ปลัด มท. สั่งผู้ว่าฯ 76 จังหวัด สร้างทีมในพื้นที่ร่วมกับ เครือข่าย รุกรบ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เกิดความยั่งยืน

ปลัด มท. สั่งผู้ว่าฯ 76 จังหวัด สร้างทีมในพื้นที่ร่วมกับ เครือข่าย รุกรบ เพื่อขับเคลื่อนงานให้เกิดความยั่งยืน

วันนี้ (30 พ.ย. 65) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นางสาวปาณี นาคะนาท หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมสำรวจ กรมที่ดิน หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนกลาง เข้าร่วมการประชุม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS)

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามการขับเคลื่อนภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของชาวมหาดไทยในทุกพื้นที่ ซึ่งมี “ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นแม่ทัพคนสำคัญในการมุ่งมั่นบูรณาการการทำงานของชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาคผู้นำวิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งที่ผ่านมา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานของทุกจังหวัดเต็มกำลัง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งขอให้ทุกจังหวัดได้ทำให้เป็นไปอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง นั่นคือ “การสื่อสารกับสังคม” ผ่านการสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในทุกช่องทางสื่อสาร ทั้งออนแอร์ ออนไลน์ ออนไซด์ และออนกราวน์ เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบความปรารถนาดีและสิ่งที่พวกเราทุกคนกำลังขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่น ด้วย Passion แห่งการทำหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชน

“ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องมีใจรุกรบ มีจิตอาสา เสียสละ ด้วยความมุ่งมั่น เข้มแข็ง อดทน และดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อมีความพร้อมในการทำบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ในทุกเวลา ทุกโอกาสของชีวิตราชการ ที่ทุกวันก็จะเหลือเวลาของการรับราชการน้อยลง บางท่านอาจจะเหลือ 1 ปี บางท่านอาจจะเหลือ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แต่ไม่ว่าจะเกษียณเร็วหรือช้า พระท่านว่า ชีวิตคนเราไม่แน่นอน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ เศรษฐี ยาจก นายพล นายพัน ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องตาย และไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ อาจจะพรุ่งนี้ มะรืนนี้ “มันไม่แน่นอน” และตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สอนว่า “อย่าประมาท” ทุกคนจึงต้องเร่งทำความดี ซึ่งแน่นอนว่าเวลาราชการจะเหลือน้อยลงทุกวัน แต่ชีวิตเราที่จะได้ทำความดีให้กับประเทศชาติมันไม่แน่นอน จึงขอให้ได้ช่วยกันปลุกจิต ปลุกใจ ให้สำนึกอยู่เสมอว่า ในฐานะที่กินเงินเดือนภาษีอากรจากเงินของพี่น้องประชาชน และในฐานะที่เราทุกคนแต่งเครื่องแบบข้าราชการ บนหมวกและเข็มขัดที่เอวก็มีครุฑ ปกเสื้อมีราชสีห์ หน้าอกซ้ายมีแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้าอกขวา ป้ายชื่อและตำแหน่ง และเข็มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่ง “ครุฑ” เป็นพระราชพาหนะของพระนารายณ์ เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน แถบแพรฯ เข็มฯ ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนภาคภูมิใจที่ได้รับพระราชทานมา สีกากีของเครื่องแบบก็เป็นสีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานอรรถาธิบายไว้ว่า คือ “สีของแผ่นดิน” อันมีนัยยะว่า “คนเป็นข้าราชการต้องพึงสำนึกอยู่เสมอว่า เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพวกเราชาวมหาดไทย ทั้งข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พวกเราก็ต้องจำในสิ่งที่เราได้รับการสั่งสอน ได้รับการมอบหมายว่า เรามีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน ต้องช่วยกัน “เร่งทำความดี”ด้วยการ “สร้างทีมในพื้นที่” จาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้ง “ทีมจังหวัด “ทีมอำเภอ” “ทีมตำบล” “ทีมหมู่บ้าน” เพราะการทำงานให้สำเร็จต้องมี “ทีม” เกิดขึ้นให้ได้ และต้องไม่ดูถูกดูแคลนภาคีเครือข่าย และไม่ปฏิบัติต่อภาคีเครือข่ายด้วยการไปขออย่างเดียว หรือไปแค่ปีละครั้ง “ต้องสม่ำเสมอ” ดังพุทธพจน์ที่ว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี. “ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง” โดยมีการพูดคุย พบปะกัน อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้เกิด “สามัคคีคือพลัง” งานใหญ่น้อยจะสำเร็จได้โดยง่ายและโดยเร็ว คนในชุมชน ในสังคมต้องพร้อมเพรียงกัน ความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้มอบแนวทางการขับเคลื่อนงาน ได้แก่ การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการมุ่งมั่นทำสงครามกับยาเสพติดอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง พร้อมทั้งเร่งจัดเตรียมพื้นที่ภายในชุมชนเพื่อเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟู อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง และประสานเตรียมทีมภาคีเครือข่ายให้ครบถ้วนแต่ละด้าน เช่น ด้านสาธารณสุข โดยบุคลากรสาธารณสุข ด้านระเบียบวินัย โดยผู้มีความสามารถด้านกีฬา สันทนาการ ด้านอาชีพที่สร้างการพึ่งพาตนเอง เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ เลี้ยงจิ้งหรีด ทำไข่เค็ม ทำอาหาร เพื่อให้มีความมั่นคงด้านอาหาร และเชิญผู้นำทางศาสนาประจำศูนย์ อาทิ พระสงฆ์ โต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และจัดตั้งทีมจิตวิทยามวลชนในพื้นที่ เพื่อให้กำลังใจครอบครัว ให้กำลังใจคนที่ติดยาเสพติด โดยเมื่อคนที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูแล้ว ทีมนี้ต้องหมั่นไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจ และกลไกครูในโรงเรียนทุกสังกัดเป็นทีมหัวหมู่ทะลวงฟัน สร้างเกราะป้องกันยาเสพติดให้กับเด็ก เยาวชน ในระบบการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ ด้วยการน้อมนำโครงการพระดำริ To Be No.1 ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาขับเคลื่อน ทำให้ครบทุกมิติ เพื่อคืนลูกที่ดีให้กับพ่อแม่ คืนน้องที่ดีให้กับพี่ คืนสามีที่ดีให้กับภรรยา เท่ากับคืนคนดีให้กับแผ่นดิน ทำให้ประเทศชาติของเรามีความมั่นคง ทำให้คนในสังคมมีความสุข อันเป็นการทำบุญให้กับสังคมไทย ให้กับประเทศชาติ สนองพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อให้ประเทศชาติมีความมั่นคง คนในสังคมมีความสุข “สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นหัวโต๊ะประชุมโต๊ะข่าวยาเสพติดทุกสัปดาห์ โดยมี “ป้องกันจังหวัด” เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยเชิญภาคีเครือข่ายร่วมโต๊ะข่าวยาเสพติดตามความเหมาะสมของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ในระดับอำเภอก็เช่นกัน ท่านนายอำเภอ ต้องทำเฉกเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยโต๊ะข่าวยาเสพติดให้ผนวกเรื่องอาชญากรรมและเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นภัยกับสังคมในระดับพื้นที่เข้าไปด้วย โดยให้กรมการปกครอง รวบรวมประมวลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบอย่างต่อเนื่อง”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดได้น้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “ด้วยการผนึกกำลังทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายให้ทุกครัวเรือน ทุกโรงเรียน ช่วยกันสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “ปลูกพืชปลูกผักปลูกรักกับชาวมหาดไทย” ดังโครงการพระราชดำริ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ซึ่งมีตัวอย่าง คือ อบต.โก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ที่มี “ผู้นำท้องถิ่น” “ผู้นำท้องที่” พระสงฆ์ ข้าราชการ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงโปรดให้มูลนิธิชัยพัฒนา และศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ลงไปขับเคลื่อนทำให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนมีผักกว่า 30 ชนิดในทุกบ้าน ทั้ง “บนอากาศ” ฟัก แฟง แตง บวบ “บนดิน” กะเพรา โหระพา พริก และยังมีระบบธนาคารน้ำใต้ดิน อันเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยการเริ่มตั้งแต่ “ผู้นำต้องทำก่อน” แล้วขยับขยายไปสู่พี่น้องประชาชนให้ทำอย่างต่อเนื่อง อันจะยังผลให้ประเทศเป็น แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ให้คนมีความมั่นคงด้านอาหาร พึ่งพาตนเอง ลดรายจ่ายปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท และทำให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ไม่ได้รับสารพิษสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย

“เนื่องในโอกาสมหามงคลที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ 36 พรรษา ในวันที่ 8 มกราคม 2566 จึงขอให้ทุกจังหวัดได้ปฏิบัติบูชาเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน โดยในทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันประสูติ พร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เพิ่มเติมอีก 1 วันจากมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้พวกเราได้ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 8 ธ.ค. 65 เป็นต้นไป อันเป็นการถวายพระกำลังใจที่พระองค์ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนทำให้ผ้าไทยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน และเรายังได้ช่วยให้คนไทยที่เป็นล้าน ๆ คนขายผ้าไทยได้มากขึ้น เงินทองก็จะหมุนเวียนในประเทศ รวมทั้งประสานแจ้ง อปท. และหน่วยงานบริการพี่น้องประชาชนในจังหวัดรณรงค์ให้สวมใส่ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในทุกวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ด้วย และให้ทุกจังหวัดคิดริเริ่มจัดทำโครงการ/กิจกรรม เฉลิมพระเกียรติ ในเดือนมกราคม 66 และตลอดทั้งปี 66 เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาถวายแด่พระองค์ท่านโดยพร้อมเพรียงกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

#WorldSoilDay
#วันดินโลก
#soilswherefoodbegins
#Soils4Nutrition
#FAO
#MOI
#กระทรวงมหาดไทย
#บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SDGsforAll
#ChangeforGood