรษฐกิจต่อการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับวิกฤติและส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศและคนในกลุ่มภาคใต้ฝั่งอันดามันที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ท้องทะเลไทยภาคใต้ฝั่งอันดามัน ก็ยังคงมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลสำหรับนักเดินทางเช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง

เป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

จากศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของภาคใต้ฝั่งอันดามันที่มีความพร้อมและมีศักยภาพสูงในด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เช่น สปา แหล่งน้ำพุร้อนระดับโลก เป็นต้น จึงได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ Medical Hub เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ในการสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน (Andaman Wellness Corridor : AWC) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระหว่างและหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา และระนอง เช่น จ.ภูเก็ต เป็นศูนย์กลางการรักษาในกลุ่มโรคสลับซับซ้อน ทันตกรรม ผ่าตัดแปลงเพศ สปา ในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน, ศูนย์กลางการประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ และศูนย์กลางบริการเวลเนสระดับโลก รวมถึงการเตรียมจัดงาน Specialized Expo ในปี 2028 (พ.ศ. 2571) หรือในส่วนของ จ.กระบี่ มีการส่งเสริมพัฒนาสปาคลองท่อมสู่ระดับโลก เป็นต้น

โครงการ Andaman Wellness Corridor เป็นแม่เหล็กให้กับภาคเอกชนในการสนใจร่วมลงทุนกับภาครัฐเพื่อพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่พัก โรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์แสดงสินค้า และพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของกลุ่มมีการเชื่อมโยงแบบครบวงจร เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028, Phuket Thailand พร้อมการพัฒนาเส้นทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการเดินทางมายังกลุ่มภาคใต้ฝังอันดามัน เช่น เส้นทางท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ไทยแลนด์ริเวียร่า) ครอบคลุม พื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งอยู่ในระหว่างการขอจัดตั้งงบประมาณในปี 2566 เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน คนในชุมชนเองได้ร่วมกันพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในจังหวัดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของตัวจังหวัดเองด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มี เช่น จ.ระนอง มีบ่อน้ำพุร้อน-สวนรักษะวาริน เมืองต้นแบบของน้ำพุร้อน ที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์บริการว่าปลอดภัย มีประโยชน์ในการบำบัดรักษาสุขภาพ จ.กระบี่ หนึ่งในพื้นที่นำร่องของการพัฒนาคือพื้นที่น้ำพุร้อนเค็มโครงการพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนคลองท่อมเมืองสปา ที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทาง และมีความสําคัญในฐานะเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จนได้รับการกล่าวขานว่า “ คลองท่อมเมืองสปา” เป็นต้น

ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนคือแรงผลักดันภาพของมหาอำนาจด้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง และการได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028, Phuket Thailand คือแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อสร้างโอกาสให้กับคนไทยทั้งประเทศในการประกาศการเป็นจุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและสร้างการรับรู้ต่อนานาประเทศว่าเราคือตัวจริงเสียงจริงด้านท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในระดับโลก มาร่วมเป็นกำลังใจในการสนับสนุนทีเส็บ ผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประเทศไทยและภูเก็ตได้รับสิทธิ์นี้กัน